นาทีนี้ถ้าพูดถึง “รีสอร์ทในอ้อมกอดของขุนเขา” อย่าง Z9 RESORT เชื่อว่าสายเที่ยวที่เคยไปเช็คอินกาญจนบุรีต้องร้องอ๋อ! เพราะรีสอร์ทแห่งนี้ไม่เพียงแต่มีรูปทรงของสถาปัตยกรรมบนผืนน้ำที่สวยสะดุดตา แต่ยังมีบรรยากาศของธรรมชาติที่งามจับใจอีกด้วย ที่สำคัญยังได้รับรางวัลการันตีมาอย่างท่วมท้นในความสวยงามและโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น 1) The Arcasia Awards for Architecture 2019 (AAA19) : Honourable Mention 2) FuturArc Green Leadership Awards 2019: Merit 3) Asia Pacific Property Awards 2019 : Best Hotel Architecture 5 Stars 4) INDE.Awards 2019 : Official Shortlist 5) Dezeen Awards 2019 : Longlist 6) ArchDaily Building of the Year’ 19 Awards : Finalist 7) World Architecture Awards 2018 29th Cycle : Winner (Realized Category) 8) BCI Asia Interior Design Awards 2018 (IDA) สัปดาห์นี้พูดคุยกับหนึ่งในทีมออกแบบคนสำคัญ คุณนนท์ โกมลสุทธิ์ Design Manager จาก Dersyn Studio
“Dersyn Studio ก่อตั้งโดย คุณศราวุธ จันทรแสงอร่าม ครับ ซึ่งท่านจบปริญญาตรีทางด้านออกแบบสถาปัตยกรรมและปริญญาโททางด้านการใช้ทิศทางลมกับการออกแบบอาคาร ส่วนผมจบทางด้าน Sustainable Design ฉะนั้นงานออกแบบของออฟฟิศจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องประหยัดพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่จะโฟกัสไปที่วิธีการออกแบบ “เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยดีขึ้น” ด้วย ซึ่งหมายถึง การเข้าไปใช้อาคารแล้วรู้สึกสบายและผ่อนคลาย”
ซึ่งถ้าเทียบกันระหว่างบ้านกับโรงแรม...บ้านเป็นสิ่งที่เราอยู่ตรงนั้นทุกวัน ก็จะมีความโฉบเฉี่ยวได้ในระดับหนึ่ง แต่จะไม่ใช่แบบเข้าไปแว่บแรกแล้ว โห! สุดยอด แต่พออยู่ไปสักพักนึงแล้วอาจจะรู้สึกเบื่อหรือเลี่ยน ในทางตรงข้ามรีสอร์ท คือที่ซึ่งปีนึงเราอาจจะไปที่นั่นสักครั้งหรือสามปีกลับไปครั้ง ฉะนั้นมันต้องมีจุดหรือมี Space ต่างๆ ที่เรียกว่าเป็น Wow Factor ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับเทรนด์การออกแบบในแต่ละยุคสมัยด้วย สำหรับรีสอร์ทก็จะเป็นเรื่องของสาธารณูปโภค รูปทรง หรือพื้นที่พิเศษในการถ่ายรูปต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นยุคก่อนก็เช่น Open Bathtub (ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ธรรมดาไปแล้วสำหรับตอนนี้) ทั้งนี้ทาง Dersyn เราจะพยายามอ้างอิง Wow Factor ที่มาจากสภาพเดิมของพื้นที่นั้นๆ .อย่างที่ Z9 RESORT บริบทเดิมของพื้นที่คือวิว คือพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ที่จะทำให้เราได้ซึมซับความสวยงามที่อยู่ตรงนั้น เรามองว่าธรรมชาติเนี่ยเหมือนภาพ Painting ของจิตกรดัง ในขณะที่ “สถาปัตยกรรม” น่าจะเป็นแค่กรอบของภาพ ที่ไปช่วยส่งเสริมให้รูปนั้นดูเด่นขึ้น ซึ่งมันเป็นความสัมพันธ์ที่ยากจะแยกจากกัน แต่จุดที่เรามุ่งนำเสนอคือ “ธรรมชาติที่เป็นเหมือนภาพวาดของจิตกร” ที่อยู่ตรงนั้น
ซึ่งระหว่างการออกแบบ ทางทีมก็ได้ไปพักอาศัยอยู่ที่นั่นหลายวัน ไม่ใช่แค่ Site Visit ถ่ายรูปแล้วกลับ เพราะฉะนั้นจึงทำให้เราเข้าใจว่า “ตรงไหนเป็นวิวที่สวยที่สุด” ในการที่จะมองพระอาทิตย์ขึ้นและตก ซึ่งเราก็จะพยายามจัดวางล็อบบี้ ห้องทานอาหาร ให้ได้รับวิวที่สวยที่สุด ส่วนห้องพักและพื้นที่ต่างๆ ของรีสอร์ทก็จะมีการบังมุมกันที่น้อยที่สุดและมีความลดหลั่นกันของพื้นที่เดิมเป็นตัวตั้ง...การเดินทางไปที่รีสอร์ทแห่งนี้ เราต้องขับรถผ่านโค้งเขาไปมา เหมือนกับว่าเราเดินทางมาเหนื่อยแล้วเราไปเจอจุดที่เป็นเหมือนโอเอซิส ที่รู้สึกเหนื่อยก็หาย ใครที่เป็นคนชอบตื่นสายถ้ามาที่นี่อาจจะตื่นเช้ากว่าปกติ เพราะทุกห้องพักจะได้รับมุมมองที่ค่อนข้างสวยของแสงอาทิตย์ตอนเช้าซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกับสุขภาพ
ด้านรูปทรงของรีสอร์ท เราได้แรงบันดาลใจจากภูเขาและเนินเขาต่างๆ รวมทั้งคลื่นน้ำซึ่งก็คือบริบทของพื้นที่ตรงนั้น ส่วนเรื่อง “วัสดุ” เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นเป็นป่าไผ่ เราจึงเลือกที่จะใช้ไผ่มาเป็นตัวตกแต่งสถานที่ ซึ่งไผ่สาน (ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของช่างไทย) สามารถระบายลมได้ดีและกันฝนได้ ก็อาจจะเรียกว่าเป็น Wow Factor สำหรับชาวต่างชาติหรือคนเมืองด้วยก็ได้ ส่วนหลังคาเราใช้ชิงเกิ้ลรูฟ ซึ่งมีน้ำหนักเบา จึงเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างเหมาะสมกับการทำแพลอยน้ำ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติคายความร้อนได้ค่อนข้างเร็ว ฉะนั้นเวลาที่คนกลับมาห้องพักตอนเย็น ห้องก็จะเย็นโดยไม่ต้องเปิดแอร์ นอกจากนี้ ก็มีการใช้ OSB board ที่เกิดจากการนำเศษไม้มาอัดกับกาว ส่วนไม้ที่เป็นทางเดิน เราก็ใช้ไม้เดิมจากรีสอร์ทเก่าของเจ้าของรายเดิม คือ เราพยายามจะใช้ไม้เดิมให้ได้มากที่สุด เพราะมองว่ามันน่าจะดีกว่าการรื้อรีสอร์ทเดิมแล้วจะเอาไม้ไปทำลายทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งหลังจากที่สร้างเสร็จออกมา โปรเจคนี้ก็ดูเหมือนได้ตัวอาคารที่เสร็จพร้อม Landscape เลย แต่จริงๆ แล้วภูมิทัศน์นั้นเป็นของเดิมที่มีอยู่แล้วตามบริบทของธรรมชาติ ผมทราบมาว่าตอนนี้ Z9 RESORT มียอดจอง (วันเสาร์อาทิตย์) ล่วงหน้าแล้วถึง 2 ปี เราก็ดีใจกับทาง Owner ด้วย ที่ตัวสถาปัตยกรรมสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าได้ขนาดนั้น คือให้ประโยชน์ทั้งกับตัวผู้ที่เป็นเจ้าของและแขกผู้ที่เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ
สำหรับการออกแบบ “บ้านพักอาศัย” ในการทำงานเราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การออกแบบสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เราจะควบรวมเรื่องการจัดวางงานระบบต่างๆ การจัดวาง space การเลือกใช้วัสดุ เพื่อให้ทุกอย่างทุกมิติอยู่เป็นเรื่องราวเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยสวยงามที่สุด เพราะเราจะไม่ค่อยโอเคกับงานที่ดูเรียบหรูแต่มีงานระบบโผล่ออกมาในจุดที่ไม่ควรหรือไม่จำเป็น
หลายคนอาจมองว่า งานระบบของบ้านเป็นงานที่ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แต่เอาจริงๆ แล้ว มันก็มีพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำ ไฟ สื่อสาร เช่น CCTV ระบบ Lan และระบบปรับอากาศ ซึ่งทางเราก็เลือกที่จะจัดวางพวกท่อแอร์ ท่อน้ำทิ้งต่างๆ ไม่โผล่ออกมาในที่ที่ไม่ควรจะมองเห็น ขณะเดียวกันก็จะคิดถึงเรื่องการเซอร์วิสที่ต้องเป็นไปได้ง่ายด้วย เพราะผมว่ามันคงไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก ถ้าสมมุติว่าเราจัดซ่อนไว้อย่างสวยงามแต่ซ่อมบำรุงไม่ได้เลย จะทำแต่ละทีต้องทุบผนังอย่างเดียวก็คงไม่ใช่
ทั้งนี้ งานระบบเมื่อใช้งานไปสักระยะก็มีโอกาสที่จะรั่วหรืออุดตัน เราก็จะพยายามวางระบบพวกนี้ไว้ชิดกับผนังด้านนอกของตัวบ้านแล้วก็จะทำเป็นช่องเซอร์วิสไว้ด้วย สมมุติจะต้องเกิดการซ่อมบำรุงขึ้นมา ช่างก็จะสามารถทำงานได้สะดวก โดยไม่ต้องไปรบกวนพื้นที่ภายในตัวบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้ ก็มีการนำองค์ความรู้จากสถาปัตยกรรมไทย เข้ามาปรับใช้ด้วย เช่น การยกตัวบ้านขึ้นสูง ประมาณ 1 – 1.5 เมตร เพื่อเดินท่อต่างๆ ลอดใต้ตัวบ้านได้ ไปโผล่ยังจุดที่มันควรจะอยู่ ซึ่งเราก็ทำแบบนี้ทั้งในงานบ้านพักอาศัยและรีสอร์ท ซึ่งในหลายพื้นที่มันจะเป็นพื้นที่ลาดค่อนข้างเยอะ จะมีพวกตาน้ำ ทางน้ำเดิม ซึ่งเราก็จะยกใต้ถุนขึ้นนิดนึงซึ่งหมายถึงว่าทางน้ำเดิมก็ยงคงอยู่ แล้วเดินท่อต่างๆ ข้างใต้ อีกอย่างคือ ลม สามารถผ่านใต้ตัวอาคารได้ด้วย ทำให้ตัวอาคารและพื้นเย็นตลอดเวลา
ส่วนงานแอร์ก็จะพยายามซ่อนตามเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินต่างๆ หรือตรงไหนที่ท่อแอร์ต้องเดินผ่าน เราก็จะคิดว่าคานมีความลึกเท่าไหร่ ต้องเผื่อฝ้าไว้ เพื่อที่ว่าทุกอย่างจะสามารถซ่อนอยู่ได้ ในทางปฏิบัติก็อาจจะเห็นบ้าง แต่จะเห็นให้น้อยที่สุด และเราจะไม่ให้มีอะไรไปบดบังทิศทางลม เพื่อที่จะได้ระบายความร้อนได้สะดวก คือเราจะคิดถึงตำแหน่งการวางด้วย แล้วก็พยายามจะให้เดินท่อน้ำยาแอร์สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การที่เราพยายามนำบริบทของบ้านไทยเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบ เพราะเรามองว่าสถาปัตยกรรมของแต่ละพื้นที่ย่อมมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างลึกซึ้งกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนในท้องที่นั้นๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน วิถีชีวิตอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่สภาพภูมิอากาศก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก การใช้ชีวิตของเรา ลักษณะความเป็นไป ความสัมพันธ์ในบ้าน ก็ยังเหมือนยุคเก่าๆ เช่น คนไทยอาจต้องการมีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว
ฉะนั้น การจัด Space เพื่อความอยู่สบาย จึงมีบริบทเดิมของบ้านไทยหรือสิ่งที่เป็นไทยๆ เป็นตัวตั้ง อย่างในส่วนของ “พื้นที่” เราจะพยายามจัดสรรที่ให้มีความโล่ง เคลียร์ ให้มากที่สุด ทางเดินและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จะพยายามจัดวางให้เป็นระเบียบ และจะพยายามไม่ทำให้มีซอกหลืบที่ไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดการเก็บฝุ่นและทำความสะอาดยาก นอกจากนี้ เราก็จะพยายามจัดวางครัวเป็น 2 รูปแบบ ในบ้านเกือบทุกหลัง คือ จะมีแพนทรีเป็นครัวโชว์ ส่วนครัวหนักหรือครัวไทย ก็จัดวางไว้ด้านนอกของตัวบ้าน เพื่อให้ระบายอากาศและกลิ่นให้มากที่สุด
รวมทั้งคิดถึงการจัดวางตำแหน่งของช่องเปิด ช่องหน้าต่างให้อยู่ตรงข้ามกันและสัมพันธ์กับทิศทางลม เพื่อให้ลมช่วยระบายกลิ่นและระบายความอับชื้นต่างๆ ออกไปได้โดยสะดวก คือมันก็อาจต้องพึ่งพาระบบดูดอากาศหรือระบบเชิงกลบ้าง แต่ทางเราก็จะพยายามทำให้พื้นฐานมันดีที่สุดก่อน เพื่อที่จะพึ่งพาระบบพวกนั้นให้น้อยลง เหมือนใช้เป็นแค่ตัวเสริมมากกว่า ส่วนโครงสร้างหลังคา แม้ว่างานของเราไม่ค่อยทำหลังคาจั่วแบบดั้งเดิมเท่าไหร่ แต่ก็จะมีวัสดุก่อสร้างต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น วัสดุ Coating หลังคา ที่สามารถสะท้อนความร้อน หรือว่าเราจะพยายามสร้างให้มี Air Gap ระหว่างพื้นที่ด้านบนกับพื้นที่ที่คนใช้งาน เพื่อที่ว่าลมร้อนจะได้ขึ้นไปข้างบนและระบายออก และจะดูดลมเย็นเข้าไปด้วย ซึ่งถ้าในระดับสากลเราก็จะเรียกว่า Stack Effect คือการใช้ความต่างศักย์ของอุณหภูมิในการดึงลมเข้าไป แต่จริงๆ มันก็คือ ภูมิปัญญาของช่างไทยเรานี้ที่ใช้อยู่กับการออกแบบบ้านไทยนี่แหละ
ผมมองว่า สถาปัตยกรรม เป็นการผสมระหว่าง “วิทยาศาสตร์กับสุนทรียศาสตร์” โดยเราจะต้องผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพราะถ้าเน้นไปที่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป มันอาจออกมาสวยงามแต่ไม่ตอบสนองการใช้งาน หรืออาจสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ ขณะเดียวกันถ้าเราไปอิงกับฝั่งที่เป็นตรรกะมากเกินไป มันก็อาจได้งานที่ฟังก์ชั่นดีลงตัว ประหยัดพลังงาน แต่อาจไม่มีความสวยงามเลยก็ได้ ซึ่งพอมันไม่สวยก็ไม่ดึงดูดให้น่าใช้สอย คนก็อาจจะไม่ค่อยมีความสุขในการเข้าไปใช้สอยเท่าไหร่
- Space ที่ควรมีในบ้าน ก็คือพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้มากที่สุด บางคนชอบแต่งตัวมาก และใช้เวลาแต่งตัวครั้งละหลายชั่วโมง บางทีการมีแพนทรีอยู่ในห้องแต่งตัวอาจเป็นฟังก์ชั่นหรือพื้นที่ที่คุณต้องการ เผื่อคุณหิวจะได้มีอะไรทานเวลาพักเบรกระหว่างการลองชุด ลองกระเป๋า หรือคุณผู้ชายบางคนอาจชอบเรื่องยานยนต์เป็นพิเศษ บางครั้งการมีมุมนั่งเล่น นั่งพักผ่อนมุมจิบกาแฟ หรือมุมแฮงเอ้าท์ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงจอดรถก็อาจจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการลึกๆ ของคุณได้ ดังนั้น น่าจะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจตัวเองก่อน เพื่อดูว่าแท้จริงๆ แล้ว ในบ้านของคุณควรมีฟังก์ชั่นหรือพื้นที่แบบไหนเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้อย่างแท้จริง
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
มุมนี้เป็นเป็นไอเดียในการแต่งพื้นที่ส่วนกลางของบ้านได้ ภาพรวมๆ ให้ความอบอุ่นแต่น่าจะมีการใช้โทนสีที่ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้นอีกนิดนิด แต่ทั้งนี้มันเป็นพื้นที่ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ทุกวัน ก็อยากให้เก็บภาพรวมของสีที่ยังเป็นโทนพาสเทลอ่อนๆ หน่อย ไม่ต้องเป็นสีที่จัดจ้านมาก เพื่อจะได้เกิดความรู้สึกไม่น่าเบื่อ
ส่วนห้องนี้ ชอบตรงนี้ภาพรวมของการตกแต่งที่เป็นสีเอิร์ทโทน เป็นอะไรที่เรียบๆ ทั่วไป ดู Timeless Design อย่างในห้องนอน โทนสีต่างๆ ควรเรียบๆ คลีนๆ ไม่ใช่สีที่ให้พลังมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่เราเอาไว้พักผ่อนเป็นหลัก