อีกเพียง 2-3 ปี ประเทศไทยเราก็จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) และอีกไม่เกิน 15 ปี ต่อจากนี้เราก็จะก้าวเข้าสู่สังคมคนสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) (สังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด) แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร? และมิติทางด้านงานออกแบบจะสามารถเข้ามาเป็นทางเลือกหรือทางรอดในการใช้ชีวิตของเราอย่างไรได้บ้าง? สัปดาห์นี้เรามาพูดคุยกับอาจารย์เอ - ชวนะ ช่างสุพรรณ อดีตอาจารย์พิเศษของคณะศิลปกรรม ภาควิชาออกแบบตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอาจารย์พิเศษสาขาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งเป็นอาจารย์รับเชิญพิเศษในบางรายวิชาของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท studio3c company limited กรรมการผู้จัดการบริษัท 3cinterior company limited และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ collacreate.com
“ปกติเวลาเราทำงานออกแบบ เรามักจะคิดโจทย์ว่า User ของเรามี Lifestyle อย่างไร แต่หลังจากรับบรีฟในการทำงาน ผมมักจะเพิ่มโจทย์กับทีมงานในเรื่องที่เราอาจจะมองข้าม นอกเหนือจากเรื่อง Style หรือ Design คือเรื่องของ Function ที่ตอบโจทย์การใช้งานในทุกสภาวะของชีวิตเรา เช่น ถ้ามีวันหนึ่งเราเกิดช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลักในการใช้ชีวิตตามลำพัง งาน Design หรือ Style จะกลายเป็นส่วนประกอบและfunctionการใช้งานจะเป็นประเด็นหลักขึ้นมาทันทีแล้วถ้าเรายังอยากมีไลฟ์สไตล์ เช่น อยากไปดูหนัง ฟังเพลง หรือทำอาหาร แล้วอะไรคือสิ่งที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเราได้? เฟอร์นิเจอร์ ฟังก์ชั่น เทคโนโลยีอะไรจะช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคตข้างหน้าของเราอย่างไร”
“ผมเริ่มสนใจเรื่องของ Function การจัดการ Space และเรื่องของ Universal Design ในการออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานร่วมกันได้มากขึ้น หลังจากที่ผมเคยประสบอุบัติเหตุเมื่อไปขี่จักรยานที่ต่างประเทศ กล้ามเนื้อบริเวณชายโครงฉีกลามไปถึงด้านหลังแล้วพอตอนที่ต้องอยู่ในห้องพักคนเดียว ในขณะที่เพื่อนๆจำเป็นต้องออกไปทำธุระข้างนอก ตอนนั้นแหละครับที่ผมค้นพบว่างานออกแบบที่เราใช้งานอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่ทุกวันกลับกลายเป็นอุปสรรคมากขนาดไหนเมื่อเราอยู่ในสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เพราะแค่การเคลื่อนย้ายตัวเองจากนั่งไปยืนหรือจะเดินไปอีกพื้นที่หนึ่งก็ทำได้ลำบากแล้ว การใช้พื้นที่ต่างระดับทั้งในเรื่องการย้ายตัวเองจากรถเข็นมานั่งบนเก้าอี้ หรือการลุกจากโซฟา การขึ้นลงจากเตียงนอนดูกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันทีและนั่นทำให้ผมให้ความสำคัญกับเรื่อง Function Space และเรื่อง Universal Design อยู่เสมอ”
เวลาทำงานออกแบบ ผมมักคิดเผื่อให้ลูกค้าในแง่ของฟังก์ชั่นต่างๆ ซึ่งถ้าลูกค้าพอจะมีพื้นที่ เราก็จะเล่าทุกอย่างที่ควรทำให้เขาฟัง ซึ่งลูกค้าบางท่านก็แจ้งว่าไม่ต้องการ ให้เน้นในเรื่องของดีไซน์มากกว่า เราก็รับฟัง เพียงแต่เรามีหน้าที่ที่ต้องบอก เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์กับเขา ซึ่งก็มีลูกค้าบางส่วนที่เข้าใจและสนใจในสิ่งที่เราแนะนำเพราะการออกแบบในลักษณะของ Universal design จะต้องใช้พื้นที่ในการออกแบบมากกว่ามาตรฐานการใช้งานทั่วไป โดยผมจะดีไซน์เผื่อให้เท่าที่คิดว่าเหมาะสม เช่น ห้องน้ำ ถ้าเราคิดเรื่อง Universal Design มันก็ต้องมีรถเข็น เราก็ต้องดูเรื่องขนาดประตู การยกพื้นหรือระดับในห้องน้ำ ระยะต่างๆ ของพื้นที่ภายใน ระยะการหมุนรถเข็นอะไรต่างๆ ห้อนนอน ก็จะมีเรื่องสเต็ปการย้ายตัวจากเตียงไปรถเข็น เขาต้องดูแลตัวเองได้ ห้องนั่งเล่น ก็ต้องคำนึงถึงระดับความสูงของโซฟา การมีที่ท้าวแขนหรือไม่มี การเลื่อนตัวเข้าไปนั่ง คือมันจะเป็นเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญกับการใช้งาน หรืออย่างห้องครัว ปัจจุบันเราเป็นเคาท์เตอร์เต็มหมด สำหรับคนปกติใช้งานได้ แต่ไม่ใช่สำหรับคนที่ใช้รถเข็น คือเขาไม่สามารถสอดตัวเข้าไป เพราะบ้านเรายังไม่มีใครทำหรือออกแบบมาเพื่อสิ่งเหล่านี้ ผมเคยไปทำงานร่วมกับเพื่อนโปรเจคหนึ่ง เป็นแนวคิดดีไซน์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยออกแบบให้มีรอกพยุงตัวและมีรางที่เขาสามารถเดินไปทั่วบ้านได้ คือมันเป็นโปรเจคทดลองที่เราพยายามคิดว่า จะทำยังไงที่เขาจะดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องไปรบกวนคนอื่น
และตอนนี้เรากำลังทดลองทำโปรเจคเกี่ยวกับที่พักอาศัยขนาดกะทัดรัด แบบ Stand Alone ที่มีการจัดฟังก์ชั่นภายในสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะหรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งเรากำลังศึกษาว่าจะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรได้บ้าง เพื่อการตอบโจทย์การใช้ชีวิตของสังคมผู้สูงอายุ และก็ยังมีโปรเจคที่เกี่ยวที่พักอาศัยขนาดกะทัดรัดสำหรับคน 2 คน ที่กำจังจะเริ่มต้นใช้ชีวิต ซึ่งเราต้องการดูว่าขนาดพื้นที่ใช้งานน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั้นคือเท่าไหร่ เพื่อนำไปสู่การตอบคำถามกับตัวเองว่า “พื้นที่เท่าไหร่ที่จะเพียงพอที่สุด” สำหรับการใช้งานของคนเรา ซึ่งโปรเจคทดลองนี้น่าจะเป็นรูปเป็นร่างและเปิดตัวให้ได้เห็นกันประมาณช่วงกลางปีนี้
ที่ Studio3C เราชอบที่จะทำโปรเจคทดลองหลากหลายรูปแบบ ทั้งในแง่ดีไซน์และกระบวนการทำงานใหม่ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อตั้งคำถามและเพื่อให้เกิดการค้นพบใหม่ๆ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปคิดต่อยอดทำสิ่งต่างๆ ผมเคยคุยกับน้องๆ ในออฟฟิศเล่นๆ ว่า สมมติว่าถ้าโลกเราresetใหม่ทั้งระบบ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในโลกคือ “ประเทศไทย” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คุณคิดว่าดีไซน์ของสิ่งต่างๆ บนโลกนี้จะเป็นอย่างไร? ผมเชื่อว่า “เตียง” คงมีลักษณะเหมือน “ตั่ง” แล้วเคาน์เตอร์ครัวก็คงไม่เป็นแบบทุกวันนี้ (แบบฝรั่ง) มันคงเป็นวิธีการนั่งทำครัวแบบไทยๆ ฉะนั้น รูปแบบของการหั่น ซอย สับ มันก็อาจจะเปลี่ยนหมด ซึ่งถ้าเราโตมาแบบนั้น แล้วมีเทคโนโลยีอะไรเข้ามา ครัวทั้งโลกจะเป็นยังไง? คือถ้าเราใช้วิธีการคิดและสร้างมุมมองแบบนี้ บางทีเราอาจจะต้องหันกลับมามองตัวเอง มองกลับมาที่ “ราก” ของเรา แล้วใช้ชุดความคิดเหล่านี้ในการทำงาน เราอาจได้อะไรบางอย่างที่มันตอบโจทย์วัฒนธรรมไทยเราจริงๆ
ผมเคยถามตัวเองมาตลอดว่า การเป็นสถาปนิกคือเราต้องสร้างงานที่มีลักษณะเฉพาะตัวและเป็นตัวตนของเราให้โลกจดจำ หรือเราควรจะออกแบบยังไงให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจในรสนิยมของเขา แบบที่เขาอยู่แล้วมีความสุข คือ บางทีเราก็เจองานที่เรารู้สึกว่าดีไซน์บางอย่างมันอาจไม่เหมาะ (แต่เจ้าของชอบ) ขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรพูดว่าได้ครับ เพราะแปลว่าเรากำลังโกหกตัวเอง ตรงนี้เหมือนไก่กับไข่ ไม่รู้อะไรจะเกิดก่อนไม่รู้จะยังไงดี ซึ่งในโลกความเป็นจริงก็คือ เรารับงานหลากหลายรูปแบบครับ ทั้งบ้าน ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งเราก็ไม่สามารถสร้างอะไรตามใจตัวเองได้ เพราะแต่ละโปรเจคล้วนมีเงื่อนไข ทั้งเรื่องความชอบของลูกค้า งบประมาณ การตลาด เทรนด์ และอะไรต่างๆ อีกมากมาย
แต่ทั้งนี้ ถ้าเราเป็นนักออกแบบ เราก็ควรคิดว่าสิ่งที่เรากำลังจะสร้างสรรค์นั้น “มันต้องใหม่ขึ้น” ผมสอนเด็กๆ ในออฟฟิศทุกคนว่า ถ้าเมื่อไหร่คิดจะทำร้านแฮมเบอร์เกอร์ แล้วคุณบอกว่ามีร้านดังร้านหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าคุณปักธงไว้แบบนั้นตั้งแต่ต้น มันคงไม่เกิดร้านที่สองสามสี่ ฉะนั้น มันมีทางเลือกให้คุณตั้งเยอะแยะ มันมีโอกาส!! ถ้าคิดจะทำก็อย่าไปกลัว เพราะถ้ากลัว คือคุณจะไม่ได้ทดลองทำ!! และจะไม่รู้ผลลัพท์ของมันเลย แต่ให้ทำออกมาก่อน ก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่คุณคิดจะสำเร็จหรือเปล่า ดีหรือไม่ดี แม้จะมีคนทำแล้ว เราก็อาจจะมีวิธีคิดต่อยอดไปเป็นอย่างอื่นได้ ประเด็นคือเมื่อเป็นนักออกแบบ...ต้องกล้าคิด กล้าทำ และทำให้ถึงที่สุด
- แต่งบ้านไม่ต้องตามเทรนด์ แต่ให้ถามใจตัวเองดูว่าชอบอะไรยังไง และควรดูสัดส่วนหรือยังว่าถ้ามาอยู่ใน Space ของเราแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องทำการบ้านก่อนมาเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ คือไม่ใช่แค่มาเดินดูแล้วเห็นว่า โซฟาตัวนี้สวยดี หรูหราดี เหมาะกับบ้านเราแน่ๆ แล้วปรากฏว่าเลือกไปแล้วโซฟาตัวนี้ถูกตั้งโชว์ไว้เฉยๆ โดยไม่เคยนั่งเลย เพราะตอนซื้อไม่ได้ลอง พอต้องนั่งใช้งานจริงๆ แล้วถึงรู้สึกว่านั่งไม่สบายหรือไม่เหมาะกับสรีระของเรา
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ส่วนตัวผมชอบอะไรที่เป็น Cubiclism อยู่แล้ว เราสามารถวางจังหวะของชิ้นงานหรืออะไรต่างๆ ได้อิสระ แถมมีฟังก์ชั่นด้วยทำให้มุมมองของบ้านดูน่าสนใจมากขึ้น ส่วนการใช้สีก็แอบมีความสนุก มีความพาสเทลของสีด้านหลังเข้ามาทำให้งานดูเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ ด้วยแสงเงาที่เกิดขึ้นบนหน้าบานที่ Texture ของตู้
มุมนี้ ผมชอบในความเรียบและการมีเส้นสายที่ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย และมีการใช้วัสดุไม้เข้ามาแซมนิดนึง ก็ให้ความรู้สึกที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ รวมถึง โทนสีพาสเทลที่ออกเป็นสีเบจอมเขียวนิดๆ ก็ให้ความรู้สึกที่อบอุ่นและสบายๆ เหมาะกับการเป็นมุมนั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงาน