มิใช่แค่เพียงชื่อ แต่ “บูรณะสถาน” คือ อุดมการณ์อันแรงกล้าของสตูดิโอออกแบบแห่งหนึ่งที่มุ่งพลิกฟื้นคืนชีวิตให้อาคารเก่า ทั้งยังใช้ความรู้ทางวิชาชีพสร้างสรรค์ผลงานที่พยายามมองไกลออกไปมากกว่าแค่ความสวยงาม สัปดาห์นี้พบกับ คุณมิ้น - ฐิตาภา ชูศิลป์กุล อินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์ จาก บูรณะสถาน
ที่ บูรณะสถาน พวกเราเลือกทำเฉพาะโครงการรีโนเวทเท่านั้น ทุกคนรู้ดีว่าโลกมีทรัพยากรอยู่จำกัด แทนที่การใช้แล้วทิ้ง การบริโภคที่ฟุ่มเฟือยนั้นเผาผลาญทรัพยากร ก่อให้เกิดปัญหามากมาย พวกเรารู้สึกดีกับการพยายามทำ “สิ่งที่มีอยู่” แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงกระบวนการออกแบบมันเหมือนกับศัลยกรรม แน่นอนว่างานชิ้นนั้นๆจะต้องสวย แต่เราไม่เชื่อว่า “สวยเท่ากับดี”
โลกยุคต่อๆ ไป ทุกคนควรมองให้ไกลออกไปกว่านั้น ความสวยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว โครงการที่ต้องการอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นจะต้องดีต่อผู้คน ดีต่อสังคม โดยเฉพาะจำเป็นต้องดีต่อโลกด้วย เอาเข้าจริงๆ การปฏิสัมพันธ์ของโครงการกับลูกค้าก็เหมือนมนุษย์ ตอนนี้อยากชวนให้ลองถามตัวเองกันดูค่ะว่า เวลาที่จะคบหาผูกพันกันไปทั้งชีวิต จะมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งเลือกคนที่จิตใจดีมากกว่าความสวย และตรงนี้เองที่ "ดี" จะเท่ากับและมากกว่า "สวย" ค่ะ
เรามองว่าอนาคตคือสิ่งที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนอดีตกับปัจจุบันคือสิ่งที่ผ่านมาแล้วและยังดำรงอยู่ ซึ่งเราอาจจะสามารถทำให้มันดีขึ้นหรือกลับมามีชีวิตขึ้นได้อีกครั้ง คือการที่คนคนหนึ่งจะเดินเข้ามาหาเรา แล้วบอกว่าเขาอยากรีโนเวทพื้นที่ของเขา (แทนที่จะเป็นการสร้างใหม่) แปลว่า เขาอาจมีแพสชั่นที่อยากจะทำอะไรสักอย่าง ซึ่งการที่เราได้รับมอบหมายให้เข้าไปจัดการกับอาคารเก่า เราก็คิดว่า มันคงเป็นสิ่งที่มีความหมายหรือสำคัญสำหรับเขา ฉะนั้น เราก็อยากดีไซน์หรือพัฒนาแบบเพื่อเข้าไป “ช่วยเขาเก็บความทรงจำ” ของเขาให้คงอยู่ตลอดไป และอีกอย่างคือเรา“ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม” ด้วยค่ะ คือเราไม่อยากสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะไม่อยากก่อมลภาวะหรือขยะต่างๆ ให้เพิ่มขึ้นอีก
เวลารีโนเวท เราไม่ค่อยได้เปลี่ยนแปลงหรือต่อเติมโครงสร้างอาคารมากนัก เพราะเราอยากเก็บรักษาของเก่าไว้ ด้วยการพยายามคงรูปลักษณ์ภายนอกไว้ให้มากที่สุด เรามองว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่คนรุ่นหลังไม่เคยเห็น คือสิ่งไหนจำเป็นต้องเติมก็เติม แต่ถ้าจุดไหนคงไว้ได้ก็จะเก็บไว้อย่างนั้น เราพยายามจะคงสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด คือทางเราและเจ้าของโครงการจะมีความเห็นที่สอดคล้องกัน ในการที่จะพยายามเก็บรักษาสิ่งเดิม เพียงแต่ปรับปรุงฟังก์ชั่นเก่าๆ ให้มันสอดรับกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มากขึ้น
และ Signature ของเราอีกอย่างหนึ่ง คือ การพยายามเก็บของเก่า (วัสดุเดิม) กลับมาใช้ให้ได้มากที่สุด เรามองว่ามันเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งในความรู้สึก ยิ่งถ้าเป็นบ้านของเรา มันก็คือของของเดิมที่เรามีอยู่ เพียงแต่อาจเปลี่ยนไปเก็บในรูปแบบอื่น อาจจะไปอยู่ในส่วนตกแต่ง เรื่องการใช้วัสดุใหม่ก็มี (เฉพาะส่วนที่จำเป็น) ถ้าเจ้าของเขาต้องการเราก็ยินดีทำให้ แต่เราจะพยายามนำของเก่ากลับมาใช้ก่อน เช่น พื้นไม้-นำมาทำผนัง, แผงกั้นเหล็ก-มาทำราวกันตกหรือวัสดุตกแต่งผนัง, กระเบื้องที่พื้น-มาตกแต่งผนัง (สามารถรื้อออกมาได้เป็นแผ่นๆ ได้ ขึ้นกับฝีมือช่าง), แผ่นไม้เก่า-นำไปทำ Façade เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น โครงการ BHIRAJ TOWER at Sathorn ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นหนึ่งในย่านที่ราคาที่ดินแพงที่สุดในประเทศบนพื้นที่ 4 ไร่ ติดกับสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ เป็นโครงการของกลุ่มภิรัชบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก่าแห่งแรกบนถนนสาทร เมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว ซึ่งเจ้าของก็เลือกที่จะเก็บรักษาโครงสร้างอาคารเดิมและปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าในรูปแบบของ Office Campus ซึ่งต่างจากออฟฟิศให้เช่าทั่วไปในย่านนั้น (ที่ส่วนมากจะเป็นตึกสูงระฟ้า) แต่ที่นี่มีสำนักงาน 3 อาคาร ซึ่งมีความสูงเพียง 1, 2 และ 4 ชั้น เท่านั้น แถมยังเต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ในบรรยากาศร่มรื่น ซึ่งเจ้าของโครงการมีความตั้งใจให้พื้นที่ตรงนั้นเป็น Social Connection คือ ให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ ทั้งคนที่เข้ามาใช้อาคารสำนักงานและผู้คนรอบข้าง ซึ่งในการรีโนเวท “เราพยายามใช้วัสดุใหม่ให้น้อยที่สุด” เพื่อที่จะได้ไม่สร้างขยะให้มากขึ้น โดยเลือกที่จะดึงเอาวัสดุจากอาคารเก่าที่ยังพอใช้ได้กลับมาใช้ใหม่ เช่นนำไม้และกระเบื้องเก่า กลับมาใช้ในส่วนของงานตกแต่ง
หรืออย่างโครงการ OneUdomsuk ซึ่งเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ ริมถนนสุขุมวิท (อีกหนึ่งโครงการของกลุ่มภิรัชบุรี) ก็เป็นการปรับปรุงอาคารพาณิชย์เก่าให้กลายเป็นแหล่งแฮงค์เอ้าท์ที่มีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนโดยรอบ เราก็ออกแบบโดยให้ความสำคัญกับบริบทโดยรอบด้วย สำหรับการรีโนเวทในโปรเจคนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพราะเดิมเป็นอาคารพาณิชย์ที่ทึบๆ เราก็ไปทุบผนังข้างๆ ออก แล้วใช้พื้นที่ครึ่งคูหาเป็นทางเดิน เพื่อเปิดโล่งให้แสงเข้ามาภายในตัวอาคาร เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของลม
ตัวอย่างโปรเจคบ้าน ก็เช่น บ้านที่สุขุมวิท42 ซึ่งเดิมเป็นบ้านอยู่แล้ว แต่เจ้าของอยากทำเพิ่มเป็นร้านขายของ โปรเจคนี้มีคนเซ็ปต์ที่น่ารัก คือ ตัวเจ้าของเล็งเห็นถึงความยั่งยืนและการอยู่ได้ด้วยตนเอง ร้านอาหารที่เขาทำก็จะเป็นการใช้วัตถุดิบมาจากชุมชน ขายของที่มาจากชุมชน มีการพยายามลดขยะอะไรต่างๆ ซึ่งในส่วนงานปรับปรุงเจ้าของก็จะมีภาพในใจมาอยู่แล้วว่าเขาอยากทำอะไร เราก็จะพยายามทำภาพของเขาให้เกิดขึ้น ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องพยายามใช้ของเก่าให้ได้มากที่สุด
คนที่เดินมาหาเรา ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีแนวคิดประมาณนี้ คืออยากจะเก็บของเก่าไว้ให้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นเขาก็ไปจ้างดีไซน์เนอร์ที่อื่นก็ได้ บางคนที่อยากรีโนเวทบ้านหรืออาคารเดิม อาจคิดว่ามันคือการเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงๆ มันไม่สามารถเป็นได้ขนาดนั้น เพราะมันใช้โครงอาคารเดิม และที่ “บูรณะสถาน” เรามอง “รีโนเวท” ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ ไม่ใช่เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด! แต่เรามีความพยายามที่จะเก็บรูปร่างหน้าตาของเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด (แทบจะเหมือนเดิมเลยด้วยซ้ำ) เพราะความรู้สึกว่าเรายังเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ ก็เคยเจอบ้างเหมือนกันค่ะ สำหรับลูกค้าท่านที่อาจจะอยากปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแบบให้หน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งพอคุยกันความต้องการกันแล้ว เราก็แยกจากกันด้วยดี เพราะเรามองเห็นปัญหาว่าถ้าทำด้วยกันแล้วเราต่าง “ไม่ใช่” ซึ่งกันและกัน เขาก็อาจไม่ได้งานอย่างที่เขาต้องการ และเราก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำด้วยเช่นกัน
บางคนอาจคิดว่า ระหว่างงานสร้างใหม่กับการรีโนเวทของอาคารเก่า ถ้าจะต้องเสียงงบประมาณพอๆ กัน งั้นสร้างใหม่ไปเลยดีกว่า ซึ่งอันนี้ก็ไม่มีถูกผิด แล้วแต่เลยว่าแต่ละคนให้ความสำคัญกับอะไร แต่สำหรับมิ้น มองว่ามันเป็นเรื่องของ “คุณค่าที่ต่างกัน” ค่ะ การทำใหม่อาจไม่ได้ดีเสมอไป คือมิ้นรู้สึกว่า “สิ่งที่เกิดมาก่อน” นั้นมีคุณค่าอะไรบางอย่างอยู่ และในขณะที่เรากำลังก้าวหน้าไป เราทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจอะไรอีกหลายอย่างจากอดีตไปพร้อมกันด้วยค่ะ
- มื่อคิดจะรีโนเวทบ้าน ให้ถามตัวเราก่อนว่าอยากทำไปในรูปแบบไหน ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด เพราะมันคือสิ่งที่เราอยากให้เป็น มันคือที่ของเรา ก็ให้ทำในแบบที่เราสบายใจ...ชอบแบบไหนทำแบบนั้น แต่ถ้าเป็นอาคารเก่า ที่ต้องทุบต้องเจาะ ต้องดูเรื่องโครงสร้างอาคารให้ดีก่อนที่จะไปเจาะหรืออะไร ความปลอดภัยต้องมาที่หนึ่ง เพราะบางทีมันทำอย่างที่เราอยากทำมากไม่ได้ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ บางทีเราอยากให้พื้นที่เปิดโล่ง แต่เสาหรือพื้นไม่สามารถเจาะพื้นได้ ซึ่งพอเรารู้ข้อมูลตรงนี้ เราก็จะรู้ว่าฟังก์ชั่นที่เราต้องการนั้นจะไปได้สุดแค่นี้
- แต่งบ้านด้วยการผสมเฟอร์นิเจอร์ใหม่และเก่าเข้าด้วยกัน หลายคนอาจกลัวว่ามันจะ “ไม่เข้ากัน” แต่มิ้นมองว่า “บ้านคือตัวเรา” เราจะทำยังไงกับตัวเราก็ได้ เรื่องเหล่านี้ไม่มีถูกผิด ฉะนั้นไม่ต้องกลัว ทุกอย่างอยู่ที่ความพอใจของเราว่าโอเคกับสิ่งนั้นหรือเปล่า อยากให้คุณมีความสุขกับการตกแต่งพื้นที่ของตัวเอง มากกว่าการจะต้องไปกังวลว่ามันจะเข้ากันหรือเปล่า หรือใครจะว่าอย่างไร
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ชอบมุมนี้ เพราะส่วนตัวมิ้นชอบ “ไม้จริง” ค่ะ เพราะให้ผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ แบบที่เป็นตัวตนของเขาเอง แล้วพอมาผสมกับโซฟาสีฟ้าแล้วออกมาดูดี คือซึ่งปกติสีฟ้ากับสีน้ำตาลจะไปด้วยกันได้ยาก ถ้าเลือกไม่ดีก็จะไม่สวย อีกอย่างคือมีการนำ “ไม้เก่า” มาใช้เป็นส่วนตกแต่ง (ผนังด้านหลัง) โดยต้องปรุงแต่งอะไรเพิ่มมากเลย แค่นำมาจัดเรียงใหม่เหมือนไอเดียในการทำงานของ “บูรณะสถาน” เลยค่ะ
ส่วนมุมนี้ก็มีความเป็นไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีกลิ่นอายของตัวเอง กลิ่นอายคล้ายๆ งานที่เราทำค่ะ ซึ่งอาจมีการนำเหล็กจากชิ้นส่วนของโครงสร้างอาคารเก่ามาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ เช่น อาจนำเหล็กมาทำชั้นวางของ หรือดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ก็ให้ไอเดียในเรื่องของความพยายามนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่