2019 WEEK 33 "กิติยา สุขพุ่ม"

2019week33
13 สิงหาคม 2019
2019 WEEK 33 "กิติยา สุขพุ่ม"

ABOUT HER

 

สัปดาห์นี้ มาฟังมุมมองดีๆ ในการออกแบบตกแต่งกับอินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์สาวคนเก่งจากบริษัทที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ที่มีผลงานออกแบบโรงแรม รีสอร์ท และบูทีคโฮเทล แบรนด์ดังต่างๆ มากมาย อาทิ Adlib Bangkok, Hilton Pattaya, Lancaster Bangkok, Rayong Marriott Resort & Spa, Sofitel So Bangkok รวมถึงโรงแรมและรีสอร์ทในเครือ Veranda ไปพูดคุยกับแขกรับเชิญของเรากันเลยดีกว่า คุณโบ - กิติยา สุขพุ่ม Senior Project Designer จาก August Design Consultant

 

“ที่ August เราทำงานออกแบบโรงแรมเป็นส่วนใหญ่ค่ะ แต่จริงๆ ที่ออฟฟิศก็รับงานค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Hospitality, Residences, Corporates, Government, Institutions ซึ่งโบว่าสิ่งที่ทำให้เราได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาอย่างยาวนาน ก็น่าจะเป็นเพราะผู้ก่อตั้ง คือ คุณพงษ์เทพ สกุลคู และทีมผู้บริหารของ August ที่พยายามผลักดันให้ทีมงานผู้ออกแบบมีความคิดสร้างสรรค์และมีคาแรคเตอร์แบบ Perfectionist ตลอดเวลา คือ เป็นคนที่ต้องแข่งขันกับตัวเองอยู่เสมอ ฉะนั้นเวลาทำงาน เราก็จะคิดเสมอว่า สิ่งที่พวกเราออกแบบกันไปนั้นมันตอบโจทย์หรือตอบความต้องการของลูกค้าหรือเปล่า ถ้ายังมีความเป็นไปได้อีก...ยังไม่ถึงที่สุด เราไม่หยุดที่จะพัฒนาและสร้างสรรค์ ทำออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่มันควรจะเป็น”

 

ส่วนตัวโบอยู่ในทีมที่ดูแลโปรเจคประเภทบ้านและคอนโดค่ะ ทำในกลุ่มที่เรียกว่าเป็น Hi-end Residence เป็นหลักเลย โดยกุญแจสำคัญในการออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัยประเภทนี้คือเรื่อง Quality of Space ซึ่งโบมองว่าการออกแบบบ้านก็เหมือนกับการออกแบบชีวิตให้คนคนหนึ่ง เพราะเขาต้องอยู่ในพื้นที่นี้ต่อไปอีกนาน เราต้องใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่ การวางผังให้มีฟังก์ชั่นที่ลงตัวกับไลฟ์สไตล์และตรงกับลักษณะเฉพาะตัวของเจ้าของบ้าน

 

ความท้าทายในการออกแบบของเรา คือ การไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ อย่างคำว่า “แต่งบ้าน” เราก็ไม่ได้มองว่า มันจำกัดความอยู่แค่ “บ้านแนวราบ” เสมอไป ตัวอย่างโครงการบ้านสินธร ที่เป็นคอนโดใจกลางเมืองย่านสาธร-หลังสวน ทางทีมผู้ออกแบบตระหนักถึงเรื่องของ Quality of Space & Quality of Life ในสังคมเมือง เราก็ใช้แนวความคิดในการ “ทำคอนโดให้เป็นบ้าน” โดยการจัดสรรพื้นที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านหรือมีพื้นที่ใช้สอยที่ดูเป็นบ้านให้มากขึ้น  ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายใหม่สำหรับเราค่ะ

 

เวลาทำงานเราจะตั้งใจในขั้นตอนของ Design Development โดยให้เวลาค่อนข้างมากในส่วนนี้ เพราะเราสนใจในรายละเอียดที่เป็นจุดเล็กที่สุดที่บางคนอาจไม่สนใจ เพราะงานเราที่ทำออกมานั้นจะเป็นรูปแบบนิ่งๆ เรียบง่าย แต่ถ้าเป็นจุดที่ต้องเป็นไฮไลท์ อย่างพื้นที่ Formal Living หรือ Formal Dining เราก็จะแอบใส่คาแรคเตอร์บางอย่างเข้าไป เช่น งานตู้บิลท์อิน หรืองานตกแต่งผนังที่ใส่วัสดุที่ดูพิเศษ อย่างการบุผ้าไหมหรือหนัง  การใส่องค์ประกอบพิเศษบางอย่างเป็นวัสดุที่มีมูลค่าเพื่อให้ดูมี Gimmick หรือดูมี Value  อย่างเช่นงานตู้เก็บของที่เมื่อเปิดหน้าบานแล้วแทนที่จะเป็นชั้นช่องโล่งๆ ธรรมดา เราก็ทำให้เป็นชั้นที่มีดีไซน์ และเมื่อเปิดลิ้นชักแล้วก็จะไปเจอ Detail Design บางอย่าง เช่น วางแผ่นรองที่เนี้ยบเรียบร้อย คือ มันเป็นเรื่องของ Quality of Detail ซึ่ง Workmanship ที่ดีนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้งานของเรามีคุณค่ามากขึ้น และทุกครั้งที่เราทำบ้าน เราจะเริ่มจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านไปพร้อมๆ กับสถาปนิกโครงการ เพื่อแชร์ไอเดียระหว่างกันในเชิงดีไซน์ฟังก์ชั่น เพื่อให้เกิดภาวะของ “การอยู่สบาย” ซึ่งต้องเริ่มจากการมีสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ใช้สอยภายใน คือมีการจัดวางผังห้องให้มีการใช้งานหลักอย่างลงตัว เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราใช้งานและให้เวลาอยู่กับห้องนี้ค่อนข้างเยอะ ก็ต้องอยู่ในองศาที่รับลมดี เป็นต้น

 

ส่วนเรื่อง “วัสดุ” ลูกค้างานบ้านกลุ่ม Hi-end Residence วัสดุต่างๆ ที่ใช้จะเป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจ ฉะนั้น วัสดุจะต้องเป็นของจริงหรือสัจจะวัสดุที่มักได้ยินกันจนคุ้นหู ซึ่งในงานออกแบบบ้าน ส่วนมากนิยมใช้ไม้เป็นหลัก เพราะ “ไม้” เป็นตัวตนของสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น เป็นวัสดุที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและความรู้สึกของความเป็นบ้านแบบไทยๆ  นอกจากนี้ วัสดุอย่างหินและโลหะ ซึ่งเป็นวัสดุที่ตามยุคสมัย ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน...ทั้งนี้ นอกจากเรื่องของวัสดุแล้ว ในการทำบ้าน อีกสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ “ความคงทนถาวรในการใช้” คือมันต้อง Low Maintenance โดยการทำ Detail ให้ง่ายต่อการดูแลรักษา เช่น ก่อนที่เราจะนำแผ่นไม้ไปยึดติดผนัง เราก็ต้องมีการทากันซึมเพื่อไม่ให้ความชื้นในผนังมาเจอกับไม้ หรืออย่างหิน ที่บางคนบอกว่าใช้ยาก ใช้แล้วเกิดคราบเหลือง แต่ถ้าเรามีกระบวนการทำงานเชิงช่างที่ดี ชุบหินมาอย่างดี เรื่องการดูแลรักษาก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ทั้งนี้ เพราะ “บ้าน” เป็นอะไรที่เราไม่สามารถหาคนมาดูแลได้ทุกวันเหมือนโรงแรม ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุจึงต้องคำนึงถึงอนาคตว่ามันต้องอยู่ได้นานและต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากับผู้อยู่อาศัย

 

ในแง่ของงานตกแต่งภายใน ส่วนตัวโบให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ประเภท Multi-Purpose Area  คือบ้านเป็น Space ที่เติบโตไปพร้อมกับผู้อยู่อาศัย ฉะนั้น ก็ต้องมีบางห้องที่ไม่ได้กำหนดฟังก์ชั่นตายตัว แต่จะต้องมีความยืดหยุ่น “เป็นพื้นที่แห่งอนาคตได้” เช่น ห้องทำงาน อาจปรับให้เป็นพื้นที่สำหรับงานอดิเรกหรือเป็นห้องนอนสำหรับแขกได้ การออกแบบให้เกิด Multi-Function Space จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

 

สำหรับการแต่งบ้านตามเทรนด์นั้น โบเน้นเรื่องของการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์มากกว่าค่ะ  ก็ต้องสวยตามยุคตามสมัยและเป็นไปตามสไตล์ของเจ้าของบ้าน ส่วนงานพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน เราต้องออกแบบให้เกิดความ Timeless โบมองว่า “บ้านไม่เหมือนโรงแรมที่ต้องสวยตามยุคสมัย” เพราะคนที่เขามาพักต้องการความแปลกใหม่ ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศจากชีวิตปกติ และทุก 5 ปี โรงแรมก็จะมีการรีโนเวท แต่บ้านเป็นอะไรที่ต้องอยู่นาน เราต้องลดทอน ไม่ให้หวือหวาหรือสวยเฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง “บ้านต้องสวยแบบอยู่นาน สวยไปตามกาลเวลา” ไม่ใช่แค่ 5 ปี 10 ปี แต่มันต้องใช้เวลานานกว่านั้น ซึ่งเป็น “ความงามแบบเรียบง่าย” ก็ว่าได้

 

ตัวอย่าง โปรเจค The Sukhothai Residences เป็นคอนโด High Rise ย่านสาธร ทางทีมงานผู้ออกแบบเราได้เริ่มทำการออกแบบ Luxury Penthouse ในช่วงปี 2013 และแล้วเสร็จในปี 2015 ซึ่งปัจจุบัน เมื่อลองย้อนกลับไปมอง ก็ยังรู้สึกว่าไม่ล้าสมัย เราว่าก็ตอบโจทย์แนวความคิดการออกแบบของทาง August เอง เรื่อง Timeless and Functional Interior Design ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งในฐานะทีมงานผู้ออกแบบอย่างพวกเรา

 

  • การเลือกเฟอร์นิเจอร์ สำหรับแต่งบ้าน ที่สำคัญเลยคือ “ต้องมีความนั่งสบาย” เพราะบ้านเป็นสถานที่ที่เราใช้งานอยู่ตลอดเวลา เมื่อนั่งแล้วรู้สึกผ่อนคลาย สามารถนั่งแล้วเอนตัวได้ เอกเขนกได้ ไม่ใช่ต้องนั่งหลังตรงตลอดเวลา จุดหลักในการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ เราต้องดูเรื่องสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นสำคัญ

 

  • ความหรูหราของบ้าน ในยุคสมัยหนึ่ง “สีทอง” ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนความหรูหรา แต่เทรนด์สมัยนี้คนนิยมเฉดสี Champagne หรือ Rose Gold แทน บางครั้งเราจะใช้งานสแตนเลสที่สีออกไปทาง Titanium หรือ Ti-Blackเพราะเป็นสีที่ไม่ดูหวือหวาตามยุคสมัย ดูนานๆ แล้วไม่เบื่อ

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

เราชอบ Color Scheme ของห้องนี้ค่ะ คือโทนเบจหรือเอิร์ทโทน มันเป็นเฉดสีที่อยู่ได้สบาย อยู่ได้นาน ดู Timeless แค่ใส่องค์ประกอบงานโลหะนิดหน่อยใน Detail ของชั้นวางของ มันก็เป็นรายละเอียดที่เป็นไปตามยุคสมัย ทำให้ห้องดูมีมิติและมีชีวิต ดูเป็นห้องนอนที่มีฟังก์ชั่นเก็บของได้ด้วย

   

 

มุมนี้ดูเรียบง่ายในเรื่องของโทนสี คือ มีการใช้โทนสีเบจเป็น Color Scheme ประมาณ 70% แต่ก็แอบหยอดความเข้มโดยการใช้สีไม้ที่เป็นไม้อิตาเลี่ยนวอลนัทเข้าไปประมาณ 30% ทำให้พื้นที่โดยรวมดูนิ่งๆ อยู่ได้เรื่อยๆ อีกสัก 30 ปี ห้องนี้ก็ยังอยู่ได้ และมีการจัดวางเตียงแบบ Stand Alone โดยเตียงเป็นสีเทา ซึ่งเป็นสีที่ให้ความรู้สึกกลางๆ  ไม่ได้แสดงตัวตนที่แย่งกันเด่นจนเกินไป ทำให้ห้องดูมีความลงตัว นิ่งๆ สงบๆ เหมาะกับห้องนอนซึ่งเป็นห้องแห่งการพักผ่อน

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex