ABOUT HER
สายรีโนเวทก็มา!! สัปดาห์นี้ชวนมาทำความรู้จักกับ คุณต้นอ้อ - สุพรรณา จันทร์เพ็ญศรี แห่ง FATT! Studio สตูดิโอออกแบบที่มีผลงานรีโนเวทเจ๋งๆ มากมาย ทั้งบ้าน ร้านอาหาร และคอนโด
“ที่ FATT! Studio งานส่วนใหญ่เป็นงานออกแบบที่พักอาศัยค่ะ ทั้งออกแบบใหม่ก็มี งานรีโนเวทก็มา โดยเฉพาะช่วงนี้...อาจจะด้วยสภาพเศรษฐกิจหรืออย่างไรไม่ทราบ งานรีโนเวทเข้ามาเยอะมากค่ะ ซึ่งจริงๆ ต้นอ้อก็มองว่า การที่ลูกค้าตัดสินใจรีโนเวท แสดงว่า “เขาให้คุณค่ามากกว่ามูลค่า” นะคะ เพราะงานรีโนเวทไม่ได้หมายความว่าราคาประหยัด บางทีมันอาจแพงกว่าการสร้างใหม่ด้วยซ้ำ เพราะจะมีการตัด-เปลี่ยน หรือ เสริมโครงสร้างบางอย่างเข้าไป ซึ่งก็จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายตรงนั้นขึ้นมา แต่ลูกค้าก็ให้คุณค่ากับพื้นที่ที่เขาจะได้มาซึ่งจะตรงกับความต้องการใช้งานจริงๆ เขาจึงยอมจ่าย”
การทำงานรีโนเวท คือการทำงานกับ “อะไรเอ่ยมีอยู่แล้ว?!” ดังนั้น ใครที่อยากรีโนเวทบ้าน คุณต้องตอบตัวเองให้ชัดเจนจริงๆ เลยว่า คุณต้องการรีโนเวทหรือต้องการจะสร้างใหม่กันแน่ คุณต้องลองพิจารณาว่า "สิ่งที่มีอยู่เดิมนั้น" มีคุณค่าอะไรกับคุณที่มากกว่าการที่จะไปซื้อที่แล้วสร้างใหม่ เพราะก็มีลูกค้าหลายคนที่พอเห็นราคาและเจอเงื่อนไขต่างๆ เช่น ข้อกำหนดด้านกฎหมาย หรือ ความแข็งแรงของโครงสร้างเดิม...แล้วถอดใจ ไม่ทำแล้วก็มี ไหนจะเรื่องเวลาอีก คือถ้าเป็นบ้านสร้างใหม่ที่เริ่มจากศูนย์ก็จะมีระยะเวลาที่ค่อนข้างชัดเจน แต่การรีโนเวทไม่ใช่!! เราต้องเข้าไปที่ Site ไปศึกษาสภาพที่เป็นอยู่ พอออกแบบเสร็จแล้วผู้รับเหมาเข้าไปเปิดพื้นที่ก็พบว่า อ้าว...ทำไม่ได้ พบว่าคานไม่โอเค ต้องมีการปรับแบบกันอีก กระบวนการทำงานก็จะเป็นลักษณะ “เดินหน้า-ถอยหลัง” กันอยู่อย่างนั้น จึงจะใช้เวลานานกว่าการสร้างใหม่ ก็ต้องบอกให้ลูกค้าหลายๆ ท่าน เข้าใจในจุดนี้และทำใจกันไว้ก่อนเลยค่ะ
ในแง่ของ “วัสดุ” ด้วยความที่เป็นงานรีโนเวท บางทีเราก็ต้องไปรื้อวัสดุบางอย่างออกมา เคยเจอขนาดปลวกกินยาแนวก็มี!! (ช่างยังตกใจ เพราะไม่เคยเจอ) ก็ต้องแก้ปัญหาโดยการวางท่อปลวกใหม่ แล้วทำระบบในการ Maintenance ปลวก มด แมลงสาบ หนู ให้ใหม่...เรารู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะกับสิ่งที่เป็นสัตว์ เราควบคุมไม่ได้ ในกรณีที่ลูกค้าต้องการใช้ “ไม้จริง” เราก็แนะนำให้คุณเลือกใช้ไม้ที่มีคุณภาพ แต่ถ้ามีงบประมาณจำกัด ก็อาจเลือกใช้ Engineered Wood แทน หรือถ้าไม่อยากบำรุงรักษาก็อาจใช้เป็นไม้เทียมหรือกระเบื้องยางก็ได้
คือเราในฐานะผู้ออกแบบ เราต้องแชร์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจให้ลูกค้าให้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าเลือกเองแล้วทำเข้าไปให้เขาเข้าไปอยู่เลย ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เขาไปซื้อบ้านสำเร็จรูปมาแล้ว ถ้าลูกค้าที่มาทำบ้านกับต้นอ้อ แล้วออกแนวเพิกเฉย บอกให้เราเลือกเลย! อะไรก็ได้! แบบนั้นต้นอ้อจะไม่ยอม ต้องเกิดชั่วโมงเลคเชอร์เรื่องวัสดุขึ้นมาแล้วล่ะค่ะ (หัวเราะ) ถ้าให้แนะนำ คือ การเลือกใช้วัสดุทุกอย่างควรประกอบด้วยเหตุผลนะคะ เช่น ถ้าเราเลือกใช้ไม้ นั่นเพราะเราต้องการโชว์ความ Smooth และ Age ของมัน รวมถึงลักษณะทางกายภาพที่จับแล้วอุ่น มันเป็น Sense ของไม้ แต่ถ้าบางคนอาจไม่สนใจว่าต้องสัมผัสแล้วรู้สึก เพราะอาจอยากแค่ “เห็นว่าเป็นไม้” ถ้าอยากนั้นก็เลือกลามิเนตก็จบค่ะ ทำความสะอาดได้ง่ายด้วย
ในการออกแบบที่พักอาศัย...ต้นอ้อให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่อง “ความต่อเนื่องของการใช้งานพื้นที่” ค่ะ ซึ่งทำได้หลายลักษณะ อาจจะด้วยเรื่องของระดับ ปริมาณแสง อุณหภูมิ และสีสัน ซึ่งโจทย์ที่ได้มาจากลูกค้าก็เหมือนสูตรคณิตศาสตร์ ที่เราต้องลองจับฟังก์ชั่นทุกอย่างใส่เข้ามา แล้วไปหาสูตรที่ลงตัวและเหมาะกับเขาและเหมาะกับบ้านหลังนี้ แต่เวลาที่นำโจทย์ของลูกค้ามาวางเรียงกัน บางครั้งเราก็พบความขัดแย้ง...แต่ด้วย “ความขัดแย้ง” นั้น ก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ให้เราได้เรียนรู้ คือถ้าเราเข้าใจเขาดีมากพอ เราก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ตอบโจทย์เขาได้ มันเหมือนโจทย์คณิตศาสตร์ แต่วิธีการทำสูตรไม่ใช่การยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ เช่น ถ้าพูดถึงห้องนอน เปิดประตูเข้าไปแล้วจะเจอผนังมากั้นไว้ ข้างหลังต้องเป็นเตียง เป็นหน้าต่าง ข้างๆ ต้องเป็น Walk-in Closet แล้วต่อด้วยห้องน้ำ เราต้องลืมสูตรหรือวิธีคิดแบบนี้ไปก่อนค่ะ แต่มันต้องเกิดจากชุดข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเขา พฤติกรรม หรือชีวิตประจำวันของเขา
ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นหลักในการออกแบบเลย คือ สิ่งที่เรากำลังจะทำนั้น ถ้าจะเป็น Architecture ขึ้นมา มันคือการบรรจุเรื่องราวของผู้ที่อยู่อาศัยในนั้น ดังนั้น แต่ละ Space ที่ต่อเนื่องกัน มันไม่ใช่แค่ผนัง ไม่ใช่แค่สิ่งที่เอามากั้นสองห้องนั้นเฉยๆ แต่มันจะเป็นตัวเปลี่ยน...เปลี่ยนผ่านความต้องการใช้งานจากตรงนี้มาอยู่ตรงนี้ มันเป็นการออกแบบที่ต้องผสานกันทั้งในเรื่องการใช้งาน วัสดุ และเทคนิค และเมื่อจะมอบสิ่งนี้ให้กับผู้อยู่อาศัย เราจะมอบแค่เปลือกไม่ได้แต่เราต้องมอบความรู้ความเข้าใจให้กับเขาด้วย งานออกแบบเป็นภาษาทางสถาปัตยกรรม ซึ่งหมายถึงความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ออกแบบกับผู้อยู่อาศัย เหมือนเป็นภาษาของเราสองคน พูดกันแล้วเข้าใจกัน ทำยังไงก็ได้ให้ตอบโจทย์ความต้องการของเขา ผสมผสานกันทั้งงานสถาปัตย์และอินทีเรียร์ เพื่อทำให้งานสถาปัตยกรรมสามารถสื่อสารกับตัวผู้อยู่อาศัยได้ดีมากขึ้นค่ะ
- การซ่อมบำรุงคือฟังก์ชั่นนึงของบ้าน ในฐานะเจ้าของบ้าน เราต้องเป็นคนรู้ดีที่สุดว่าน้ำมาทางไหน ไฟเข้าทางไหน ถ้าจะมีสถาปนิกมาออกแบบจุดเซอร์วิส คุณควรต้องให้เขาออกแบบในลักษณะที่ “มนุษย์ปุถุชนเข้าถึงได้” ท่อแตกคุณปิดวาล์วได้ ไฟเสียเปลี่ยนเองได้ ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานของคุณเอง
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ชอบมุมนี้ เพราะว่าต้นอ้อถนัดกับการใช้โต๊ะทานข้าวตัวยาวแบบนี้ค่ะ เพราะสามารถไปจัดวางอยู่ตรงกลางห้องสตูดิโอได้ เหมือนใช้โต๊ะเป็นพาร์ทิชั่นกั้นระหว่าง 2 พื้นที่ เช่น ครัวกับห้องนั่งเล่น และยังใช้เป็นตัวเบรก Circulation ภายในห้องได้ด้วย คือพอคนเดินมาเจอตรงนี้ปุ๊บก็จะทำให้ต้องเลี้ยวซ้ายหรือขวาต่อไปได้
ส่วนมุมนี้ ให้ไอเดียในแง่ที่ว่า แทนที่จะปล่อยผนังให้เรียบๆ โล่งๆ อยู่เฉยๆ ถ้าเราทำบิลท์อินเข้าไปหรือตั้งตู้ลอยตัวแบบนี้ มันจะสามารถใช้โยชน์ได้มากขึ้น ซึ่งการทำตู้ให้สูงสุดเพดานไปเลย มันให้อารมณ์เหมือนการเก็บของแบบโกดัง โดยมีการดีไซน์บันไดเข้ามาช่วย ก็ทำให้เราใช้งานได้ง่ายขึ้นค่ะ