ABOUT HER
“สมดุล เป็นคำไทย ที่เรานำความหมายมาใช้เป็นปรัชญาในการทำงานค่ะ ทั้งเรื่องความสวยงาม งบประมาณ กฎหมาย และการใช้งาน เพื่อทำให้เกิดงานออกแบบที่มีความลงตัว ขณะเดียวกันก็มีดีไซน์ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละโครงการ และยังหมายรวมถึงความสมดุลของทีมงานที่ต้องมี Work-Life Balance ด้วยค่ะ” สัปดาห์นี้พูดคุยกับ คุณเกด - เจษฎ์สุภา พิพัฒนสุภรณ์ Interior Design Director จากบริษัท Somdoon Architects หรือ สถาปนิก สมดุล
บริษัทสถาปนิก สมดุล มีผลงานที่โดดเด่นในด้าน Hi-rise Residential, Hotel และโครงการ Mixed-use การันตีฝีมือและคุณภาพด้วยรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ Architecture MasterPrize Awards 2018 : Winner under green architecture category โครงการ ASA Lanna Center, The Asia Pacific Property Awards 2014 : Best High – Rise Architecture Thailand โครงการ IDEO Morph38 และ Best Architecture Multiple Residence Asia Pacific โครงการ Bann San Kraam รวมทั้งยังเป็น Shortlisted ของ WAN Awards 2016โครงการ Hasu Haus อีกด้วย
ในการทำงานออกแบบ เรามีการใช้เทคนิค Computational Design เป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยให้เราสามารถถ่ายทอดความคิดออกมาได้ง่ายและเร็วขึ้น เช่น ถ้าสมัยก่อน เวลาจะทำฝ้าเพดานโค้งๆ มีสามมิติ เราก็ใช้วิธีปั้นโมเดล แต่อันนี้ก็คือ เราใส่ข้อมูลเข้าไป แล้วโปรแกรมก็จะ Generate ออกมาเป็นสามมิติให้เรา แล้วเราก็ Export ใน Drawing ได้เลย มันช่วยทำให้เกิดงานดีไซน์ที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดของการออกแบบด้วยเครื่องมือแบบเดิม ช่วยลดขั้นตอนการทำงานและลดการใช้พลังงานคนลงไปได้มากทีเดียวค่ะ เช่น Façade ของโครงการ The LINE Ratchathewi ที่ใช้ Aluminum Cladding ตัดด้วยเครื่อง CNC ตามโปรไฟล์ที่ ถูก Generate ออกมาด้วยคอมพิวเตอร์ หรืองานฝ้าเพดานที่ล็อบบี้โครงการ Major Jatujak ที่ใช้ Plastwood ประกอบขึ้นมาเป็นรูปทรงสามมิติง่ายๆ มาต่อกันเป็นพื้นผิวคลื่นที่ต่อเนื่องได้ จากการปรับมุมของรูปทรงพื้นฐานแต่ละอันให้แตกต่างกันด้วยคอมพิวเตอร์
สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานของ “สถาปนิกสมดุล” น่าจะเป็นเรื่อง Know How ของการออกแบบและการก่อสร้าง ที่เราคิดไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งเรื่องการใช้วัสดุใหม่ๆ ที่เข้ามาทดแทนและช่วยให้การก่อสร้างง่ายขึ้น เช่น ในหลายโครงการถูกจำกัดเรื่องความสูงของฝ้าเพดาน แทนที่เราจะใช้กระจกเงา เราก็ทดแทนด้วย Stainless Steel Composite Panel เพื่อความปลอดภัย เป็นต้น
สำหรับงานออกแบบตกแต่งภายใน เรามีมุมมองเรื่อง Inside out - Outside in ด้วยค่ะ คือ ต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง Interior กับ Exterior เช่น เวลาเรามองออกไป เราอยากได้ช่องเปิด อยากเห็นสวน หรืออยากได้มุมมองอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนสถาปนิกเวลาเขามองเข้ามา จาก Façade เขาเห็นยังไง มันก็ต้องให้เกิดสมดุลกันทั้งข้างในและข้างนอกในแง่ของมุมมองและทิศทาง ซึ่งต้องเป็นการทำงานประสานกับระหว่าง Interior, Architect, Lanscape จากนั้นพอกลับมาดูเรื่องเฟอร์นิเจอร์เราก็จะได้เรื่อง Direction เช่น โซฟา อาร์มแชร์ จะจัดวางยังไงให้เหมาะสม ควรจะหันไปทางทิศไหน หลบมุมที่แดดยิงเข้ามาหรือที่มันสะท้อนเข้ามา...เกดมองเรื่อง Interior Space ไม่ใช่แค่กำแพงทึบๆ แต่มองว่าทำยังไงให้เกิด “ความเชื่อมต่อ” ค่ะ เพราะมันจะช่วยสร้างความรู้สึกโปร่งสบาย คือตอนนี้ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ความจำกัดก็มีมากขึ้น เวลาเรากลับบ้านเราก็คงไม่อยากไปเจออะไรที่ทึบๆ ดูแล้วอึดอัด เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ผู้อยู่อาศัยเขารู้สึกสบายได้แม้จะในพื้นที่ที่เล็กลงค่ะ
- บ้านที่อยู่ร่วมกันของคนหลายช่วงวัย ควรคำนึงถึง Scale การใช้งาน ให้อยู่ในระยะที่เป็นกลาง ไม่สูงหรือเตี้ยเกินไป เพื่อให้เด็ก - ผู้ใหญ่ – ผู้สูงอายุ ใช้ร่วมกันได้ หรือกระทั่งเรื่องเฟอร์นิเจอร์ก็ต้องกลางๆ หน่อย ไม่ใช่เหมาะสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง
- ห้องเล็กทำยังไงให้ดูใหญ่ อาจใช้กระจกเงาเข้ามาช่วยเช่น ใช้ผนังกระจกใสมาเป็นตัวกั้นห้องแทนที่จะเป็นผนังทึบและการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีสัดส่วนเล็กหน่อย หรือแบบที่ดีไซน์จากวัสดุโปร่งอย่างพวกแก้วใส อะคริลิค ที่มีความมันวาวมาใช้แทนที่จะเป็นวัสดุทึบๆ ตันๆ รวมถึงการใช้สีสัน เช่น ถ้าห้องเล็กมาก ก็น่าจะใช้ Neutral Tone หรือสีสว่างก็จะช่วยหลอกตาให้ Space ดูกว้างและโปร่งโล่งขึ้นได้แต่ถ้าบางคนอาจจะชอบแบบสีสัน ก็อาจจะใส่แทรกเข้าไปได้นิดหน่อยหรือบางส่วน เป็นต้น
- อยากให้บ้านดูสะอาดตา ต้องคำนึงถึงการจัดสรรพื้นที่ห้องเก็บของให้เพียงพอต่อการใช้งาน เวลาเกดออกแบบบ้านหรือคอนโด สิ่งแรกที่จะถามคือ “ปริมาณของใช้ส่วนตัว” เช่น มีรองเท้ากี่คู่หรือคิดว่าจะมีประมาณกี่คู่ มีเสื้อผ้าหรือของใช้เยอะขนาดไหน ชอบทำอาหารไหม...เพื่อที่จะได้ตระเตรียม Storage ไม่ว่าจะตู้เสื้อผ้า ส่วนเก็บของ ส่วนครัว ที่เพียงพอต่อการใช้งาน
- การเลือกเฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนอน ส่วนใหญ่ถ้าเป็นห้องนอนเกดจะไม่แต่งเยอะมาก แต่จะเน้นเรื่องการเข้าไปแล้วรู้สึกสบายชวนพักผ่อน ซึ่งจะเน้นเรื่องการเลือก Finishing เลือกผ้า คือเราอาจจะต้องดูว่าห้องนอนของเราอยู่ในมุมอับหรือเปล่า สมมุติว่าคุณชอบเครื่องหนัง แต่ห้องนอนอยู่ในทิศที่ร้อนมากๆ ไม่มีอากาศถ่ายเท การใช้หนังอาจไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร หนังอาจจะแตกง่ายหรือเปล่า หรือเราอาจจะต้องดูเรื่องการระบายอากาศและการดูแลรักษาเข้ามาช่วย หากต้องการใช้หนังจริงๆ ส่วนผ้าก็มีความนุ่นของเส้นใยหลายแบบ คือนอกจากจะเลือกวัสดุตามความชอบแล้ว ต้องเลือกให้แมตช์กับสภาพหรือลักษณะของนอนด้วย
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
โดยรวมของมุมนี้ ให้ความรู้สึก Chic Elegance ค่ะ และเป็นตัวอย่างของการจัดสรร Space ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากค่ะ อย่าง “โต๊ะกลาง” ที่ทำจากวัสดุโปร่งใสแบบนี้ มันจะช่วยหลอกตาเหมือนกับว่ามันหายไป และด้วยรูปแบบก็มีดีไซน์ดูเป็น Sculpture Table ตัวนึง ซึ่งช่วยทำให้พื้นที่ตรงนี้ดูโปร่งสบาย ส่วนโซฟาด้วยความที่เป็นหนังก็ทำให้ดูทำความสะอาดง่าย และมีคอนโซลอยู่ข้างหลังด้วย ช่วยเพิ่มฟังก์ชั่นสำหรับวางของตกแต่งได้ค่ะ
ส่วนมุมนี้จะดู Homey หน่อยๆ ด้วยความฟูนุ่มน่าสัมผัสของตัวหมอนอิง ซึ่งสิ่งที่สามารถนำไปปรับใช้ในการแต่งบ้านได้จากห้องนี้ น่าจะเป็นเรื่องของลวดลายผ้าและการผสมสีสันที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ดูโปร่งค่ะ ซึ่งถ้าเรารู้จักผสมวัสดุในห้องนั่งเล่น มันจะทำให้บรรยากาศในห้องดูเปลี่ยนไป สมมุตถ้าห้องของเราไม่ใหญ่มาก ผ้าเราอาจจะไม่ต้องมีลวดลายใหญ่ หรือถ้าเปลี่ยนหมอนนี้ให้เป็นสีขาว ห้องก็จะดูสว่างขึ้นทันที คือมันเป็นเรื่องของการหลอกตาด้วยลวดลายและสีสันค่ะ