ABOUT HIM
สำหรับคนทำงาน “ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ” ก็ย่อมอยากทำอะไรให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปเสมอ สัปดาห์นี้ มาพูดคุยกับอีกหนึ่งสถาปนิกผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการออกแบบมายาวนานกว่า 20 ปี และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนากระบวนการทำงาน เพื่อหวังยกระดับคุณภาพงานออกแบบในวงการสถาปัตยกรรมให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม พบกับ คุณแตน - วรัญญู มกราภิรมย์ แห่ง TA-CHA Design
“ผมอยากเห็นผลงานที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ของประเทศเรา คือส่วนหนึ่งมันเป็นมิติทางธุรกิจที่คงไม่มีใครอยากไปให้บริการลูกค้ารายเล็กๆ ในที่ห่างไกล ซึ่งผมก็เข้าใจแต่ก็อดคิดไม่ได้ครับ เพราะเวลาเราไปต่างประเทศ แม้เราจะขับรถออกไปนอกเมืองไกลๆ แต่เราก็ยังคงพบเห็นงานสถาปัตยกรรมดีๆ สวยๆ งานเนี้ยบเรียบร้อยอยู่เลย ในขณะที่เวลาเราไปเที่ยวต่างจังหวัด เราอาจจะเห็นงานออกแบบไอเดียดีๆ แต่เรามักจะเจองานก่อสร้างที่ไม่เรียบร้อย คือผมเข้าใจว่าขาก็พยายามทำเท่าที่เขาทำได้แล้วล่ะ แต่ในฐานะสถาปนิกเราก็อดไม่ได้ที่จะคาดหวังและอยากให้ “คุณภาพงานดีขึ้น” กว่านี้ครับ ซึ่งการจะยกระดับวงการและคุณภาพงานให้ออกมาดีได้ เราต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างสถาปนิก ซัพพลายเออร์ ผู้รับเหมา และลูกค้า ก็เป็นความท้าทายมากที่จะต้องขับเคลื่อนทุกคนในทีมให้ไปด้วยกันได้ ซึ่งผมก็ตั้งใจและพยายามจะทำอย่างนั้นอยู่ครับ”
เวลาทำงานออกแบบ ผมจะเน้นใช้ Local Product หรือวัสดุในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเหตุผลเรื่องค่าขนส่ง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมเชื่อมั่นว่า ซัพพลายเออร์ของเรามีตัวเลือกมากมาย มันต้องมีสิ่งที่ถูกใจเจ้าของบ้านบ้างล่ะ ไม่น่าจะโหดกันขนาดว่าไม่เอาเลย...ต้องบินไปซื้อต่างประเทศเท่านั้น!! (เว้นแต่ถ้าเจ้าของเขาชอบมากๆ อยากได้มากๆ ก็จัดไป) ฉะนั้น เบื้องต้น ผมจะแนะนำให้ใช้วัสดุท้องถิ่นก่อน ผมสนับสนุนคนไทยเรากันเองก่อน ถ้าทำโปรเจคต่างจังหวัด ผมก็จะบอกให้ใช้ไม้ท้องถิ่น จากโรงงานไม้แถวนั้น ถ้าอยากใช้ Metal Sheet ก็ใช้แถวนั้นแหละ ผมกับพาร์ทเนอร์ (คุณแชมป์ - สณทรรศ ศรีสังข์) เราคุยกันเสมอว่า เราต้องออกแบบให้ช่างไปทำงานต่อได้ง่าย และในกระบวนการทำงานก็จะเป็นการแชร์ไอเดียระหว่างช่างท้องถิ่นกับผู้ออกแบบ เช่น เรื่องวิธีต่อไม้ วิธีย้อมไม้ อย่าง "การเคลือบไม้" ปกติช่างเขาก็จะคิดถึงแต่พวกแลคเกอร์ เราก็บอกว่างานมันต้องมีโอกาสเก่าสูง “เราต้องไม่ไปฝืนธรรมชาติ” ผมจึงเลือกที่จะใช้พวก Oil มากกว่าพวกย้อมไม้ เพราะไม้ที่เราใช้เป็นไม้เก่า อาหารปลวกหายไปหมดแล้ว โอกาสที่จะมีปลวกจึงไม่มีแล้ว ความบิดตัวก็ลดลง คือผมจะให้ไอเดียกับช่างท้องถิ่นว่า ในกรุงเทพฯ ผมทำแบบนี้ ช่างลองไปหาของแถวนั้นที่คุณภาพเทียบเท่ามาลองทำตัวอย่าง ถ้าอยากได้ เราก็ค่อยๆ ต่อยอดกันพัฒนากันไป สักวันคงจะละลายความคิดที่ว่าจะหาผู้รับเหมาหรือซัพพลายเออร์ดีๆ ต้องมาหาที่กรุงเทพฯ ให้เบาบางไปได้
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากอธิบายให้ทุกคนที่กำลังจะ “สร้างบ้านของตัวเอง” ทราบ คือ เวลาออกแบบบ้านมักมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่เดินเข้ามาหาเรา มาบอกว่าชอบงานนี้! อยากได้บ้านหน้าตาแบบนี้! บางทีเอารูปจาก Pinterest ยัดใส่มือเราเลย บอกว่าทำให้หน่อย! แต่ความจริงแล้ว “มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูป” นะครับ!! คือคุณสามารถบอกว่าอยากได้บ้านแบบไหน แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปเอา “รูปลักษณ์” บ้านแบบที่คุณชอบ ไปสร้างออกมาให้คุณได้...เพราะการจะสร้างบ้านสักหลังเราต้องทำการบ้านกับลูกค้ามากพอสมควร
“การจะได้มาซึ่งรูปแบบหรือรูปลักษณ์บ้าน จะต้องมาจากการสัมภาษณ์พูดคุยและพัฒนาต่อยอดในหลายๆ อย่าง ผมตอบไม่ได้หรอกว่า คุณจะได้บ้านหน้าตาแบบนี้ วัสดุแบบนี้หรือเปล่า เพราะมันต้องพิจารณาประกอบกันจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนิสัยและไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน ความต้องการของสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงสภาพของทำเลที่ตั้งด้วย ลองคิดดูว่า “ลายนิ้วมือของคนแต่ละคนยังไม่เหมือนกันเลย” ฉะนั้นแต่ละ Site เขาก็มีตัวตนของเขา ซึ่งผมก็อยากอธิบายว่าถ้าคุณชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไรเราคุยกันได้...แต่จะเป็นไปไม่ได้เลย ที่คุณชอบคาแรคเตอร์แบบนี้ อยากเอาไปไว้ตรงนี้ สร้างให้หน่อย!!”
หัวใจหลักในการออกแบบของเราคือ ตัวลูกค้า ครับ เราต้องสัมภาษณ์พูดคุยกันก่อนอันนี้สำคัญที่สุด ถ้าเขามาหาเราแบบเริ่มจากศูนย์ ไม่มีโจทย์อะไรเลย ผมก็ต้องเริ่มสัมภาษณ์ก่อนว่าตัวเขาเป็นยังไง และถ้าเป็นไปได้หรือเขาอนุญาต ผมก็จะขอเข้าไปดูห้องต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ที่เขาใช้ชีวิต และข้อมูลต่างๆ ที่ได้ จะถูกนำไปสอดแทรกในงานดีไซน์ที่จะออกมาครับ
อีกอย่างที่เน้นคือเรื่อง Sustainable Design ซึ่งผมมักใส่เข้าไปในงานออกแบบเสมอ เพราะผมว่าคุณมีแต่ได้กับได้! ไม่มีเสีย...โอเคว่าอาจจะมีเม็ดเงินที่ต้องลงทุนในครั้งแรก เช่น แผงโซล่าเซลล์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ถูกลงมากและคุ้มที่จะลงทุน ก็ลองดูว่าเราสามารถนำกระแสไฟไปใช้ตรงไหนได้บ้าง แล้วจ่ายเป็นจุดๆ ไป ก็เป็นสิ่งที่ช่วยประหยัดเงินได้ไม่น้อย (3-5ปี ก็คืนทุน), การนำน้ำจากแอร์มารดต้นไม้, หรือถ้าจะไปไกลขึ้นก็อาจนำน้ำที่เราอุปโภคแล้วไปบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และบางทีผมก็จะออกแบบให้ลูกค้าอยู่ได้แบบไม่ต้องเปิดแอร์ โดยการใช้เรื่อง Natural Ventilation เข้ามาช่วย
ตัวอย่างโปรเจค โรงน้ำแข็ง Premium Ice ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่แบบ Mixed Use คือเป็นที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ และโรงงาน อยู่ในพื้นที่ เดียวกัน หลายคนอาจรู้สึกสะดุดตากับ Façade รูปเกล็ดน้ำแข็งที่ดูแปลกตา แต่ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ Internal Space ซึ่งผมคิดว่าการเป็นอาคารใหญ่ๆ แล้วเปิดแอร์ทั้งหมด คุณจะเสียค่าแอร์มหาศาล ฉะนั้นเราสามารถบริหารจัดการได้ในบางจุดที่เกินจำเป็น คือ Space ภายในส่วนที่เป็นออฟฟิศจะมีก้อนย่อยที่ติดแอร์ แต่พื้นที่ระหว่างก้อนย่อยที่เป็นทางเดินซึ่งเราไม่ติดแอร์ แต่ออกแบบให้อากาศไหลเวียน ทำ Skylight ให้แดดส่องลงทำ ทำ Façade ให้โปร่ง เพื่อให้ได้ทั้งแสงและลม เพราะ “แสงธรรมชาติ” เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพของคนทำงานในออฟฟิศดีขึ้น ทำให้ตาเราไม่ล้าและยิ่งสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้าไป ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทำงานที่ดูจริงๆ จังมากเกินไป (แบบที่อยู่ในห้องปิด เปิดไฟ นั่งทำงานกัน 8 ชม.) และในส่วนของพื้นที่สำหรับผู้มาติดต่อก็ทำให้ดูไม่เป็นทางการมาก โซนพื้นที่ทำงานก็เป็นแบบ Co-working space ให้พื้นที่ตรงกลางที่มีความยืดหยุ่น เกิดการเคลื่อนไหวภายในเพื่อให้พนักงานรู้สึกกระฉับกระเฉง
ถามว่าถ้าเราจะออกแบบแค่ให้สวย ฟังก์ชั่ครบ ลูกค้าอยากได้อะไรก็ทำให้ โดยไม่ต้องสนใจเรื่อง Sustainableก็ได้นะ...แต่คุณคงต้องไปหาคนอื่นแล้วล่ะ คือผมไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราพูดคือคัมภีร์นะ เพียงแต่ว่าผมเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเดินทางมาแบบนั้น และถ้ามันจะเป็นสิ่งที่ไปช่วยลูกค้าได้ผมก็ยินดี ผมว่าตอนนี้ทิศทางก็มาในแนวรับผิดชอบต่อโลกเยอะแล้วนะครับ อยู่ที่ว่าอาชีพไหนจะช่วยหรือเป็นส่วนหนึ่งได้มากน้อยแค่ไหน มันเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งหากเรากับลูกค้าจูนกันไม่ติด ก็แสดงว่าสิ่งที่ผมเสนออาจไม่ใช่คำตอบของเขา งั้นเราก็จากกันด้วยดีเถอะครับ (ยิ้ม)
และถ้าพูดถึง Internal Space สำหรับบ้าน ผมอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับ Living room เป็นพิเศษ แต่ผมจะถามลูกค้าก่อนว่า ไลฟ์สไตล์วันธรรมดาและวันเสาร์อาทิตย์เป็นแบบไหน ถ้าเขาไม่มีไอเดีย ผมก็จะนำเสนอว่า น่าจะทำพื้นที่ Living room ที่ไม่ได้มีไว้แค่ใช้ดูทีวีอย่างเดียวดีไหม คือเราไม่อยากให้คำจำกัดความที่ชัดเจน แต่เราควรทำ Space ให้มีความยืดหยุ่นและดูอบอุ่น เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวมานั่งเล่นหรือมาทำกิจกรรมกันได้นานๆ โดยผมจะผลักฟังก์ชั่นนี้ไปอยู่ทางทิศเหนือ เพราะแดดไม่จ้า เปิดให้โล่งๆ รับลมได้ สามารถอยู่แบบไม่ต้องเปิดแอร์ได้ และถ้าพอมีพื้นที่ผมก็จะใช้ “ชาน” มาเป็นตัวเชื่อม เพื่อเวลาที่เปิดออกไปก็จะได้พื้นที่แบบ Semi Outdoor ทำให้ Space เหมือนไหลกันได้เอง คือถ้าเจ้าของบ้านต้องการพื้นที่แบบปิดจริงๆ เพราะต้องการความเป็นส่วนตัวผมก็ยินดีทำให้ แต่ถ้าไม่จำเป็นผมก็ว่าทำเป็น “พื้นที่โล่ง” จะดีกว่า เพราะจะทำให้คุณเหมือน 1+1 เท่ากับ 3 คือถ้าเราทำห้องแบบกั้นพาร์ทิชั่น ไม่ว่าจะผนังเบาหรือก่ออิฐ โอกาสที่เราจะมีพื้นที่ที่ 3 จะน้อยมาก เราก็จะได้แค่ห้องที่ 1 และ 2 แค่นั้น
ผมมองว่า “บ้านต้องมีโอการที่จะปรับหรือยืดหยุ่น” คือพร้อมที่จะต่อเติม ตัดทอน หรือแบ่งพื้นที่ไปทำอย่างอื่นได้ เทรนด์ปัจจุบันนี้ คนมีลูกกันน้อยลง ส่วนลูกหลานที่ไปเรียนต่างประเทศแล้วไม่กลับมาก็มี บางทีคุณทำบ้านเตรียมพื้นที่ให้เขา สุดท้ายไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็มี หรือบางคนก็ให้ออกแบบบ้านเพื่อเตรียมรองรับการอยู่อาศัยในวันที่เขาสูงวัยขึ้นก็มี เช่น ให้เตรียมงานระบบรอไว้ที่ห้องนั่งเล่นเลย เผื่อวันนึงที่คิดจะกั้นห้องนอนอยู่ชั้นล่างจะได้ไม่ต้องขุดรื้อทำใหม่ ฉะนั้น เวลาออกแบบบ้าน ผมจะถามเจ้าของบ้านก่อน สำหรับท่านที่ไม่ได้มีแผนผังจริงจัง ผมก็มักจะทำ Space แบบนี้เผื่อไว้ก่อนเสมอ คือให้พื้นที่สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้ “เวลาทำงาน ผมไม่ได้ตีกรอบระหว่างความเป็น Architect และ Interior นะ ผมว่ามันไม่มีขอบเขตหรือรอยต่อระหว่างกันที่ชัดเจน สิ่งที่ผมออกแบบเสนอลูกค้าไป ส่วนใหญ่มันก็จะพัวพันกันไปเรื่อยๆ และออกมาเป็นภาษาเดียวกัน ผมคิดว่าเราเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบที่พักอาศัยอย่างเต็มรูปแบบมากกว่าครับ”
- สิ่งที่ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ คือ ต้นไม้และแสงแดด สำหรับคนที่อาจจะมีพื้นที่เล็กๆ อย่างคอนโดหรือตึกแถว ต้นไม้และแสงธรรมชาตินี่แหละช่วยคุณได้ อย่างแสงแดด..เขาขยันมาหาเราทุกเช้าเลย เราก็ควรใช้ประโยชน์จากเขา ถ้าอยากทำอะไรสนุกๆ ก็อาจจะลงทุนสักหน่อย ทำระบบโซล่าเซลล์ไปต่อกับโคมไฟน่ารักๆ แค่นี้ก็สุขแล้ว ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมีของเล่นให้เราลองเยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องพึ่งสถาปนิกหรืออินทีเรียร์เสมอไป
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ชอบมุมนี้ เพราะดูเป็นการตกแต่งที่กล้าใช้วัสดุ คือเลือกวัสดุที่ตัดกันมา Mix & Match ให้ดูน่าสนใจ มีการเอาอิฐมาตัดกับเหล็ก ข้างหลังก็เป็นปูนเปลือยและมีการจัดพร๊อพหนักๆ ทำให้ดูวัยรุ่นหน่อย ดูเป็น Space ที่น่ามาแฮงค์เอ้าท์กับเพื่อนๆ ในแง่ของการตกแต่ง จริงๆ ก็ไม่มีสูตรสำเร็จเรื่องการผสมวัสดุ แต่ส่วนตัวผมว่าไม่น่าเกิน 3 อย่าง จะกำลังดี แต่ถ้าอยากจะเกินกว่านั้น ก็น่าที่จะมีพระเอก พระรอง คือไม่ใช่ว่า มี 3-4 อย่าง แล้วไปให้น้ำหนักเท่ากันหมด
ส่วนตัวผมชอบเฟอร์นิเจอร์ไม้นะ มันดูสวยดี อย่าง “ชั้นวางของ” ข้างหลัง มีการนำโครงเหล็กมาใช้และทำเป็นสีสนิม ซึ่งก็เป็นวัสดุที่กลับมาฮิตใหม่ในช่วงหลัง มันเป็นวัสดุอีกตัวหนึ่งที่ให้ความรู้สึกเหมือนสูงสุดคืนสู่สามัญ แสดงถึงธรรมชาติถึงตัวตนของมันที่ขึ้นสนิมได้ ซึ่งพอเสาเป็นสีเข้ม ก็ทำให้ชั้นไม้ดูลอยขึ้นมาเลย พร็อพที่วางอยู่ก็ดูเด่นไปด้วย