2019 WEEK 9 "ทวีศักดิ์ วัฒนาวารีกุล"

2019week9
26 กุมภาพันธ์ 2019
2019 WEEK 9 "ทวีศักดิ์ วัฒนาวารีกุล"

ABOUT HIM

 

“การ ผมออกแบบสถาปัตยกรรมไม่ว่าจะเป็นภายในหรือตัวอาคาร ว่ามันคือเรื่องของไลฟ์สไตล์ เรื่องของการใช้ชีวิต ถ้าเราออกแบบอะไรที่มันไม่เหมาะกับวิถีของผู้อยู่อาศัย...นั่นคือพังเลย เป็นดีไซน์ที่ใช้ไม่ได้!!” ไปพูดคุยและทำความรู้จักกันให้มากขึ้นกับ  คุณทวีศักดิ์  วัฒนาวารีกุล กรรมการผู้จัดการ YAN Architects หรือ ย่านสถาปนิก

 

“มีแต่คนถามว่าทำไมชื่อ ย่านสถาปนิก...ผมก็รู้สึกว่าเราเป็นสถาปนิกไทย ก็อยากได้ชื่อไทยๆ และคำว่า ย่าน ก็ฟังดูไทยมาก เป็นคำคุ้นหู เหมือนเป็นแหล่งรวมสถาปนิกและดีไซน์เนอร์ ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อบริษัทครับ  จริงๆ ผมก็ทำงานหลากหลายรูปแบบ เคยออกแบบโชว์รูมรถยนตร์ ออฟฟิศ ร้านค้า โรงแรม รีสอร์ท แต่งานออกแบบที่เป็นสัดส่วนหลักของย่านสถาปนิก คือ งานประเภทที่พักอาศัยครับ เป็นสไตล์โมเดิร์นซะส่วนใหญ่ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าโมเดิร์นจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างแข็ง  แต่ของเราจะเป็นโมเดิร์นที่ใส่พวกวัสดุธรรมชาติ เช่นไม้ หิน เข้าไปค่อนข้างเยอะ เพื่อให้ดูนุ่มนวลขึ้นครับ

 

สำหรับใครที่ชื่นชอบการใช้วัสดุธรรมชาติ  ก็ต้องเข้าใจว่ามันจะทรุดโทรมไปบ้างตามลักษณะของวัสดุ เช่น ไม้ก็อาจซีดลงไป หรือหนังโซฟามันก็คงจะไม่ใหม่เอี่ยมเหมือนตอนเอาออกมาจากโชว์รูมแน่ๆ  เพราะมันมีระยะเวลาใช้งานของมัน “แต่นั่นคือเสน่ห์” ถ้าคุณยอมรับได้ก็ใช้ไปเลย แต่ถ้ารับไม่ได้ก็ควรจะเปลี่ยนไปใช้พวกวัสดุทดแทนอย่างอื่น เพราะวัสดุธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องการการดูแลรักษามากพอสมควรครับ

 

อีกอย่างที่เราชอบใส่เข้าไปในงานออกแบบคือ ลูกเล่นในเรื่อง Pattern และสีสันครับ ด้วยความที่บริษัทเราออกแบบทั้งตัวอาคารและงานตกแต่งภายใน แรงบันดาลใจเรื่องแพทเทิร์นจึงเกิดขึ้นได้จากทุกอย่างที่เรามีไอเดีย เช่น จากรูปด้านของอาคาร หรือจากบริบทภายนอก แต่สำหรับลูกค้าที่ชอบงานเรียบๆ  เราก็จะเล่นกับ Space แทน คือออกแบบพื้นที่ให้ว้าวเป็นพิเศษ  

 

สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ เวลาออกแบบบ้าน คือ Circulation หรือ ระบบสัญจร ซึ่งแทบจะเป็นแกนของงานออกแบบสถาปัตยกรรมเลยว่าได้ เพราะมันเป็นเส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างจุดหนึ่งหรือพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งหรือหลายพื้นที่ ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าถึงพื้นที่นั้นๆ เพื่อการใช้สอยในด้านต่างๆ  มันเป็นเหมือนการวางความสะดวกสบายให้ผู้อยู่อาศัย เช่น เราต้องคิดว่าอยากให้คนไปเจออะไรก่อน อยากให้เขาอยู่ใน Space แบบไหน อยากให้ผ่านอะไร อยากให้มีความรู้สึกยังไง ถ้ากลับบ้านมาควรเจออะไรก่อน เจอสวนก่อนไหมหรือให้ไปว้าว ที่สวนหลังบ้านไปเลย ซึ่งก่อนที่เราจะจัด Zoning เราก็ต้องศึกษาถึงธรรมชาติของผู้อยู่อาศัยก่อนว่าเขาเป็นยังไง ซึ่งจริงๆ ตัวลูกค้านั่นแหละที่จะเป็นคนกำหนดว่าเขาชอบไลฟ์สไตล์แบบไหน

 

นอกจากนี้ ฟังก์ชั่นหนึ่งที่ผมมองว่า “บ้าน” ควรมี คือ Space ที่เป็นส่วนเชื่อมต่อครับ เช่น ระเบียง ชาน ทางเดินรอบนอกแบบบ้านญี่ปุ่น หรือความเป็นโถงก่อนเข้าไปถึงตัวห้องรับแขก  ความเป็นพื้นที่พักให้แขกถอดรองเท้าก่อนเข้าไปยังโถงทางเดินในตัวบ้าน  หรือความเป็นชานพักแบบบ้านไทยๆ เป็นอะไรที่ผมชอบใส่เข้าไปในงานออกแบบ เพราะมันช่วยเปลี่ยนความรู้สึกของคนก่อนที่จะเข้ามาในตัวบ้าน และเป็นลักษณะพื้นที่ที่เหมาะกับเมืองไทยด้วย เพราะบ้านเราอากาศเปลี่ยนหลายอย่าง การที่แต่ละฤดูเราได้สัมผัสละอองฝนบ้าง สัมผัสลมที่เปลี่ยนไปบ้าง หรือกระทั่งไอร้อนนิดๆ บ้าง ผมว่ามันทำให้ชีวิตดูมีการเปลี่ยนแปลงและไม่น่าเบื่อครับ

 

เวลาออกแบบบ้าน เรื่องที่ผมมองว่าสถาปนิกต้องคิดเผื่อ คือ การดูแลรักษา บ้านจะได้ไม่เก่าหรือโทรมเร็ว อย่างเรื่องผิวสัมผัส เราอาจเลือกแบบที่ผิวไม่หยาบเยอะจะได้ไม่เก็บฝุ่น เรื่องสี สำหรับบางท่านที่ใช้งานหนักจริงๆ ก็ไม่ควรใช้สีสว่างเยอะ  หากเป็นตัวอาคารน่าจะเป็นเรื่องของรายละเอียดในการออกแบบ เช่น อาคารที่เป็นคราบหรือรอยน้ำตามผนัง เราจะออกแบบในรายละเอียดยังไงเพื่อไม่ให้เกิดคราบตรงนั้น

 

“เชื่อว่าสถาปนิกหลายท่านชอบที่จะออกแบบอาคารที่มันดูเป็นนวัตกรรมทางด้านดีไซน์  หมายถึงดีไซน์ใหม่ๆ หน้าตาใหม่ๆ แต่ว่าถ้าลืมเรื่องอายุการใช้งาน เช่นถ้าโดนฝนเยอะๆ หน้าตามันจะเปลี่ยนไปยังไง แดดเยอะๆ หน้าตามันจะเปลี่ยนไปยังไง อันนี้ก็มีผลกับลูกค้าในระยะยาว อย่างภูมิอากาศบ้านเราทั้งร้อนและชื้น ก็จะส่งผลต่อวัสดุค่อนข้างเยอะ  ฉะนั้นถ้าเราจะพลิกแพลงหรือมีลูกเล่นอะไรใหม่ๆ ควรคำนึงถึงตรงนี้ค่อนข้างเยอะ  ว่าจะทำยังไงให้อายุการใช้งานของวัสดุนานขึ้นและเหมาะสมกับดีไซน์ที่เราเลือกให้กับลูกค้าครับ”

 

  • สิ่งที่หลายคนมักหลงลืมเวลาแต่งบ้าน คือ การทำความรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นประเด็นแรกที่อยากแนะนำ คือ คุณควรทำความรู้สึกตัวเองก่อนว่า คุณชอบอะไรแล้วค่อยยึดสิ่งนั้นเป็นแกนหลัก แล้วทีนี้อยากจะผสมอย่างอื่นเข้ามานิดๆ หน่อยๆ ก็ได้ มันจะทำให้งานดีไซน์ไม่เละ ดูมีคาแรคเตอร์ และมีคอนเซ็ปต์
  • การเลือกเฟอร์นิเจอร์ ถ้าคุณเป็นคนที่มี Sense ทางด้านดีไซน์ดี คุณจะเลือกหยิบของที่ดูไม่เข้ากันมาใช้ก็ได้นะ เพราะเมื่อนำมาวางด้วยกัน มันอาจจะดูสวยมีคาแรคเตอร์ก็ได้ แต่สำหรับคนทั่วๆ ไปผมแนะนำให้คุณสนุกกับการเลือกดีไซน์ที่มันเข้ากันมาก่อนดีกว่าในช่วงเริ่มต้น แล้วมันจะทำให้คุณค่อยๆ เรียนรู้กับการมิกซ์แอนด์แมตช์ต่างๆ แล้วคุณก็จะสามารถเลือกสีที่ดูไม่เข้ากันแต่มันก็จะลงตัวได้ในภายหลัง
  • เทคนิคการถนอมวัสดุ ถ้าเป็นวัสดุหนัง แนะนำให้เช็ดออย์เพื่อยืดอายุการใช้งานนานขึ้น ถ้าเป็นโลหะ เช่น  ทองเหลือง ที่อายุนานๆ สีจะค่อยๆ คล้ำ และมีลักษณะเหมือนฝุ่นจับ วิธีการดูแลรักษาคือการเช็ดธรรมดาหรือจะใช้ผ้าที่ใช้ทำความสะอาดโลหะโดยเฉพาะมาช่วยก็ได้

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

มุมนี้ ผมชอบเรื่องการคุมโทนสีที่แมตช์กันได้ลงตัวครับ ทั้งสีผนังที่เป็นโทนน้ำเงินเขียวพอจับคู่กับสีทอง ก็รู้สึกว่ามันไปด้วยกันได้ มันให้ความรู้สึกเท่ๆ ที่ดูหรูหราขึ้นมานิดนึง โดยรวมคือ มันสื่อความหมายอะไรบางอย่างในตัวออกมา มันให้ความรู้สึกที่ดูเท่สุขุมครับ  

 

 

ภาพรวมของมุมนี้ สีที่เห็นก่อนเลย คือ สีเทา รองลงมาคือ สีดำ ซึ่งเป็นสีในโทนเดียวกัน แต่ถูกนำมาผสมแล้วให้ความรู้สึกที่ไม่แข็งจนเกินไป เพราะใช้ความเป็นเอิร์ทโทนเข้ามาช่วย ในแง่ของวัสดุที่เป็นไม้และพรมที่เป็นสีน้ำตาลครีม ก็ทำให้รู้สึกถึงความนุ่มนวลขึ้น และเฟอร์นิเจอร์ที่มาแมตช์ก็เลือกใช้แบบที่มีดีไซน์โค้งมนเข้ามาทำให้องค์ประกอบโดยรวมดูกลมกลืนไปด้วยกันครับ

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex