ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดมิเนียมหลังใหญ่ที่มีพื้นที่ใช้สอยมาก แต่เราทุกคนสามารถเลือกที่จะจัดการให้พื้นที่ใช้สอยเล็ก ๆ ภายในบ้าน “ดูเหมือน” กว้างขึ้นและใช้งาน “คุ้มค่า” ทุกตารางเมตรได้
เนื้อหานี้ “SB Design Square” ชวนคุณผู้อ่านมาเติมเต็มไอเดียในการจัดการกับพื้นที่แคบหรือแม้แต่พื้นที่ที่เจ้าของบ้านมองข้ามไป เพียงแค่ใส่มุมมองในการจัดสรรพื้นที่และเพิ่มฟังก์ชันใหม่ ๆ ให้พื้นที่นั้น ๆ ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งอย่างในจุดเดียว เพียงเท่านี้ก็สามารถเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในบ้านได้โดยไม่ต้องต่อเติมเพิ่มครับ
1. โฟกัสการใช้งานพื้นที่แนวตั้ง
ในห้องทุกห้องจะมีพื้นที่แนวราบคือส่วนพื้นซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยหลักของห้อง และพื้นที่แนวตั้งคือผนัง สำหรับห้องที่มีพื้นที่ใช้สอยอย่างจำกัด ควรจัดสรรพื้นที่แนวราบสำหรับใช้วางเฟอร์นิเจอร์หรือของใช้ชิ้นหลัก ๆ เท่านั้น พยายามลดการใช้ตู้ ชั้นวางของแบบตั้งพื้น แล้วโฟกัสไปที่การใช้พื้นที่แนวตั้งให้มากขึ้น เช่น การติดตั้งชั้นเก็บของแบบติดผนัง ราวแขวนบนผนัง หรือหากเน้นการจัดเก็บที่เป็นระเบียบ ทำตู้ลอยติดผนังที่มีหน้าบานปิด จะช่วยเพิ่มพื้นที่จัดเก็บของได้อีกมากเลยครับ
2. มุมของบ้านใช้งานให้คุ้ม
ปกติหากนึกถึง “มุม” เจ้าของห้องจะนึกถึงจุดสิ้นสุดของผนังห้องทั้งสองด้านมาบรรจบกัน ชวนให้รู้สึกอึดอัดใช่ไหมครับ มุมห้องภายในบ้านจึงมักจะถูกมองข้ามการใช้งานและปล่อยทิ้งไว้โล่ง ๆ แต่หากพิจารณาให้ดี ๆ แล้ว เราสามารถเนรมิตพื้นที่มุมฉากให้เป็นจุดที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น เป็นโซนนั่งทำงานที่ให้ความรู้สึกสงบ เหมาะกับการนั่งทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง โดยการออกแบบพื้นที่ให้เกิดมุมตัด 45 องศา จะช่วยให้เกิดพื้นที่ใช้งานที่เป็นประโยชน์และใช้งานง่าย ไอเดียนี้ยังประยุกต์ใช้ร่วมกับงานออกแบบตู้ครัว ตู้เก็บเสื้อผ้าภายในห้องแต่งตัว
3. 15 เซนติเมตรก็ทำชั้นวางทีวีได้
แม้ปัจจุบันการดูซีรีส์เรื่องโปรดจะสามารถดูผ่านโทรศัพท์มือถือได้ แต่อย่างไรก็ไม่ฟินเท่ากับการนั่งชมผ่านทีวีจอใหญ่ใช่ไหมครับ สำหรับห้องนอนที่มีขนาดความกว้างเพียง 3 เมตร อาจตัดใจไม่ติดตั้งทีวีเพราะกังวลว่าห้องจะดูอึดอัด หรือบางห้องเลือกที่จะติดทีวีไว้กับผนังห้อง ปล่อยให้สายไฟทีวีห้อยระโยงระยางยิ่งทำให้ดูรกสายตา
ไอเดียชั้นวางทีวีติดผนังนี้ ใช้พื้นที่เพียง 15 เซนติเมตรเท่านั้นครับ โดยชั้นวางจะทำหน้าที่เป็นส่วนจัดเก็บความเป็นระเบียบของสายไฟ ทั้งยังสามารถวางของตกแต่งชิ้นเล็ก ๆ หรือจะใช้เป็นพื้นที่ชาร์จแบตเตอรี่มือถือได้เหมาะเจาะเช่นกัน ส่วนทีวีจะทำการติดตั้งยึดกับผนังเช่นเดิม หรือหากต้องการจัดวางบนชั้น ให้ทำการยึดนอตฐานวางทีวีเข้ากับชั้นวางเพื่อป้องกันการตกหล่น ไอเดียนี้นอกจากจะช่วยให้การจัดเก็บสายไฟดูเป็นระเบียบแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ทางเดินภายในห้องได้ดีอีกด้วยครับ
4. เฟอร์นิเจอร์ต้อง 2 Function ขึ้นไป
ปกติการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ 1 ชิ้นมักจะใช้ประโยชน์ตามหน้าที่หลัก ๆ ได้อย่างเดียว หากต้องการแต่งบ้านให้ได้ฟังก์ชันครบตามต้องการจำเป็นต้องมีเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นแน่นเต็มบ้านไปหมด ในบ้านขนาดเล็กที่ต้องบริหารพื้นที่ให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ จึงควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ได้หลาย ๆ อย่าง เช่น ชั้นวางของข้างเตียงที่สามารถเลื่อนมาเป็นโต๊ะนั่งทำงานได้ นอกจากประหยัดพื้นที่แล้วยังเพิ่มความสนุกในการใช้งานด้วยครับ
5. พื้นที่ใต้เตียงซ่อนอะไรได้อีกเยอะ
เตียงนอนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่จำเป็นต้องมีในห้องนอน ขนาดเตียงที่เล็กสุดมีขนาด 3.5 ฟุต ซึ่งต้องใช้พื้นที่ประมาณ 1.00 x 1.90 เมตรแล้วครับ หากวางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นเพิ่มอีกย่อมทำให้ห้องเล็กดูอึดอัดทันตาเห็น ลองปรับเปลี่ยนพื้นที่ ที่ต้องใช้วางเตียงให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการใช้พื้นที่ใต้เตียงสำหรับจัดเก็บของ จะช่วยให้พื้นที่ใช้สอยห้องที่ต้องวางเตียงอยู่แล้วเกิดประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น เหมาะสำหรับจัดเก็บอุปกรณ์เครื่องนอนสำรอง ทั้งผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน หรือจะใช้เก็บของใช้ส่วนตัวก็สามารถเก็บได้อย่างเป็นระเบียบ
6. เลือกเตียงนอนสองชั้นผลักเก็บได้
ในบ้านที่มีเด็ก 2 คนและไม่ได้แยกห้องนอน จำเป็นต้องใช้พื้นที่วางเตียง 2 หลังในห้องเดียว จะทำให้เหลือพื้นที่วางของและสัญจรน้อยจนอึดอัด ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการเปลี่ยนมาใช้เตียงคู่แบบลิ้นชักเก็บที่นอนเสริมซ่อนไว้ด้านล่าง เมื่อถึงเวลาเข้านอนเพียงดึงที่นอนข้างล่างออกมา หลังจากตื่นนอนไม่ได้ใช้งานแล้วก็ผลักเตียงกลับเข้าไปเก็บใต้เตียงหลัก เท่านี้ก็มีพื้นที่สำหรับนอนพักผ่อน 2 คนสบาย ๆ โดยไม่ต้องรบกวนส่วนใช้งานอื่น ๆ ในห้อง
7. โต๊ะเขียนหนังสือใช้พื้นที่เพียง 5 เซนติเมตร
อีกหนึ่งไอเดียที่ซ่อนอยู่ในภาพเดียวกันนี้ เป็นไอเดียโต๊ะเขียนหนังสือติดผนัง ที่ใช้พื้นที่ติดตั้งเพียง 5 เซนติเมตร โดยหลักการทำงานของโต๊ะนี้จะสามารถพับเก็บแนบชิดผนังได้เมื่อไม่ใช้งาน และเมื่อไหร่ที่ต้องการใช้งานเพียงดึงทอปโต๊ะขึ้นมา เพียงเท่านี้ก็ได้โต๊ะเขียนหนังสือ โต๊ะทำการบ้านสำหรับเด็ก ๆ แล้วครับ
8. กระชับพื้นที่ในห้องทานอาหาร
โดยปกติการจัดวางโต๊ะทานอาหารแบบทั่วไป จะนิยมจัดวางให้อยู่กลางห้อง เพื่อให้ทุกที่นั่งสามารถเดินเข้าออกได้อย่างสะดวก แต่ความเป็นจริงแล้วบ้านที่อาศัยอย่างเป็นส่วนตัว อาจไม่ได้ต้องการความสะดวกมากขนาดนั้นก็ได้ครับ ลองจัดวางโต๊ะทานอาหารในลักษณะชิดติดผนัง จะช่วยให้เกิดพื้นที่ว่างกลางห้องมากยิ่งขึ้น หรืออาจสั่งทำ Built-in ติดผนังที่สามารถเป็นได้ทั้งที่เก็บของและเป็นเก้าอี้นั่งไปในตัว จากนั้นวางโต๊ะทานอาหารไว้ตรงกลาง ส่วนอีกด้านใช้เก้าอี้แบบลอยตัวที่สามารถเคลื่อนย้ายไปใช้ประโยชน์จุดอื่น ๆ ได้ เพียงเท่านี้ก็สามารถรองรับการนั่งทานพร้อมกันได้ถึง 4-6 ท่านแล้วครับ
9. ลิ้นชักในครัวคือกล่องวิเศษ
ในห้องครัวมักมีของใช้และอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากกว่าห้องอื่น ๆ คุณพ่อบ้านแม่บ้านที่ชอบความเป็นระเบียบจึงต้องมีชั้นเก็บจาน ที่เก็บมีด ตู้เก็บของใช้วางในครัว มารู้ตัวอีกทีครัวก็ดูแคบแถมยังใช้งานยากกว่าเดิม การจัดระเบียบครัวทำได้ง่าย ๆ เพียงเปลี่ยนวิธีจัดเก็บอุปกรณ์ไว้ในลิ้นชักเคาน์เตอร์ครัว เพียงติดตั้งถาดแยกที่มีช่องเล็ก ๆ ไว้เก็บสาระพัดของใช้ อาทิ ช้อน ส้อม มีด ตะเกียบ ตะหลิว ทัพพี ให้หยิบใช้และจัดเก็บสะดวกให้เป็นระเบียบมากขึ้นในจุดเดียว โดยไม่ต้องใช้พื้นที่ตู้และชั้นมากเหมือนเดิม
สำหรับใครที่เป็นเจ้าของบ้านขนาดกระทัดรัด และกำลังมองหาเฟอร์นิเจอร์ที่รองรับการใช้งานแบบมีประสิทธิภาพอย่างที่กล่าวมา สามารถเข้าไปชมไอเดียการใช้พื้นที่และการตกแต่งได้ที่ SB Design Square ทุกสาขา ที่นี่มีอินทีเรียดีไซเนอร์คอยให้แนะนำ และมีเฟอร์นิเจอร์ทั้งแบบลอยตัวและงาน Built-in มาให้เลือกมากมาย เพื่อให้บ้านออกมาตรงใจและใช้งานได้ตรงโจทย์มากที่สุดครับ