ABOUT HIM
สัปดาห์นี้มาพบกับสถาปนิกสายประกวด ที่คว้ามาแล้วหลากหลายรางวัล ทั้งระดับชาติและระดับสากล อาทิ รางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ ที่สมควรเผยเเพร่ประจำปี 2562 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ ASA Emerging Architecture Award 2019 (Silver Medal Award), the Dezeen Awards 2019 (Longlist), Architizer A+Awards 2019 (Jury Winner), Plan Award 2019 (Shortlist), CAP alumni Award 2019 (Nominee) ศิษย์เก่าที่มีผลงานโดดเด่น, the Architizer A+Awards 2018 (Popular Choice Winner), Plan Award 2018 (Finalist) และ ASA Emerging Architecture Award 2017 (Finalist)
แต่มิใช่เพียงเพราะรายนามรางวัลอันยาวเหยียด หากคือประสบการณ์บนเส้นทางวิชาชีพที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผ่านการเคี่ยวกรำความคิดและลับคมฝีมือ จนตกผลึกเป็นตัวตนของเขาในวันนี้ต่างหาก ที่ทำให้เราอยากพาคุณมาทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น คุณนัด – ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ ผู้ก่อตั้ง NPDA studio สถาปนิกหนุ่มผู้เคยฝึกงานกับบริษัทออกแบบของสถาปนิกชื่อดังระดับโลกอย่าง Thom Mayne (สถาปนิกรางวัล Pritzker Prize ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของวงการสถาปัตยกรรมโลก เปรียบเสมือนรางวัลโนเบล สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์) และเคยทำงานในมหานครนิวยอร์ก เป็นมือขวาของสถาปนิกชื่อดังระดับโลกอย่าง Rafael Vinoly
มีคนแซวผมเหมือนกันนะว่า ทำงานเพื่อรางวัล! เพื่อประกวด! (หัวเราะ) จริงๆ ไม่ใช่นะ ผมสนุกกับการทำงาน และผมก็ออกแบบเพื่อ User และถิ่นที่นั้นๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผมโตมากับการประกวด ผมชอบความคิดสร้างสรรค์ สมัยเรียนก็ทำงานทดลองและประกวดแบบ ผมว่ามันเป็นการฝึกสมอง พอมาทำงานที่สร้างจริงๆ เราก็อยากรู้ว่าสถาปนิกเก่งๆ ระดับโลกเขาคิดยังไงกับงานของเราบ้าง ก็เลยมีส่งผลงานเข้าไปก็เท่านั้น
ผมมักออกแบบโดยใช้ “สัญชาตญาณ” ครับ คือพอไปยืนที่ Site แล้วสัญชาตญาณมันจะบอกเองว่า สถาปัตยกรรมควรจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ถามว่าสัญชาตญาณเกิดจากอะไร? ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากพระเจ้าให้มา และอีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่เราสั่งสมและหมกมุ่นกับมันมามากพอ มันก็เหมือนกับงานศิลปะทุกๆ แขนงนั่นแหละครับ อย่างส่วนตัวผม ผมก็ต้องดั้นด้นไปฝึกงาน ไปทำงาน ไปดูโลกข้างนอกมา
ซึ่งตอนนี้ก็กลับมาทำงานเมืองไทยได้ประมาณ 10 ปี แล้วครับ ก่อนหน้านี้ไปเรียนปริญญาโทที่อเมริกา และมีโอกาสไปทำงานกับ Great Architect หลายๆ คน...จะว่าไปก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะ ข้อดีคือทำให้เราได้มีโอกาสทำงานที่มาจากทั่วโลก ได้เรียนรู้ ซึบซับวิธีคิดและกระบวนการทำงานของคนเก่งๆ ผลคือทำให้ Taste ผมดีขึ้น แต่ข้อเสียก็มีนะ คือตอนนั้นเรายังเป็นเด็กน้อยไง มันทำให้เราไป “หลงเขาเยอะมาก” ตอนกลับมาทำงานที่เมืองไทยใหม่ๆ ตอนนั้นคือกลับไปทำรีสอร์ทที่พะงันเป็นโปรเจคแรกชื่อ Phangan House ซึ่งคุณพ่อลองให้ทำบนที่ดินของคุณย่า...เราก็ “อยากเป็นฝรั่ง” ไง !! เราไปเรียนกับฝรั่ง ทำงานกับฝรั่งมา กลับมาก็อยากทำงานเป็นฝรั่ง ซึ่งสมัยนั้นใครทำรีสอร์ทก็จะออกมาบาหลี แต่ผมเรียนทางด้าน “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” มาเยอะ ตั้งแต่สมัยปริญญาตรี...ผมตั้งคำถามมาตลอดว่า ทำไมสถาปัตยกรรมพื้นที่จะต้องเป็นอะไรแค่มุงจาก หน้าจั่ว หลังคาไทย มันจะเป็นทรงกล่องได้ไหม? ผมเลยออกแบบโดยใช้รูปทรงเรขาคณิต แล้วแค่ดึง Context ในแง่วัสดุแถวนั้นมาใช้ เพราะตอนนั้นความคิดยังไม่ตกตะกอน คิดว่าแค่นั้นก็เท่แล้ว
พอได้ผลกำไรจากโปรเจคแรก ก็ขยายกิจการเป็น Somjai House ซึ่งเป็นบ้านพักตากอากาศของครอบครัวและใช้เป็นโถงต้อนรับของรีสอร์ท Coconutnoom (ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว) ด้วย ...“บ้านสมใจ” ออกแบบโดยใช้อัตลักษณ์พื้นถิ่น ใช้วัสดุและฝีมือของช่างพื้นถิ่น โดยเฉพาะวัสดุอย่างผนังก่ออิฐแดง พื้นปูนขัดมัน และฝาไม้ไผ่ผ่าซีก ล้วนเป็นวัสดุที่หาง่ายและพบเห็นได้ทั่วไปบนเกาะพะงัน ผสานกับรูปทรงและเส้นสายกราฟฟิคของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ สีสันตัดกับธรรมชาติโดยรอบ อย่างทะเล ท้องฟ้า และป่ามะพร้าว ยิ่งทำให้รีสอร์ทแห่งนี้ดูสวยสะดุดตา “ผมแค่พยายามจะสื่อสารว่า ถึงเราจะเป็นเด็กบ้านนอก แต่เราไม่จำเป็นต้องนุ่งซิ่นก็ได้นี่ เราก็แค่นำองค์ประกอบเก่า มาทำ Conversation ที่เป็นปัจจุบัน”
แล้วก็มีการนำเรื่องแสง แดด และลม เข้ามาใช้ด้วย เพราะเรื่อง “แสง” เป็นแพสชั่นในการออกแบบอย่างหนึ่งของผม คือผมสนใจผลงานของ หลุยส์ ไอ คาห์น ซึ่งเป็นสถาปนิกยุคโมเดิร์นที่เขาจะนำแสงมาเล่นกับพื้นผิววัสดุเพื่อให้เกิดอารมณ์ ซึ่งในงานออกแบบของผมก็ใช้เรื่องนี้ตลอด เช่น ออกแบบให้เงาบันไดไปล้อกับเส้นของคอนกรีตซึ่งเป็นพื้นผิวของตัวอาคาร ก็สนุกดีนะ ผมว่ามันเหมือนเป็น International Language คือถ้าพูดถึงเรื่อง “การคิดงาน” ถ้าเป็นฝรั่ง เขาจะมองจาก Object คือดูรูปทรง เส้นสาย ว่ามันสวยไหม แต่ถ้าเป็นฝั่งเอเชีย เราจะคิดงานจาก “ห้วงความรู้สึก” จากบรรยากาศ แล้วค่อยไปบูรณาการกับงานออกแบบซึ่ง “บ้านสมใจ” ก็เป็นอย่างนั้น
และที่มาพีคสุด คือตอนทำ Banjob House หรือ “บ้านบรรจบ” ซึ่งได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย โปรเจคนี้เป็นบ้านพักต่อเติมชุดใหม่ของรีสอร์ทครอบครัวผมเอง ผมรู้สึกว่าเราตกผลึกทางความคิดหลายๆ อย่างกับโปรเจคนี้ คือตอนนี้โลกมันหมุนเวียนไปแล้ว เราก็พยายามทดลองหาเทคนิคช่างสมัยก่อนมาปรับใช้กับงานออกแบบของเรา คือพยายามเอาอะไรที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันมาใช้...ลองนึกถึง อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน แฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวอังกฤษชื่อดัง ที่เขาบอกว่า “แฟชั่นเป็นเรื่องดัดจริต...ไม่ใช่ความจริง” เขาเลยพยายาม “ดึงความงามจากความเป็นจริง” มาทำ เช่น นำเฝือกคนไข้มาทำชุดแฟชั่น หรือนำหัวกะโหลก (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย) ไปชุปโครเมี่ยม ก็ดูไฮโซขึ้นมาเลย คือเขาพยายามจะบอกว่า ไม่ได้มีคำตอบเดียวว่าหัวกะโหลกต้องหมายถึงความตาย แต่มันสามารถเป็นคำตอบอื่นได้ในโลกปัจจุบัน “เป็นความงามในปัจจุบัน” นี่แหละผมเพิ่งมาคลิกที่ “บ้านบรรจบ”
จากที่ช่วงแรกๆ ผมสนใจเรื่อง “แสง” ที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและการใช้วัสดุพื้นถิ่น แต่ตอนนี้ผมกลับมาสนใจเรื่องของ Context ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่อง “วัสดุ” แต่คือสภาวะของสถานที่ตรงนั้น ได้แก่ สภาพอากาศ น้ำ แสง แดด ลม ฝน ซึ่งเป็นบริบทที่เปรียบเสมือน “เครื่องมือ” ให้ผมเอามาใช้ประโยชน์ในการสร้างภาวะของความอยู่สบาย รวมถึงยังใช้วัสดุที่ดูกลมกลืนกับพื้นที่ หล่อหลอมขึ้นมาเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง “เป็นความงามที่เกิดจากการแก้ปัญหาในพื้นที่”
ส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับ “วัสดุพื้นถิ่น” ค่อนข้างมาก ผมสนใจอะไรที่มันธรรมดาๆ เดิมๆ ที่ไม่ต้องผ่านการสังเคราะห์มาจากอะไรมากมาย เพราะมันเป็นเรื่องของ “สถาปัตยกรรมยั่งยืน” คือ ผมจะดูว่าอะไรที่จำเป็น อะไรที่สมควร ก็นำมาใช้...วิธีคิดของเราคือ “ไม่ดัดจริต” ไม่ได้ถึงขนาดจะต้องกำหนดตายตัว ไม่ต้องถึงขนาดนั่งเหลาไม้ไว้ใช้นะ ไม่ต้องให้ชีวิตให้ยากขนาดนั้น สำหรับผมคือถ้ามีเหล็กขายก็ซื้อมาใช้ แถวนั้นมีอะไรใช้ได้ก็ใช้เท่านั้นแหละ
หลายคนอาจมองว่า Form ของสถาปัตยกรรมของเราดูหวือหวา อาจเพราะเราใช้ Digital Fabrication หรือโปรแกรมที่ใช้สร้างรูปทรงทางสถาปัตยกรรม ซึ่งผมได้ทุนไปเรียนต่อโททางด้านนี้โดยเฉพาะ แต่จริงๆ สมัยนี้ถ้าใครไปเรียนต่ออังกฤษหรืออเมริกาก็สามารถทำรูปทรงออกมาให้หวือหวาได้เหมือนกันหมดด้วยโปรแกรมนี้ สำหรับผมตอนนี้เรื่อง Digital Fabrication ผมใช้ทำแค่บางงาน แต่ผมสนุกกับการนำ “ช่างไทย” มามีส่วนร่วมมากกว่า คือเราใช้โปรแกรมในการขึ้นรูปทรง หลังจากนั้นพยายามใช้ช่างไทยเข้ามาช่วยทำให้งานมีมิติมากขึ้น ผมมองว่า “แค่เอาเทคโนโลยีมาเสริม ไม่ใช่เอามานำ”
เส้นทางในวิชาชีพที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกถึงนิทานแขกเรื่องนึงนะ ที่เล่าว่ามีเด็กคนนึงอาศัยอยู่ในเมืองหนึ่ง แล้วถูกสอนว่า ถ้าจะแสวงหาความศิวิไลต้องเดินทางไปต่างเมือง แล้วพอเด็กคนนั้นออกเดินทางรอนแรมไปต่างเมือง ไปเจอหีบสมบัติอย่างที่เขาว่ากัน พอเปิดออกมากลับเจอข้อความภายในที่เขียนว่า “ทรัพย์สมบัติที่แท้จริงอยู่ที่บ้านเกิดของคุณ” เด็กน้อยก็...อ้าว! มาตั้งไกล ผ่านโน่นนี่มากมาย สุดท้ายก็ได้รู้ว่า “ขุมทรัพย์” หรือทรัพยากรที่แตกต่างนั้นอยู่ที่บ้านเกิดของตัวเอง เรื่องเล่านี้เหมือนผมมาก คือ ถ้าเราไม่ได้ไปเมืองนอก ไม่ได้ไปเห็นอะไร ไม่ได้อยากเป็นฝรั่ง เราจะไม่รู้เลยว่าความเป็นพื้นถิ่นของเรานั้นดีแค่ไหน มันคือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร หรืออย่าง “ต้นมะพร้าว” ที่บ้านเรา (พะงัน) นั้นสวย มีฝรั่งบินมาจากทั่วโลกมาพักที่รีสอร์ทเรา มาดูต้นมะพร้าวของเรา มาดูลิงขึ้นต้นมะพร้าว ถ้าเราอยู่แต่ที่พะงันและไม่ได้ไปเห็นอะไรมา เราคงตัดต้นมะพร้าวทิ้งหมด (เหมือนรีสอร์ทอื่นๆ บนเกาะ) เพราะเราไม่เห็นค่าในสิ่งที่เรามี หรืออย่างคนอีสาน ที่มักถูกพูดถึงในลักษณะว่าเป็นคนชั้นแรงงาน ทำให้เขาไม่ภูมิใจในตัวเอง ในขณะที่คนอื่นทั่วโลกภูมิใจในส้มตำของเขา และเป็นอาหารที่ดังไปทั่วโลก ทั้งที่แท้จริงแล้ว “ส่วนผสม” ของส้มตำ ก็คือการนำสิ่งที่เป็นพื้นถิ่นแถวนั้น (ต้นมะละกอข้างทุ่ง ปูจากท้องนา ปลาตัวเล็กจากแม่น้ำมาทำปลาร้า) มาจัด Composition เข้าด้วยกัน มันก็ก่อเกิดเป็นความงามที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งก็เป็นวิธีคิดที่เปรียบใช้ได้กับงานทางสถาปัตยกรรมเช่นกัน
- อยากได้บ้านอารมณ์รีสอร์ท ได้ยินหลายคนชอบพูดแบบนี้...สำหรับใครที่จะสร้างบ้านใหม่ก็สามารถสร้างรีสอร์ทให้กลายเป็นบ้านอันนั้นง่าย แต่สำหรับใครที่อาจจะมีบ้านอยู่แล้วไม่ได้สร้างใหม่ สิ่งที่คุณพอจะทำได้ ก็น่าจะเป็นการนำเอาไม้และปูนดิบมาใช้ และก็อาจเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ดูเบาๆ หน่อยมาปน ดีไซน์ที่มีนั่งเป็นไม้หรือผ้า จะได้ไม่ร้อนหลัง เติมสีเขียวด้วยกระถางต้นไม้ให้บรรยกาศมันดูผ่อนคลาย หรือถ้าบ้านอยู่กรุงเทพฯ ที่ต้องอยู่แบบเปิดแอร์ เราก็อาจจะเปลี่ยนลุคบางโซนให้ดูเป็นโรงแรมหรือรีสอร์ท จัดสรรบางพื้นที่ให้เป็นโซนเอ้าท์ดอร์ให้ได้ออกมาสัมผัสธรรมชาติบ้าง
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
มุมนี้ดูไม่เลี่ยน ดูเหมือนนำบ้านดั้งเดิมแบบบ้านไม้ในชุมชนมาใช้ มีการนำแผ่นไม้แผ่นเหล็กมาใช้ มันเป็นแค่แผ่นเหล็กแบนธรรมดาแล้วมายึดน็อตก็ดูสวยและใช้ได้แล้ว คือคนชอบแบ่งแยกว่าอันนี้เป็นวัสดุก่อสร้างนำมาใช้ตกแต่งไม่ได้ คือผมว่าเราไม่ควรไป “ให้คำจำกัดความวัสดุ” ว่าอะไรต้องใช้ทำอะไร เพราะมันสามารถพลิกแพลงการใช้งานได้หมดนั่นแหละ
มุมนี้ดูไม่เลี่ยน ดูเหมือนนำบ้านดั้งเดิมแบบบ้านไม้ในชุมชนมาใช้ มีการนำแผ่นไม้แผ่นเหล็กมาใช้ มันเป็นแค่แผ่นเหล็กแบนธรรมดาแล้วมายึดน็อตก็ดูสวยและใช้ได้แล้ว คือคนชอบแบ่งแยกว่าอันนี้เป็นวัสดุก่อสร้างนำมาใช้ตกแต่งไม่ได้ คือผมว่าเราไม่ควรไป “ให้คำจำกัดความวัสดุ” ว่าอะไรต้องใช้ทำอะไร เพราะมันสามารถพลิกแพลงการใช้งานได้หมดนั่นแหละ