สัปดาห์นี้ ชวนมาสัมผัสมนต์เมืองเหนือกับสถาปนิกจากเชียงใหม่ ผู้ถ่ายทอด “เสน่ห์ล้านนา” ผ่านภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายและร่วมสมัย คุณอรรถ - อรรถสิทธิ์ กองมงคล ผู้ก่อตั้ง Full Scale Studio
“ที่ Full Scale Studio เราทำทั้งงานภายนอก ภายใน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือครอบคลุมในหลายๆ ส่วน เพราะผมมองว่า ในการทำงานออกแบบ ผมว่าเราไม่ควรแยกว่านี่ Exterior, Interior, Landscape เพราะเรื่องพวกนี้ คือสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา โดยภาพรวมมันก็คือ “งานดีไซน์” สถาปัตยกรรมก็มีเรื่องของระยะในการรับรู้ การเข้าไปใช้งาน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีผลต่อการรับรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทั้งหมด ดังนั้น ตัวผมเองเลยไม่จำกัดสเกลในการออกแบบ เพราะคิดว่าทุกๆ เรื่องล้วนมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันทั้งสิ้น”
“ผมเป็นคนเหนือแท้ๆ แน่นอนว่าในทุกอณูของงานออกแบบ ก็ย่อมมีกลิ่นอายทางวัฒนธรรมผสมผสานอยู่ ในหลายๆ งาน เราพยายามตีความ “ความเป็นเชียงใหม่” ในรูปแบบใหม่ คือไม่ได้หยิบ “ความเป็นล้านนา” มาใช้ตรงๆ ผมว่าเสน่ห์ของเชียงใหม่มีอะไรอีกมากมายนอกจากกาแล เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ และเป็นเมืองที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นในงานคราฟต์ทุกแขนง ทั้งงานผ้า งานจักสาน งานแกะสลัก อันนี้แหละผมว่าคือเสน่ห์ที่แท้จริง ผมเลยเลือกที่จะหยิบเอากระบวนการและรายละเอียดเหล่านี้มาตีความใหม่และสื่อสารผ่านงานออกแบบ เช่น นำแรงบันดาลใจจากกี่ทอผ้ามาออกแบบเป็นโครงสร้างของเตียงนอน (ซ่อนฟังก์ชั่น สามารถปรับโครงเตียงให้แยกหรือชิดกันได้) หรือการนำเอาเครื่องจักสานมาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น คือเราพยายามหยิบเรื่องของพฤติกรรมการใช้งานของสไตล์นั้นๆ มาใช้ ทุกๆ อย่างในงานออกแบบจะมีความคราฟต์และความโมเดิร์ผสมผสานกัน”
นอกจากจะเป็นสถาปนิกที่มีแนวคิดในการออกแบบที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ปัจจุบันคุณอรรถยังเป็นอาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย “สิ่งที่ผมพยายามจะบอกเด็กๆ ทุกรุ่น คือ งานสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบเนี่ย “ไม่ได้ทำเพื่อเราคนเดียว แต่เป็นงานที่ทำเพื่อผู้อื่น” ฉะนั้น การที่เราจะทำอะไรบางอย่าง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้ส่งผลกับเราแค่คนเดียว เราต้องคำนึงว่างานของเราจะไปกระทบกับใครบ้าง มันไม่ได้แค่สร้างความสุขนะ แต่มันอาจสร้างความทุกข์ก็ได้ เราจะเอาแค่ “ความชอบของเรา” เป็นตัวตั้งไม่ได้ สถาปัตยกรรม คือ เพื่อผู้อื่น ส่วนใครจะสามารถสร้างผลกระทบให้เป็นวงกว้างขนาดไหนก็แล้วแต่ ที่สำคัญคือเราในฐานะสถาปนิก...ต้องคำนึงถึงคนอื่น รักคนอื่น และเข้าใจคนอื่นให้เยอะๆ”
เรารับรู้ผลลัพธ์ของสถาปัตยกรรมผ่านการใช้งาน ผ่านมิติ ผ่านช่วงเวลาต่างๆ มันมีความซับซ้อน มีการเดินทางและเคลื่อนที่ เรื่องที่ผมตั้งคำถามในการทำงานสถาปัตยกรรมคือ คือ มีประเด็นไหนไหมที่ให้คุณค่ามากกว่าคำว่า Beauty คือทุกงาน...ผมอยากเอาชนะเงื่อนไขของคำว่า ความงาม คืออยากมองข้ามตรงนี้ไป เพราะยังไงมันก็ต้องดีไซน์ให้งามอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พยายามมองหาคือ มีมิติไหนที่ให้คุณค่ามากกว่าความงามบ้าง เช่น ความสุข ซึ่งเป็นนามธรรม ที่อาจเกิดจากการใช้งาน การได้มาทำกิจรรมร่วมกันบางอย่างผ่านพื้นที่ของเรา คือบางที “ความงาม” เป็นการรับรู้ผ่านการมองเพียงอย่างเดียว แต่ถ้า “ความสุข” มันมีมิติมากกว่านั้น เช่น อาบน้ำไปได้ชมสวนไปก็เป็นความสุข หรือแค่ได้มาทำกับข้าวร่วมกัน ได้มาปาร์ตี้ร่วมกันในพื้นที่ที่เราต้องการ มันก็สร้างความสุขขึ้นมาได้ ฉะนั้น ในฐานะสถาปนิกผมก็พยายามจะมองหา “สิ่งที่เกิดคุณค่ามากกว่าความงาม” ยิ่งถ้าสิ่งนั้นขยายวงกว้างไปในสเกลที่ใหญ่ขึ้น มันก็อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครบางคน หรืออาจเป็นบางสิ่งที่ไปสร้างความดีงามให้ชุมชน นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังในบทบาทและหน้าที่ของสถาปัตยกรรม ก็ได้มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่โปรเจค”
สำหรับผม “บ้านทีดี” ต้องอยู่แล้วมีความสุข ซึ่งความสุขนั้นมีหลากหลายมิติและปัจจัย...อาจเป็นเรื่องคนหรือความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่ง “สถาปัตยกรรม” ต้องเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมเรื่องนั้นๆ เพราะหน้าที่ของสถาปัตยกรรม ไม่ใช่แค่การมีรูปทรงที่สวยเด่นสะดุดตา แต่คล้ายๆว่า มันต้องมีพลังบางอย่างที่จะส่งผลบางอย่างให้กับผู้อยู่อาศัยด้วย เช่น ความสุขของมนุษย์ คือ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ดังนั้นถ้าเราทำให้บ้านของเราให้ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ ทำให้สมาชิกในบ้านออกมาเจอกันเยอะๆ สร้างพื้นที่ส่วนกลางที่ดึงทุกคนให้ออกมาทำกิจกรรมบางอย่าง ก็จะทำให้เกิดชีวิตชีวาภายในบ้าน ทำให้คนได้เชื่อมสัมพันธ์กัน หรือได้ออกมาปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบๆ ทั้งนี้ตัวสถาปัตยกรรมควรจะส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของภาวะน่าสบาย คือเราจะไม่ออกแบบงานที่ดูเซ็กซี่จนเกินไปแล้วอันตรายหรือเซ็กซี่จนไม่ถูกใช้งาน เช่น การทำบันไดที่ไม่มีราวกันตก ซึ่งเป็นการใช้งานที่ไม่เหมาะกับเด็กหรือผู้สูงอายุ เป็นต้น
ด้านวัสดุที่ใช้ในงานออกแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คือด้วยความที่เราเติบโตมากับการใช้ทรัพยากรอย่างจำกัด ผมก็มองว่าการนำเข้าวัสดุที่เดินทางมาไกลๆ มันก็เป็นความสูญเสียเรื่องพลังงาน ต้องระเบิด ต้องตัด แค่การขนส่งก็เป็นการเพิ่มต้นทุนและเผาผลาญพลังงานบางอย่างแล้ว ฉะนั้น การใช้วัสดุที่หาง่ายมันเป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่า ผมก็พยายามหยิบจับสิ่งของที่ดูธรรมดา เช่น ก้อนอิฐ ไม้ วัสดุบ้านๆ มาออกแบบให้ดูน่าสนใจ ที่ใช้บ่อยๆ ก็เช่น การนำอิฐมาทำแพทเทิร์นใหม่ๆ หรืออย่าง Lighting ผมก็พยายามเอาของง่ายๆ เช่น หลอดนีออนธรรมดาไปแฝงอยู่ที่ตัวโครงสร้างบางส่วน ทำเป็นโคมไฟฝังพื้นฝังฝ้า มันก็ออกมาง่ายๆ แต่ก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ อีกอย่างที่ผมชอบใช้คือ ของฟรี! จากธรรมชาติ เช่น ที่ว่าง แสงสว่าง ลมธรรมชาติ บริบท หรือกระทั่งความเป็นเจ้าของ...เหล่านี้ คือ ของฟรีที่มีอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่มี Story บางอย่าง ในเมื่อธรรมชาติมีของฟรีให้เราอยู่แล้ว ทำไมไม่ใช้!!
ผมว่า “ของฟรี” เหล่านี้ ทำให้งานมีความใหม่และทำให้เกิดลักษณะเฉพาะ...การประยุกต์ใช้ของฟรี คือ การทำให้ Space สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมตรงนั้น หรือจะเรียกว่าเป็น Tropical Design ก็ได้ คือสอดคล้องกับภูมิอากาศบริเวณนั้นๆ อย่างเชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีอากาศดีเกือบทั้งปี ทำไมเราต้องไปอยู่ในห้องแอร์ ทำไมไม่ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเยอะๆ (เราไม่ใช่กรุงเทพฯ ที่อุณหภูมิภายในและภายนอกบ้านมีความแตกต่างกันมาก) นี่คือของฟรีจากธรรมชาติที่เรามี เราก็ต้องคิดว่า จะออกแบบอย่างไรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตรงนั้น
นอกจากนี้ ในหลายๆ โปรเจค สิ่งที่ผมพยายามดึงเข้ามาใน Space คือ “พื้นที่สีเขียว” ในรูปแบบต่างๆ อาจจะเป็น Court กลางบ้าน, เป็น Vertical Garden ที่ผนังห้องน้ำ, เป็น Roof Garden ที่ขึ้นไปใช้งานได้ด้วย หรือเป็น Façade ที่แซมกระถางต้นไม้เข้าไป ซึ่งนอกจากให้ความสวยงามแล้วยังช่วยป้องกันลมฝน แสงแดด และความร้อนที่จะเข้ามาภายในอาคารด้วย การแทรกพื้นที่สีเขียวยังไงก็คุ้ม!! ทั้งนี้ ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่น...คือถ้านึกถึงวิธีการชมสวนแบบญี่ปุ่นกับของเรา มันต่างกันนะ ถ้าของญี่ปุ่น...เขาเพ่งมองแล้วเกิดสมาธิ เกิดความงาม เกิดสุนทรียภาพแต่ไม่ได้เข้าไปใช้งาน ซึ่งผมก็ตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องใช้มองอย่างเดียว! เราสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ตรงนั้นได้ไหม? ไปเดินเล่น ดมดอกไม้ ไปให้อาหารปลา มันน่าจะคุ้มค่ากว่า เพราะไม่ได้อยากให้สุนทรียภาพเกิดแค่การมองเท่านั้น ฉะนั้น “สวน” (ที่ให้ประโยชน์ในแง่ฟังก์ชั่นด้วย) จึงเป็นสิ่งที่จะไปแทรกอยู่ในทุกๆ ส่วน ของงานออกแบบของผม
- ความสุขใน “บ้าน” บางครั้งอาจไม่ใช่อะไรหวือหวา แค่เราเห็นบ้านที่ถูกจัดสรรอย่างเป็นระเบียบ สะอาด มีต้นไม้ร่มรื่น เรากลับรู้สึกว่าภาวะแบบนี้ช่างมีความสุขเหลือเกิน...ก็เลยอยากแนะนำว่า จริงๆ แล้วทุกคนสามารถที่จะสร้างพื้นที่แบบนี้ด้วยตัวเองได้ โดยเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการจัดระเบียบหมวดหมู่สิ่งของต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ บางชิ้นที่ไม่จำเป็นก็เอาออกไป ลองเรียบเรียงใหม่ จัดลำดับความสำคัญในการใช้งานและให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่ “ความเป็นระเบียบ หรือ การถูกจัดวางอย่างดี” เป็นสิ่งที่สร้างเสน่ห์ให้พื้นที่ ผมมองว่า “การจัดบ้าน คือ การทดลอง” ไม่มีใครมาบอกว่าแบบนี้ผิดแบบไหนถูก เพราะมันเป็นบ้านของเรา พื้นที่ส่วนตัวของเรา ไม่เห็นต้องแคร์ใครมากถ้ามันส่งเสริมและทำให้เราเกิดความสุข
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ผมชอบมุมนี้ เพราะมองว่าสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในห้องนอน คือ เตียงนอน ทั้งในเรื่องคุณภาพ ดีไซน์ และอารมณ์ของวัสดุ การที่เรามีเตียงดีๆ สักหนึ่งหลัง ประกอบกับเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่ไม่ต้องเยอะมาก มันก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานในห้องนอน คือไม่จำเป็นต้องมีของเยอะ แต่ปล่อย Space โล่งๆ ให้มีพื้นที่ให้หายใจบ้าง จะทำให้รู้สึกสบายและผ่อนคลายมากกว่า
ส่วนมุมนี้ ชอบเพราะรู้สึกว่าสบายตาในการมอง สินค้ามีการจัดหมวดหมู่ในเชิงฟังก์ชั่นที่ชัดเจน ทำให้สะดวกในการเลือกสินค้าครับ