ABOUT HIM
เพราะหลงใหลใน “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” และชอบที่จะหยิบมาเล่าในรูปแบบร่วมสมัย รวมถึงการประยุกต์ใช้วัสดุที่เรียบง่ายแต่นำเสนอผ่านมุมมองใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้ผลงานออกแบบเขา ไม่เพียงแต่จะโดดเด่นด้วยรูปทรงดีไซน์ที่สวยสะดุดตา แต่ยังเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจได้อีกด้วย สัปดาห์นี้พบกับ คุณบดินทร์ เมืองลือ สถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้ง BodinChapa Architects
“ในแง่ของการออกแบบ เรามีความสนใจเรื่อง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เป็นพิเศษครับ เพราะเราชอบความคลาสสิค ความที่บรรพบุรุษหรือบริบทนั้นๆ มีอยู่ แล้วจับมาร้อยเรียงใหม่ให้เป็นสถาปัตยกรรมที่เราคิดว่าน่าจะดีกับบริบทนั้นๆ...แต่ทั้งนี้คำว่า “พื้นถิ่น” เราตีความไปอีกรูปแบบหนึ่งนะครับ คือหมายถึง วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอาจไม่ต้องมองว่าเป็นต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ซึ่งความ Local ที่หยิบจับมาใช้ อาจจะเป็นในแง่ของวัสดุหรือวิธีการในการดีไซน์” โดยเราก็จะมีการนำมาพัฒนาในรูปแบบหรือมุมมองของคนรุ่นใหม่อีกทีนึง เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน คือเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้มันใช้งานได้ง่ายและตอบโจทย์กับยุคสมัยครับ”
ตัวอย่างเช่นโปรเจค Pasang ซึ่งเป็นคาเฟ่ที่เชียงราย ซึ่งสถานที่ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาที่เป็นไร่สับปะรด และอยู่ตรงข้ามกับศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเจ้าของอยากได้เป็นคาเฟ่ที่นำสินค้าท้องถิ่นมาวางขายได้ และเราก็มองว่าอยากจะทำตัวสถาปัตยกรรมที่ตอบรับกับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาใช้งานด้วย เราจึงเลือกที่จะใช้โครงสร้างเป็นเหล็กดีไซน์ร่วมสมัย แล้วใส่ดีเทลผนังบานเกล็ดที่ทำจากวัสดุ “ไม้” เข้าไป (ปกติบานเกล็ดโดยทั่วไปจะทำจากกระจกหรือกระจกฝ้า) เพราะผมเห็นว่าแถวนั้นไม้เก่าเยอะมาก ตัวเจ้าของเองก็มีไม้เยอะ ก็นำมาประยุกต์เป็น “บานเกล็ด” ซึ่งผมมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่เราเห็นกันมากว่า 20 ปี เราก็ลองมาเปลี่ยนวัสดุ ซึ่งก็ทำให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ดูกลมกลืนกับพื้นที่...ถ้าเป็นชาวบ้านแถวนั้นเห็น เขาก็จะรู้สึกว่า อ๋อ! บานเกล็ดนี่นา หรือคนรุ่นใหม่อาจรู้สึกว่า มันดูน่าสนุกและด้วยวิธีการที่มันเป็นบานเกล็ด ก็อาจจะรู้สึกว่าเอาไม้มาทำแบบนี้ก็ได้เหรอ!
แล้วก็ยังมี Gimmick ที่เราใช้โช้ครถยนต์มาทำเป็นบานกระทุ้งด้วย เพราะฟิตติ้งปกติไม่สามารถรับน้ำหนักไม่พอ เราก็ได้แรงบันดาลใจมาจากประตูหลังรถยนต์ จึงลองหยิบมาดัดแปลงใช้งาน เวลาเปิดร้านหน้าบานก็จะกระเด้งขึ้นมาเป็นชายคา ช่วยกรองแสง และทำให้ได้พื้นที่แบบ Semi Outdoor อีกด้วย หรืออย่างโปรเจค Tamarind Bistro & Music House ซึ่งเป็นร้านอาหารที่เชียงราย เราก็เลือกที่จะใช้ “วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่” นั้นๆ งานนี้เป็นการรีโนเวทบ้านไม้เก่าให้เป็นร้านอาหาร ตอนแรกที่เข้าไปดูพื้นที่ บ้านก็อาจจะดูน่ากลัวหน่อยๆ เพราะเป็นบ้านไม้ทึบๆ เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้ตัวอาคารดูน่าสนใจ ก็พบว่าช่วงเวลาของการใช้อาคารจะเป็นช่วงเย็นและกลางคืน เราเลยเลือกใช้วัสดุ “โพลีคาร์บอเนต” แบบที่เขาใช้ทำหลังคา แต่เรานำมาทำผนัง จากที่ของเดิมเป็นผนังไม้ทึบ เราก็เปลี่ยนเป็นผนังไม้เฉพาะครึ่งล่าง ส่วนครึ่งบนก็ใช้โพลีคาร์บอเนตตีซ้อนเกล็ดขึ้นไป ทำให้เป็นผนังที่มีความโปร่งแสง เพราะเราคิดถึง Effect ที่เราอยากให้เกิดทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งในเวลากลางวัน ถ้าอยู่ข้างในแล้วมองออกมาข้างนอกก็จะเห็นเงาใบไม้ตกกระทบแสง ส่วนกลางคืนพอเปิดไฟ ก็จะเห็นตัวอาคารมี Lighting เรืองแสงออกมา ซึ่งทำให้ดูน่าสนใจ
ผมว่าทีมเราถนัดเรื่องของ “การหยิบจับหรือมองเห็นสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด” แล้วมาตั้งคำถามต่อว่า สิ่งนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นอะไรได้บ้าง นอกจากจะถูกนำมาใช้แบบนี้แล้วจะสามารถนำไปใช้อะไรอย่างอื่นได้อีกบ้าง คือผมสนใจเรื่องความไม่ Fix ความ Flexible ของพื้นที่และสิ่งต่างๆ อย่างถ้าเป็น Space บางทีเราก็จะตั้งคำถามว่า นอกจากการเป็นห้องสี่เหลี่ยมแล้ว มันจะกลายเป็นอะไรได้อีกบ้าง เราเลยชอบที่คิดกลไกหรือว่า Space อะไรที่มันซ่อนอยู่ในนั้น
ในแง่ของการเลือกใช้วัสดุ ผมมองว่า Local Material มันมีความน่าสนใจในแง่ของสัจจะวัสดุ คือ เราไม่ต้องเติมแต่งวัสดุจนเกินไป แต่เอามาใช้ให้มันเป็นธรรมชาติที่สุด เพราะรู้สึกว่าความมีเสน่ห์มันอยู่ที่ “ความเป็นวัสดุของมันเอง” ความคราฟต์ในตัวมัน ผมมองในแง่ของความรู้สึกที่ได้ คือดูอบอุ่นและดูเป็นมนุษย์ดีครับ
เวลาออกแบบสถาปัตยกรรมขึ้นมาสักอัน ความคาดหวังที่นอกเหนือจากเรื่องของความงาม...ถ้าเป็นงานในเชิงพาณิชย์ แน่นอนว่าเราก็คาดหวังให้เขาขายดีนะ แต่ประเด็นที่สองคือ เราคาดหวังว่ามันอาจจะเปลี่ยนมุมมองของการมองเห็นของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ว่าสิ่งที่เขาเคยเห็นมา มันอาจจะมองไปอีกรูปแบบนึงก็ได้ ตัวสถาปัตย กรรมอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ที่พบเห็นเกิดแรงบันดาลใจ และสามารถไปคิดหรือพัฒนาต่อยอดกับสิ่งอื่นๆ ได้อีก
- เวลาจะสร้างบ้านใหม่ แนะนำให้คุณใช้เวลาทบทวนในสิ่งที่จะสร้างหรือลงทุนกับตัวอาคารให้มากที่สุดครับ อยากให้คิดถึง Space การใช้งานเป็นหลัก ไม่ใช่แค่อยากได้กี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าเรื่องของฟังก์ชั่นคือความชอบของแต่ละคนที่แตกต่างกัน โดยควรจะต้องตั้งโจทย์กับตัวเองหลายๆ โจทย์ เช่น ชอบอยู่กับวัสดุแบบไหน หรือมีความสุขที่จะได้อยู่ ได้เห็นหรือได้สัมผัสกับวัสดุแบบไหน แล้วพยายามสื่อสารให้สถาปนิกหรือช่างทราบให้มากที่สุด
- ถ้ามีอาคารเก่าอยู่แล้วแต่รู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ชีวิต ก็สนับสนุนให้รีโนเวทนะครับ เพื่อที่คุณจะได้สามารถใช้พื้นที่นั้นให้คุ้มค่าได้อย่างแท้จริง อีกอย่างผมก็มองว่า “เหมือนเป็นการปลุกลมหายใจ” ของสถาปัตยกรรมเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคำว่ารีโนเวทก็ไม่ได้หมายความว่าต้องไปทุบไปรื้ออะไรมากมาย บางทีคุณอาจจะแค่ทาสีใหม่ เปลี่ยนวัสดุปิดผิวใหม่ ทำงานระบบบางอย่างใหม่ แค่นี้ก็ปลุกชีวิตให้ตัวอาคารได้แล้วครับ
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ผมชอบวิธีการจัดวางของ Space ตรงนี้ เพราะมันให้ความรู้สึกของการเคลื่อนย้ายได้ สามารถปรับเปลี่ยนการจัดวางได้หลายรูปแบบ มันให้ความรู้สึกของความไม่ยึดติดในการใช้พื้นที่ ไม่จำกัดว่าต้องวางของแบบนี้ใช้แบบนี้เท่านั้น ก็เป็น Inspire ในแง่ของการจัดสรรพื้นที่ในบ้านได้ครับ
ส่วนมุมนี้ ชอบตรงที่มันให้ความรู้สึกของความเป็นบ้านดีครับ ให้ความรู้สึกอบอุ่นด้วยวัสดุและโทนสีภาพรวมทั้งหมด คือเวลาแต่งบ้านถ้าจะไม่ให้เบื่อง่าย ก็ควรเลือกโทนสีที่ไม่มีสีสันมากจนเกินไป เพราะถ้าเผื่อวันนึงเราโตขึ้น ความชอบเราก็อาจจะเปลี่ยนไป ฉะนั้นก็พยายามเลือกโทนสีเทา สีขาว หรืออะไรที่เป็นโทนพื้นๆ ก็จะเป็นอะไรที่ทำให้เราชอบได้นาน ใช้ได้ไม่เบื่อ