2019 WEEK 43 "เชิงชาย เรียวเรืองแสงกุล"

2019week43
22 ตุลาคม 2019
2019 WEEK 43 "เชิงชาย เรียวเรืองแสงกุล"
ABOUT HIM

 

“สถาปัตยกรรมไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย เพราะจริงๆ มันเป็นอะไรได้มากกว่านั้น!! ผมมองว่าสถาปัตยกรรมต้องให้อะไรบางอย่างกับผู้อยู่อาศัย  ทั้งนี้ หลายคนอาจมองความสัมพันธ์ระหว่างคนกับบ้านว่า เจ้าของคือผู้กำหนดว่า บ้านควรเป็นอย่างไร ผ่านทางนิสัยและพฤติกรรมว่าเขาอยู่และใช้ชีวิตกันอย่างไร แต่จริงๆ ผมว่าสามารถออกแบบให้เป็นมุมกลับได้ คือ ให้บ้านกำหนดคน...ไม่ใช่คนกำหนดบ้าน!!” สัปดาห์นี้ ชวนมาฟังอีกแง่มุมที่น่าสนใจในการออกแบบบ้าน กับ คุณเชิงชาย เรียวเรืองแสงกุล แห่ง Archimontage Design Fields Sophisticated

 

คำว่า บ้านกำหนดคน ในที่นี้ก็หมายถึง การนำงานดีไซน์เข้ามาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย ผ่านการจัดสรรพื้นที่และการเลือกใช้วัสดุ มาเป็นตัวช่วยในการสร้างเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ภายในบ้านให้เกิดขึ้น เช่น บันได เพียงแค่เราทำให้มีขนาดใหญ่และกว้างขึ้น ทำให้ต้องเดินก้าวครึ่งต่อขั้น ก็ส่งผลให้คนต้องตั้งใจเดินหรือต้องมีสมาธิในการเดิน  หรืออาจจะเล่นเรื่องของ Texture หรือสีทาบ้าน คือแทนที่จะทาสีขาวทั้งหลังแบบบ้านทั่วไปซึ่งอาจจะดูจำเจ  เราก็อาจลองออกแบบให้เป็นโทนสีอื่นๆ บ้าง เพื่อบ้านเราจะได้ไม่ซ้ำกับคนอื่น ซึ่งการ “ทำให้บ้านมีความเป็นตัวของตัวเอง” ผมว่าน่าจะทำให้เจ้าของเขาอยากอยู่บ้าน และอาจจะมีการตั้งคำถามกับบ้านของตัวเองเยอะขึ้นก็ได้ ซึ่งมันก็จะดีกับทั้งตัวงานออกแบบและตัวผู้อยู่อาศัยเองด้วย

 

อย่างโปรเจค บ้านที่เสนา ก็เป็นการออกแบบที่เล่นกับเรื่อง “สี” คือบ้านนี้ผมทำสีเป็น 3 เลเยอร์ คือ ชั้น 1 เป็นสีขาว, ชั้น 2 เป็นผนังสีดินเผา (ใช้เทคนิคแต่งผิวด้วยสีฝุ่น) ส่วนชั้น 3 เป็นสีพ่นและมี Texture ที่ความหยาบกว่า หรืออย่างขั้นบันได ผมก็ทำขนาดใหญ่ ขั้นละ 70 ซม. เพื่อให้เขาเดินช้าลงเวลาขึ้นบ้าน เพื่อให้เขาเห็นบรรยากาศของบ้าน และได้ซึมซับความอบอุ่นของบ้านได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการเอาพวกขนาดของงานออกแบบเป็นตัวกำหนดการใช้สอยของบ้านไปด้วยในตัวด้วย

 

หรือโปรเจค บ้านที่ปากเกร็ด ซึ่งเล่นเรื่องของ แสง ค่อนข้างเยอะ โดยบ้านหลังนี้เริ่มต้นจากการที่เจ้าของอยากได้บ้านแนวลอฟต์ที่ดูดิบๆ หน่อย ซึ่งผมก็ตีความออกมาโดยคิดถึงอิฐก่อน แล้วก็คิดต่อว่าถ้าใช้อิฐ ทรงบ้านจะออกมาแนวไหนได้บ้าง ซึ่งพอมาดูทิศทางปรากฏว่า บ้านหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทำให้ด้านหน้าร้อนทั้งวันเลย ผมเลยทำกำแพงอิฐเป็น Façade สูง 9 เมตร เพื่อบังแดด บังฝุ่น และบังการมองเห็นจากข้างนอก เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว  นอกจากนี้กำแพงตัวนี้ยังเป็นเหมือนตัวสร้างเรื่องราวของแสงที่จะเข้ามาในบ้านด้วย เพราะแสงที่เข้ามาในแต่ละช่วงของวันจะมีความแตกต่างกัน ทำให้แพทเทิร์นของแดดหรือความเข้มของแสงที่ส่องเข้ามาในบ้านมีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งเหล่านี้จะมีผลกับอารมณ์ของผู้ที่อยู่อาศัยภายในทั้งหมด และทำให้เขาไม่รู้สึกว่าโดนอะไรมาบล็อกจากข้างนอกมากเกินไป  แต่ทั้งนี้เวลาออกแบบบ้าน ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับ “การมองเห็นจากข้างนอก” มากๆ เลย  คือผมชอบคิดแทนเจ้าของบ้านค่อนข้างเยอะครับ ถ้าอยู่บ้านแล้วคนอื่นมองเข้ามาเห็นเรา ผมว่ามันไม่น่าใช่! ฉะนั้นหลายๆ งานของผมจะค่อนข้างเก็บตัวเอง คือออกแบบให้ซ่อนสายตาจากคนข้างนอกค่อนข้างเยอะครับ

 

สิ่งที่ผมให้ความสำคัญในการออกแบบบ้าน แน่นอนว่าอันดับแรก คือ เจ้าของบ้านต้องชอบ! เพราะถ้าไม่ชอบ เขาก็อาจจะอยู่ด้วยความไม่สบายใจ  ขณะเดียวกันผมก็มองว่ามัน “ควรเป็นผลงานที่ต้องมีอะไรใหม่ๆ ในเชิงวิชาชีพ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปทรง วัสดุ และการแก้ปัญหาการใช้งานพื้นที่ภายในบ้านหรือภายในอาคาร ตัวอย่างเช่น โปรเจค บ้านที่โชคชัย 4 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ทัศนะวิสัยไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ คือ ด้านหน้าเป็นอู่ซ่อมรถ ด้านหลังเป็นปั๊มน้ำมัน ด้านขวาเป็นตึกแถว ด้านซ้ายเป็นที่รกร้าง เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้เขารู้สึกว่าสามารถอยู่ในโลกส่วนตัวของเขาได้  โดยที่โลกภายนอกไม่มารบกวนมากนัก  ผมเลยพยายามออกแบบให้พื้นที่เกิดประสิทธิภาพในการใช้สอยสูงสุด โดยทำทางเดินเป็น “ทางลาด” ทั้งหมด  วิ่งวนอยู่ในบ้าน ตั้งแต่หน้าบ้าน ที่จอดรถ วนเข้าไปห้องทานข้าว ชั้น 1, ห้องนอน ห้องเก็บของ ห้องพระ ชั้น 2 แล้วไปจบที่ห้องนั่งเล่น ชั้น 3 ผมเลือกที่จะทำ “ทางลาด” แทนบันได เพราะอยากได้อะไรใหม่ๆ ให้กับงานออกแบบ คือบันไดภายในบ้านยังมีอยู่ครับ แต่ไม่ได้ยกขึ้นมาให้เด่นที่สุด นอกจากนี้ ยังมีสกรีน (ซึ่งทำจากเหล็ก) รอบบ้าน เหมือนเป็นม่านที่อยู่ข้างนอก เพื่อกรองสายตาคนข้างนอก ไม่ให้เห็นผู้อยู่อาศัยภายในได้ชัดเจนัก และทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนตัวมากขึ้นด้วย และนอกจากช่วยเรื่องการมองเห็นแล้ว ยังช่วยเรื่องแสงและมุมมอง ทั้งภายใน-ภายนอก และให้ความรู้สึกเหมือนมีบ้านอยู่ในพื้นที่ Outdoor อีกด้วย  

 

สำหรับผม คำว่า “บ้าน” ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องต่อกันเป็นห้องๆ แต่มันอาจเป็นความหมายใหม่ของการอยู่อาศัยไปเลยก็ได้ เช่น ห้องนอนคุณอาจไม่ต้องมีผนัง เพื่อแสดงขอบเขตของห้องนอนเลยก็ได้ อาจเป็นห้องนอนต่อกับห้องน้ำ หรือต่อกับเตียงไปเลยก็ได้ มันเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ใหม่ภายในอาคาร ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้หมด และผมว่า  “บ้านที่ดี” ในเชิงของเจ้าของก็ต้องเป็นบ้านที่เขาอยู่แล้วแฮปปี้มีความสุข แต่ในเชิงของผู้ออกแบบเอง...บ้านที่ดี “ต้องเป็นบ้านที่ให้มากกว่าความสุขของคนที่อยู่บ้าน” คือ ผมคิดไปถึงเรื่อง “ทัศนียภาพของเมือง” ด้วย แม้ว่าเราจะออกแบบบ้านหลังเล็กๆ แต่ถ้าเราสร้างงานดีๆ มันก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไปช่วยเพิ่มความสวยงามของเมืองโดยรวมได้

 

  • บ้าน อาคาร หรืออย่างหยาบที่สุดที่เรียกว่า “ตึก” ไม่ได้เป็นสถานที่ที่มีแค่เพียงมิติเดียว ไม่ได้เป็นที่รองรับพฤติกรรมหรือการใช้สอยพื้นที่ หรือเป็นเพียงพื้นที่บรรจุอารมณ์ของผู้คนผู้อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างเงื่อนไข “ที่กำหนดวาระชีวิต” แบบลำลองๆ ได้อีกทอดหนึ่งด้วย...ผ่านทาง ขนาดของพื้นที่ หรือ ห้องที่เหมาะสมกับร่างกายของผู้ใช้งาน ซึ่งแตกต่างกันไป เช่น ถ้าคนร่างเล็กอยู่ในห้องที่แคบก็จะรู้สึกอึดอัด ในทางกลับกันความผันผวนเรื่องสัดส่วนของพื้นที่ที่อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไปในสภาวะอื่นก็ได้ หรือเรื่องประสาทสัมผัส ทั้งพื้นผิว การมองเห็น ได้กลิ่น กระทั่งลมหายใจ...เหล่านี้คือการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องราวที่เล่าบรรยายลงในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งทั้งสิ้น ซึ่งต้องเกิดขึ้น “ในหรือท่ามกลาง” ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเสมอ  เป็นเหตุการณ์ที่ถูกสร้างและบางครั้งก็ถูกทำลายลง (อาจจะเป็นแค่กระเบื้องบิ่นไปสักหน่อย)...แม้เพียงเท่านี้ก็เรียกได้ว่าเป็นดีไซน์หรือความหมายของ “หัวใจหรือบรรยากาศ” ของบ้านได้เลยทีเดียว

 

  • บันไดที่ใช้ภายในบ้าน ปกติจะมีขนาดตามมาตรฐานที่ต้องเดินสบาย มีลูกตั้งกับลูกนอนในสัดส่วนที่เหมาะสม คือไม่ชันเกินไป แต่ฟังชั่นที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเชิงเทคนิคหรือข้อบังคับเกี่ยวกับงานก่อสร้าง แตะต้องไม่ได้พวกนี้บางครั้งก็มาตีกรอบเราทำให้ไม่สามารถดัดแปลงอะไรได้ ในกรณีบันไดแทนที่เราจะออกแบบให้ลูกนอนมีระยะที่พอดีเท้าเพื่อให้การก้าวเท้าเดินได้ต่อเนื่องรวดเร็วที่สุด ในทางกลับกัน ความเร็วของการเดินอาจจะทำให้เราพลาด “ประสบการณ์ระหว่างบันได” ไปด้วยก็ได้ ดังนั้น การออกแบบบันไดที่ทอดลูกนอนให้ยาวขึ้นในระยะที่เหมาะสม  คือเดินไม่สะดุดก้าว  แต่ให้มีจังหวะที่ยั้งตัวเอง “ให้มีเวลากับบันไดและการมองเห็นทิวทัศน์ของบ้านไปด้วย” น่าจะเป็นความรื่นรมย์ของคนอยู่บ้านได้อีกอย่างหนึ่ง

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ผมชอบมุมนี้ เพราะมันดูสบายและมีเรื่องการใช้วัสดุหนัง ไม้ โลหะ (ที่ดูเหมือนแผ่นทองแดงหรือทองเหลืองอยู่ข้างหลัง) ดูกลมกลืนเข้ากันดี ดูแล้วรู้สึกไม่มีพิษมีภัย อารมณ์เหมือนนั่งอยู่บ้านตอนเย็นๆ นั่งอยู่คนเดียว อ่านหนังสือไปเพลินๆ ดูสงบดีครับ

 

 

ส่วนมุมนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนแม่บ้านทำอาหารให้คนในบ้าน บรรยากาศนั่งทานกันแบบสบายๆ ดูเป็นความสุขที่จับต้องได้ อีกทั้งการจัดวางเครื่องครัวแบบนี้มันก็ดูดีไปอีกแบบ คือวางโชว์แบบนี้เลยไม่ต้องเก็บเข้าตู้ปิดมิดชิดเหมือนคนรุ่นเก่า การวางโชว์แบบนี้ ทำให้รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่ยุคไหน เก็บอะไรไว้บ้าง มันเหมือนกับเราได้เห็นประวัติศาสตร์และความทรงจำของบ้านไปด้วยครับ

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex