ABOUT HIM
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสถาปนิกหนุ่มมากฝีมือ เพราะเป็นเจ้าของผลงานประเภทบ้านพักอาศัยหลังเดียวในไทยที่ติดโผ Finalist ในเวที WAF 2019 หรือ World Architecture Festival ประจำปีนี้ และกำลังจะเดินทางไปนำเสนอผลงานเพื่อแข่งขันกับอีกหลายโปรเจคทั่วโลก ในศึกชี้ชะตาที่อัมสเตอร์ดัม ช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ สัปดาห์นี้พบกับ คุณจุลสมโณ พงษ์เสฐียร Architect Director แห่ง FLAT12x
“ความท้าทายของงานออกแบบมันอยู่ตรงที่ เวลาออกแบบไปแล้วเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเวิร์คไหม จนกว่าจะสร้างเสร็จ เราทำได้แค่ทดลอง ทดสอบ ตัดโมเดล และตรวจสอบให้แน่ใจที่สุดเหมือนดูลูกค่อยๆ โตขึ้น ซึ่งมันก็มีความรับผิดชอบเยอะ ในแง่ที่ว่าพอเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วมันจะดีไหม? ถ้าเสร็จแล้วเป็นขยะหรือเปล่า? ถ้าเป็น...มันก็จะเป็นขยะอยู่อย่างนั้นเป็นสิบๆ ปี ดังนั้น การสร้างบ้านหลังหนึ่งจึงเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่”
ที่ FLAT12x ส่วนใหญ่จะเป็นงานประเภทที่พักอาศัยครับ ผมชอบทำ “บ้าน” เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับ User “บ้านเป็นอะไรที่เปลี่ยนชีวิตผู้อยู่อาศัย” บ้านช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราได้ และเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับเราโดยตรง และการที่ทำให้เจ้าของบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วยยิ่งสนุก คือบางคนไม่กล้าเลือกอะไรเลย ปล่อยให้สถาปนิกเลือกหมดเลย ผมว่านี่เป็นส่วนที่เล็กมากๆ ที่คุณจะได้แสดงความเป็นเจ้าของบ้าน ต่อให้เลือกมาแล้ว สำหรับผมอาจจะไม่สวยหรือไม่ค่อยชอบ ก็ไม่เป็นไร ถ้าเขาชอบ...“มันคือสิ่งทีคุณเลือก” การที่เจ้าของบ้านมาช่วยเลือก จะทำให้เขามีส่วนร่วมกับบ้านของตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น
เวลาออกแบบบ้าน ผมจะใช้เวลากับลูกค้าค่อนข้างเยอะ คือแม้ว่าผมจะรับออกแบบอย่างเดียว แต่ผมไม่ได้จบงานแค่บนกระดาษ แต่ผมจะดูแลแบบไปจนมันสร้างเสร็จ เพราะเวลาที่งานอยู่บนกระดาษมันจะทำยังไงก็ได้ไง!! แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะผลักดันหรือควบคุมแก่นหรือไอเดียสำคัญหรือแบบที่เราดีไซน์ให้เสร็จออกมาตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร ดังนั้น พอส่วนงานออกแบบของผมเสร็จแล้ว ไม่ใช่ว่าเก็บเงินแล้วคือจบ แต่ผมจะต้องคอยประกบจนถึงวันสุดท้ายที่มันเสร็จกลายเป็นบ้านของเขาจริงๆ
ซึ่งประเด็นที่ผมให้ความสำคัญในการออกแบบบ้าน คือ “ผมจะไม่บังคับ” เช่น สมมุตวันนึงลูกค้าเดินมาบอกว่าอยากใช้เก้าอี้ตัวนี้ ที่เราอาจจะคิดว่ามันไม่โอเคหรือไม่เข้ากัน แต่เพราะเป็นของที่แฟนซื้อให้ แม่ซื้อให้ หรือเป็นเก้าอี้ที่ใช้มาตั้งแต่เด็กอยากเก็บไว้ในบ้าน ผมก็ “มีหน้าที่ทำยังไงให้มันอยู่กันได้” คือบางคนอาจปฏิเสธ แต่ผมจะไม่บังคับเลย ดังนั้นงานของเราจะเป็นงานค่อนข้างปลายเปิด มันจะมีความกระด้างกระเดื่องหรือว่ามีประดักประเดิดบ้าง ซึ่งผมคิดว่าพวกนี้เป็นเสน่ห์ของงานออกแบบ เพราะสถาปนิกไม่ควรเอาตัวเองเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดว่าแบบของเราสวยที่สุดหรือเราชอบที่สุดในชีวิต สำหรับผม แม้ผลลัพท์อาจจะไม่ใช่จริตที่เราชอบ 100% แต่ถ้าทำแล้วเจ้าของบ้านเดินเข้ามากอด มาบอกว่ารักบ้านหลังนี้ที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราจะทำ ดังนั้นในการสร้างบ้านหลังนึง เราจะใช้เวลากับลูกค้าเยอะมาก นานหลายๆ ปีกว่าจะเสร็จ
เราเหมือนเป็นที่ปรึกษาคอยดูแล ไม่ว่าใครสร้างก็ตามผมก็จะอยู่ฝั่ง Owner คอยตรวจสอบ แต่ก็เป็นการตรวจสอบที่ประนีประนอมนะ ไม่ใช่ไปจับผิด เอะอะให้รื้อ เพราะบางทีเราต้องดูหลายๆ อย่าง เช่น โปรเจค ANAVILLA (ที่ติด Finalist ในเวที WAF 2019) ที่อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช คือถ้าเราอยู่ในกรุงเทพ ช่างอาจมีความคุ้นเคยกับดีเทลงานที่ซับซ้อนกว่าต่างจังหวัด ดังนั้น เราในฐานะผู้ออกแบบก็คิดว่าจะทำยังไงให้คนในครอบครัวของ Owner รับได้กับดีไซน์กรุงเทพมากๆ ส่วนคนสร้างหรือช่างในต่างจังหวัดถ้าดีเทลยากไปเขาก็จะสร้างไม่ได้ ซึ่งถ้าสร้างไม่ได้คนที่เป็นเจ้าของบ้านก็จะเครียด ซึ่งเราก็ต้องคิดเรื่องพวกนี้ทั้งหมด ซึ่ง ANAVILLA เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ลูกค้าเป็นเจ้าของธุรกิจประมง ซึ่งมีทักษะในการต่อไม้เป็นเลิศ ต่อเรือได้ทั้งลำ ดังนั้นบ้านแค่นี้เขาทำเองได้ ลูกค้าอยากมีส่วนร่วมตรงไหน เราก็ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม และผมก็จะทำเป็นโครงสร้างที่ง่ายที่สุดที่ไม่ว่าช่างจากที่ไหนก็ทำได้ สุดท้ายก็ทำออกมาเป็นเหมือนเป็นเรือยอร์ชจอดในท่าของเขาเลย ซึ่งสะท้อนถึงธุรกิจหลักของครอบครัวลูกค้าด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่ผมให้ความสำคัญในงานออกแบบอีกอย่างคือ เราต้องทำให้มันอยู่กับเพื่อนรอบๆ ข้างได้ด้วย ไม่ใช่ว่าเจ้าของอยากได้อะไรที่ล้ำสมัยมากๆ ไปตั้งอยู่ในบริบทที่ไม่ใช่ เราก็ต้องอธิบายให้เขาถอยออกมาหน่อย เราต้องดูสิ่งที่อยู่รอบๆ ข้างด้วยไม่งั้นสถาปัตยกรรมของเราจะกลายเป็นเอเลี่ยนเป็นตัวประหลาด เพราะถ้าสถาปัตยกรรมของเราไม่อิงกับบริบทเลย ไม่เคารพเพื่อนบ้านเลย ก็แปลว่างานตัวนี้มันจะไปอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ ไปอยู่ทะเลทรายก็ได้ ยกไปทั้งก้อน แบบนั้นก็จะไม่ใช่ “สถาปัตยกรรม” แต่เป็นเพียงแค่ Object หรือวัตถุที่ไปตั้งอยู่ตรงไหนก็ได้ ดังนั้นถ้าจะเป็นสถาปัตยกรรมก็คือต้องเคารพที่ตั้งด้วย ทางซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง ติดอะไรไหม ไปตั้งอยู่ตรงนั้นแล้วคนจะเกลียดหรือชอบ ชุมชนมีผลยังไง สภาพของสังคมเป็นยังไง คือมันเหมือนกับเราควรจะต้องทำตัวให้กลมกลืน แต่ขณะเดียวกันเราก็สามารถนำเสนอสิ่งใหม่ ที่ช่วยจุดประกายให้กับคนที่อยู่รอบๆ ได้ ไม่ใช่ว่ารอบข้างอยู่ในสภาพเก่าแก่แล้วเราต้องทำบ้านให้เก่าตามไม่ด้วยก็คงไม่ใช่
ส่วนตัวผมมองว่า “บ้านไม่ต้อง Play Safe เลยก็ได้” คือไม่ต้องไปยึดติดเรื่องสไตล์...ลูกค้าทุกคนที่เข้ามาเรามักยึดติดกับสไตล์ ซึ่งจริงๆ แล้วลึกๆ ผมพยายามจะบอกทุกคนว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยึดติด เพียงแต่มันอาจจะเป็นความเคยชินสำหรับเรา บางคนจะสร้างบ้าน แต่เอา Reference เป็นร้านกาแฟมาให้ ผมต้องถามว่า พี่จะทำบ้านเป็นร้านกาแฟจริงๆ เหรอ คือบางคนเปิดรูปดูเร็วๆ แล้วเอารูปเป็นหลักแต่ไม่ได้ใช้จริง ก็ต้องลองให้เขาเข้าไปที่ร้านกาแฟจริงๆ แล้วจะรู้ว่าร้านเหมาะกับร้าน แต่สำหรับบ้าน มันไม่เหมือนกัน...บ้านต้อง Timeless กว่านั้น เราต้องบอกลูกค้าให้รู้ เพราะถ้าเราปล่อย แล้วเขาไปรู้ทีหลัง ผมถือว่า “เราบกพร่องในหน้าที่ที่เราควรทำ”
- ทำห้องเล็กให้ดูใหญ่ ทำห้องแคบให้ดูกว้าง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเส้นสาย เปรียบเทียบการทาสีผนัง 4 ด้าน เป็นสีเดียวเต็มพื้นที่ กับการทาแบบทูโทนตัดครึ่ง...ก็จะช่วยให้รู้สึกว่าห้องโปร่งขึ้น หรือถ้าเป็นผนังเดียว แล้วทาสีเดียวทั้งผนังกับการทาแค่ครึ่งล่าง อันนี้ก็จะช่วยให้รู้สึกว่าห้องยาวขึ้น “การจัดระเบียบเส้น” นี้สำคัญมาก เพราะมันมีผลกับเราเวลาอยู่ในห้อง เช่น ระหว่างรอยต่อของผนังกับฝ้า ถ้าทำโค้งลบมุม ก็จะทำให้เรามองไม่เห็นเลยว่า ฝ้าอยู่ตรงไหน (อารมณ์เหมือนฉากถ่ายภาพในสตูดิโอ ที่จะมีความเบลอระหว่างผนังกับพื้น) มันก็จะช่วยได้บ้าง
- คนไทยมักเคยชินกับการวางอะไรติดผนัง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกมาก แต่ผมว่าอะไรที่วางติดผนัง ถ้าลองขยับออกมา จะทำให้เกิด Circulation ใหม่ที่เปลี่ยนไป และได้พื้นที่ใช้สอยก็เปลี่ยนไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องตอบสนองผู้ใช้งานด้วย
- มี Space ในฝันได้ ไม่ต้องรอให้มีบ้าน เคยได้ยินบางคนบอกว่า อยากมีห้องอย่างโน้นอย่างนี้ แต่รอไว้ให้มีบ้านก่อน ผมอยากจะบอกทุกคนว่า จริงๆ เราเริ่มมี Space ในฝันได้ตั้งแต่เป็น “ห้อง” เลย ไม่ว่าใครจะอยู่ห้องเล็กแค่ไหน ก็เริ่มต้นได้จากพื้นที่เล็กๆ ที่คุณมีได้เลย เช่น การจัดหัวเตียงหรือห้องนอนคุณเลย เพราะเมื่อห้องหนึ่งเริ่มดี มันก็จะส่งผลไปยังสิ่งอื่นๆ ที่เป็นสเกลใหญ่ขึ้น เช่น บรรยากาศในบ้านดีขึ้น หรือเมื่อบ้านหนึ่งดีมันก็นำไปสู่ชุมชนที่ดี ถ้าทั้งอำเภอดีมันจะส่งผลไประดับจังหวัด ระดับประเทศ
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ผมคิดว่า “ห้องนอน” ควรเป็นอะไรที่หลับสบายแล้วก็เซ็กซี่หน่อย ซึ่งการทำแผงหัวเตียงใหญ่จะช่วยทำให้ดูหรูหราอลังการขึ้นได้ และยังมีการใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสอย่างเบาะนวม กำมะหยี่ ก็ยิ่งทำให้ห้องนอนดูเซ็กซี่ขึ้น เพราะมันให้ความรู้สึกลุ่มหลงและเย้ายวนบางอย่าง ดูแล้วได้ความรู้สึกว่าน่าจะหลับสบาย เห็นแล้วอยากนอน
ในส่วนของพื้นที่ ห้องนี้ถูกแบ่งเป็นสองส่วน แต่มีการใช้วัสดุที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน คือ ผนังไม้ ทำให้ภาพรวมของห้องดูเป็นหนึ่งเดียวกัน ขณะเดียวกันก็มีการผสมผสานในเรื่องผิวสัมผัส คือลายไม้และลายหิน ทำให้ห้องดูมีพระเอก พระรอง ในเปอร์เซ็นต์ที่กำลังดี ไม่ดูแข่งกัน ช่วยสร้างบรรยากาศห้องให้ดูสบายน่าพักผ่อน