2019 WEEK 50 "คุณยุทธนา จันทร์ผ่อง"

2019week50
10 ธันวาคม 2019
2019 WEEK 50 "คุณยุทธนา จันทร์ผ่อง"
ABOUT HIM

 

“คันคู” คือสองคำไทยที่หมายถึง คันดิน และ คูน้ำ สองคำเรียบง่ายที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาแห่งวิถีชนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่พึ่งพาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมาเป็นปราการป้องกันน้ำท่วมและเป็นระบบชลประทานของเมือง...“คันคู” จึงถูกนำมาใช้เพื่อสะท้อนถึงปรัชญาการทำงานของสตูดิโอออกแบบแห่งหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการใช้ Simple Solutions ในการแก้ปัญหา แต่ทว่านำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ผลดียิ่ง สัปดาห์นี้ พูดคุยกับ คุณยุทธนา จันทร์ผ่อง Director of Interior Design Department แห่ง Cancu Studio สตูดิโอออกแบบที่พร้อมดูแลคุณทั้งในด้าน Master Planning, Landscape และ Interior Design  

 

“คำว่า Simple Solutions จริงๆ แล้วมันเป็นการแก้ปัญหาในแต่ละโปรเจค เพื่อให้ลูกค้าได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับการที่เราไม่ต้องไปทำอะไรให้เยอะหรือมากจนเกินไปครับ  งานของเราจะเป็นประเภท Hospitality คืองานโรงแรมและ Serviced Apartment เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มี Commercial และ Residence บ้าง...อย่างงานโรงแรม ก็จะมี Requirement จากทางเจ้าของโครงการและ Hotel Operator ที่จะบอกเราว่า ตามมาตรฐานเขาต้องมีหรือไม่ควรมีอะไรบ้างซึ่งนั่นก็เป็นกฎที่เขากำหนดมา แต่ขณะเดียวกันมันก็จะมีเงื่อนไขในแง่ของบริบทที่เราต้องคิดหาวิธีจัดการด้วย อย่าง โรงแรม 4 ดาว ที่สุวรรณภูมิ  ซึ่งเป็นโปรเจคที่มีความท้าทายมากในเรื่องของพื้นที่...ด้วยความที่ชื่อสุวรรณภูมิสื่อถึงความเป็นแผ่นดินทอง เราก็ทำคอนเซ็ปต์ออกมาเป็น “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” ซึ่งพื้นที่เดิมเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา จึงมีความเป็นหลุมเป็นบ่อค่อนข้างเยอะ เราก็ต้องปรับภูมิทัศน์ใหม่ให้สวยงาม ซึ่งเราก็พยายามคิดว่าจะทำยังไงที่จะหาโซลูชั่นที่ดี  ทำยังไงจะ Cut & Fill ให้น้อยที่สุด เราเลยเลือกที่จะใช้คอนเซ็ปต์ของสระว่ายน้ำผสมบ่อบัว คือทำพื้นที่ให้เป็นบ่อไปเลย  แล้วสร้างเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างอาคาร เป็น Boardwalk คือหาทางใช้เงื่อนไขที่มันเป็นบ่ออยู่แล้ว ก็ปรับเพิ่มนิดนึงเพื่อให้บ่อใหญ่และเรียบขึ้น  แต่แทนที่จะไปซื้อดินที่อื่นมาถมที่ ก็ออกแบบมันให้เข้ากับเงื่อนไขของพื้นที่ตรงนั้น โดยไม่ต้องเสียงบประมาณการถมดินมาก

 

หรืออย่างโปรเจคออฟฟิศแห่งหนึ่ง ที่ทางเจ้าของให้ความสำคัญกับเรื่อง “การใช้พลังงานและวัสดุที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมมากนัก” ฉะนั้นหลักการในการออกแบบของเรา ก็จะไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสวยงามหรือบริบททางวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่จะเป็นเรื่องฟังก์ชั่นล้วนๆ เช่น แอร์ ที่จะออกมาต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ในระดับอุณหภูมิที่เท่ากัน  โดยใช้คอยล์เย็นที่พื้นในบางห้องเพื่อแก้ปัญหา เหมือนที่ใช้ในต่างประเทศ คือลูกค้าพยายามจะให้โครงการเข้าเกณฑ์มาตรฐานของ DGNB (Deutsche Gesellschaft Fur Nachhaltiges Bauen หรือ German Sustainable Building Council ) ซึ่งเป็นความท้าทายของเราในการที่จะต้องเลือกใช้สิ่งที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลเกือบทั้งหมด และ DGNB เขาคำนึงถึงขนาดว่าอายุของอาคารนี้ถ้าเกิดอยู่ไปสัก 10-20 ปี แล้วจะต้องมีการปรับปรุงใหม่ วัสดุที่จะต้องมีการรื้อออกก็ต้องไม่กลายเป็นมลภาวะที่เป็นพิษหรือต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พื้น ถ้าเป็นลามิเนตเราก็อาจจะไม่ใช้กาว หรือถ้าจะก็ต้องเป็นกาวแบบ Water Base คือต้องไม่เป็นสารเคมี หรือแทนที่จะใช้วัสดุของแท้ เช่น ไม้แท้ ก็ต้องมีใบรับรองว่าเป็นไม้จากป่าปลูกใหม่ หรืออย่างเฟอร์นิเจอร์ เขาก็แนะนำว่าต้องหาผู้ผลิตที่อยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้เกิด Carbon Footprint น้อยที่สุด คือเราก็พยายามอย่างมากในการหาโซลูชั่นเพื่อที่จะได้ตามมาตรฐานของเขาและความต้องการของลูกค้า

 

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ  แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าด้วย บางคนมีงบจำกัด เขาก็ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะการที่จะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยใช้วัสดุรีไซเคิลต่างๆ ที่ผ่านการรับรองมันจะค่อนข้างแพง และไม่ค่อยมีการผลิตในประเทศไทยหรือภูมิภาคนี้ ถ้ามีก็ค่อนข้างน้อย  แต่สิ่งพื้นฐานที่เราจะพยายามผลักดันเข้าไปในทุกโปรเจคได้ ก็อาจจะเป็นเรื่องของการใช้ “หิน” เราก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็นวัสดุทดแทนอื่นๆ เพียงแต่กรรมวิธีในการได้มา มันไม่ต้องไประเบิดภูเขา เพื่อเอา Slab หินมาใช้ ซึ่งจะกระทบกับสิ่งแวดล้อม  ส่วนใหญ่เราจะใช้ Wood Veneer แทนไม้จริง สำหรับงานภายใน

 

ทุกๆ ครั้งที่เริ่มโปรเจค ผมจะค่อนข้างสนุกกับการ Planning เพราะชอบเล่นกับ Space และ Circulation ซึ่งเวลาออกแบบ เราต้องรู้ว่า ทาง Operator เขาต้องมีอะไร เช่น ถ้าจะออกแบบร้านอาหาร ต้องมีครัวตรงไหน เคาน์เตอร์บุฟเฟ่ความยาวเท่าไหร่ ระยะห่างจากผนังเป็นยังไง หรือแต่ละบุฟเฟ่จะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง หรือโรงแรมที่มีห้องพัก 400 ห้อง แต่เราจะรู้ว่าครัวขนาดเท่านี้นะ มันพอสำหรับร้านอาหารประมาณนี้ ห้องพักมี 400 ห้อง ต้องมีเก้าอี้กี่ตัว มี Service Station กี่จุด จึงจะทำให้ Work Flow ของพนักงานให้บริการได้ทั่วถึง เราก็จะสามารถบอกลูกค้าได้ว่าพื้นที่มันเล็กไปควรต้องเพิ่มเท่าไหร่  คือมันเห็นภาพตั้งแต่ได้โปรเจคมาแล้ว ว่ามันจะต้องเป็นอย่างไงบ้าง เพียงแต่ว่าท้ายที่สุดหน้าตามันจะออกมาเป็นยังไงต้องมาดูกันอีกที คือผมจะมองในแง่ฟังก์ชั่นการใช้งานของลูกค้าเป็นหลักก่อนเลย ส่วนเรื่องหน้าตา จะแต่งหน้าทาปากอย่างไรเดี๋ยวค่อยมาคุยกันหลังจากแปลนลงตัว  เพราะอันนั้นก็สำคัญไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ เพียงแต่ว่าเราให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นมากกว่า”

 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเกณฑ์สำคัญในยุคนี้ คือ ความ Instagramable ซึ่งบางโรงแรมเขาก็จะบอกกับเราว่าอยากให้มีจุดจุดนึงไว้ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้ ร้านอาหาร หรือจุดอะไรที่สามารถให้คนมาถ่ายรูปได้ ซึ่งเราก็ต้องพยายามหาอะไรบางอย่างเข้ามาในงานดีไซน์ เพื่อสร้างจุดเด่นหรือจุดสนใจให้คนเข้ามาที่นี่ คือจริงๆ ในงานออกแบบทุกงาน นอกจากฟังก์ชั่นแล้ว เราก็ต้องทำอะไรสักอย่างให้เป็นภาพจำสำหรับคนที่เข้ามาใช้งาน ทำให้งานนั้นๆ ดูมีคาแรคเตอร์ เช่นโปรเจค Serviced Apartment ขนาด 200 ห้อง ซึ่งเป็นเซอร์วิสอพาทเม้นแห่งแรกบนเกาะไหหนาน เมืองซานย่า ประเทศจีน ซึ่งเราก็ต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจพื้นที่ วัฒนธรรม กายภาพของท้องถิ่น มาเป็นประเด็นในการออกแบบ ซึ่งก็ค้นพบว่าเกาะไหหนานนี้ เขาจะมีการปล่อยเต่ากลับคืนสู่ทะเลปีละครั้ง อีกทั้ง “เต่า” ในปรัชญาและความเชื่อจีน คือสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องของอายุยืน ความมั่นคง และความสงบ เราก็เลยหยิบเรื่องนี้มาเป็นตัวชูโรง โดยนำ Element ของกระดองเต่ามาใช้ในงานออกแบบ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ในเรื่องการวาง Planning สำหรับโปรเจคโรงแรม แต่ละแบรนด์เขามีความคาดหวังไม่เหมือนกัน เช่น บริเวณล็อบบี้ บางที่อยากให้เดินเข้ามาปุ๊บแล้วเห็นเลยว่าเคาท์เตอร์ต้อนรับอยู่ตรงไหน หรือบางทีเจอ Self Check-in เลยก็มี สำหรับ Budget Hotel ที่กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเดินทางที่มีงบน้อย พอเดินเข้าปุ๊บก็ไม่ต้องมีอะไรมาก หรือบางที่ ทางโรงแรมก็อยากให้เข้ามาแล้วรู้สึกถึงความแกรนด์ เพื่อต้องการสร้างภาพลักษณ์ของความหรูหรายิ่งใหญ่ ถ้าเป็นร้านอาหาร ก็มีหลายรูปแบบ บางที่เข้าไปแล้วรู้สึกสบายๆ ไม่เป็นทางการมาก ไม่ต้องมีผ้าปูโต๊ะ อาจจะนั่งทานบนโซฟาก็ได้ ส่วนบางที่ก็อาจต้องใส่สูทเข้าไปทาง เดินกันเกร็งๆ หน่อยๆ ทานเสร็จต้องเปลี่ยนผ้าปูโต๊ะทีนึง คือมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้ลูกค้าของเรามีประสบการณ์อย่างไรเท่านั้นเอง ถ้าเป็นบ้านพักอาศัย จริงๆ แล้วการวาง Planning ควรจัดฟังก์ชั่นตามไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่ เพราะคนเราไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน อย่างตัวผมพอเดินเข้าบ้านปุ๊บ เจอห้องครัวและโต๊ะทานข้าวก่อน (แทนที่จะเป็นห้องนั่งเล่น) เพราะผมชอบทำอาหาร พอทำเสร็จก็ทานในห้องเดียวกันเลย เป็นต้น

 

เวลาทำงานออกแบบ จริงๆ ไม่ว่าจะงาน Architect, Interior, Landscape ผมมองว่ามันคือเรื่องราวเดียวกัน เพียงแต่ว่าด้าน Architect ดูจะมีความรับผิดชอบมากว่าส่วนอื่นอยู่สักหน่อย เพราะต้องรวมเอางานระบบและงานโครงสร้างเข้าไปด้วย  ส่วน Interior เองก็ต้องทำงานเคารพทุกฝ่ายเหมือนกัน หลักการในการทำงานของเราอย่างหนึ่งคือ เราต้องมีความรู้ในทุกๆ ด้านด้วย อาจไม่ได้เก่งเท่าสถาปนิก แต่ก็ต้องมีความรู้ถึงข้อจำกัดบางอย่างของงานสถาปัตย์และงานระบบ แม้เราอาจไม่สามารถสเปคได้ แต่เราก็ต้องรู้ว่า ท่อต้องขนาดเท่าไหร่ แอร์เท่าไหร่และต้องอยู่ตรงไหน เพื่อให้เกิดการประสานงานกันได้ง่ายและราบรื่นมากขึ้น เราจะไม่เป็นดีไซเนอร์ที่มี Signature ส่วนตัว เราเป็นใหญ่ ทุกคนต้องทำตาม...เราไม่ได้เป็นแบบนั้น  แต่เราเน้นที่จะทำงานประสานร่วมกับทุกๆ ฝ่าย อย่างดี เพื่อให้งานออกมาเป็นโซลูชั่นที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับลูกค้า และที่สำคัญ...ในทุกๆ งานที่เราทำ ผมมองว่ามันต้องมี “คุณค่า” อะไรบางอย่างให้เราบ้าง ไม่ใช่แค่ผลตอบแทน เด็กๆ ทีมงานต้องได้อะไรใหม่ๆ ได้ความท้าทายใหม่ๆ บางงานได้ค่า Fee น้อยแต่เราก็ทำ เพราะเห็นว่ามันมีความท้าทายบางอย่าง ที่จะทำให้เราต้องศึกษาเพิ่มเติม ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นคุณค่าที่มากกว่าแค่การปั๊มแบบ ได้เงินแล้วจบ!

 

  • สำหรับธุรกิจโรงแรม หัวใจหลักของธุรกิจโรงแรมคือการบริการ คือพนักงาน สิ่งสำคัญในการวางผัง คือ ทำอย่างไงให้พนักงานเข้าถึงตัวลูกค้า (เพื่อให้บริการหรือให้การช่วยเหลือ) ได้เร็วที่สุด เช่น เคาน์เตอร์ต้อนรับ แทนที่จะทำเป็นเคาท์เตอร์ยาวๆ ซึ่งจะเกิดปัญหาว่า กว่าพนักงานจะเดินออกไปได้ก็ค่อนข้างใช้เวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบต่อเรื่อง Service ดังนั้น ก็ควรปรับเคาน์เตอร์ให้สั้นลง เช่น ถ้ามีพนักงาน 3 คน ก็มี 3 โต๊ะ เพื่อให้มีช่องว่างระหว่างโต๊ะให้พนักงานสามารถเดินออกไปถึงตัวลูกค้าได้สะดวกและทันใจลูกค้า
 
  • การ Planning ถ้าเป็น “บ้าน” เราอาจมีอิสระในการจัดวางได้มากกว่าคอนโด ซึ่งสำหรับบ้าน ผมว่าเรื่องของ Ventilation หรือการไหลเวียนของอากาศภายในห้อง และ Flow ในการใช้งานต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ เช่น บางคนอยากให้เดินเข้ามาแล้ว หยิบของใส่ตู้เย็นได้เลย บางคนแล้วมาถึงบ้านปุ๊บอยากนั่งห้องแอร์เย็นๆ ดูทีวีเลยก็มี คือไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอยากเดินเข้ามาแล้วเจอห้องเก็บของเก็บโน่นนี่เลยก็มี คือบ้านควรเป็นพื้นที่ที่เราอยู่แล้วต้องรู้สึกสบาย ฉะนั้นก็ควรจัดบรรยากาศและฟังก์ชั่นต่างๆ ให้เหมาะสมและแมตช์กับไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้มากที่สุด
 
  • แสงที่เหมาะสมในเวลากลางคืน ถ้าเป็น “ห้องนั่งเล่น” เราจะไม่ต้องการแสงสว่างมากนักขณะดูทีวี ดังนั้นอาจทำวงจรไฟไว้ 2 ชุด (Circuit) เพื่อเวลาที่เราต้องการนั่งพักผ่อนดูหนัง ก็อาจปิดไฟสักชุดนึง เหลือเพียงชุดเดียวพอ แค่ให้พอมองเห็นบ้าง  ส่วน “ห้องครัว” จะเป็นเรื่องของฟังก์ชั่นล้วนๆ เพราะต้องทำอาหาร  ก็ควรมีไฟบริเวณที่ทำอาหารที่เตรียมอาหารและที่โต๊ะทานข้าว  “ห้องนอน” ก็ควรมีไฟ 2 เซ็ต เช่นกันคือ ไฟแบบสว่างจ้าๆ สำหรับการทำความสะอาด และไฟสำหรับฟังก์ชั่นอื่น เช่น ไฟที่หัวเตียงสำหรับการอ่านหนังสือ

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ส่วนตัวผมเป็น Furniture Designer ด้วย แล้ว Display แบบนี้ เราก็ทำกันมานานแล้ว มันโชว์ความหลากหลายของเฟอร์นิเจอร์  ทำให้เราเห็นภาพรวมว่าแต่ละตัวหน้าตาและฟังก์ชั่นเป็นยังไง การจัดแบบนี้มันดูเรียบง่ายแต่ว่าสร้างความสะดุดตา ซึ่งเป็นการนำเฟอร์นิเจอร์หลากสไตล์หลายสีมาวาง ก็ดูเหมือนเป็น Collage ของภาพๆ หนึ่ง

 

 

มุมนี้ เฟอร์นิเจอร์ดูเป็นสแกนดิเนเวียนนิดๆ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ผมชอบ แล้วส่วนที่ชวนสะดุดตาตัวบันได ซึ่งเลียนแบบมาจากบันไดในห้องสมุด ห้องเก็บของ (ซึ่งจะสูงกว่านี้) เป็นฟังก์ชั่นที่สามารถปีนขึ้นไปเก็บของสูงๆ ได้ เป็นการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า คือการใช้พื้นที่แนว Vertical ให้สุดเลย  และโทนสีก็ค่อนข้างง่ายๆ ดูแล้วสบายๆ

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex