ABOUT HIM
ถ้าพูดถึง Restaurant & Bar ที่เป็นแหล่งแฮ้งเอ้าท์ดีไซน์สวยดูดีมีคาแรคเตอร์ อย่าง Rabbit Hole บาร์โพรงกระต่าย ที่ดูลึกลับซ่อนเร้นแนวแฟนตาซี, Water Library ร้านอาหารในบรรยากาศใต้หอไอเฟล, Canvas ร้านอาหารไฟน์ไดน์นิ่งในบรรยากาศแบบนิวยอร์ค และ Crimson Room แจ๊สบาร์ใจกลางกรุงที่มาพร้อมกลิ่นอายยุค 1920 ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นที่รู้จักสำหรับใครหลายคน สัปดาห์นี้ชวนมาทำความรู้จักกันให้มากขึ้นกับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่น่าจดจำและชวนประทับใจเหล่านั้น คุณกานต์ ศิวภุชพงษ์ Design Director จาก Paradigm Shift Studio
จริงๆ ชื่อ Paradigm Shift คือ ทฤษฎีทางศิลปะซึ่งแปลว่า "การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์" ก็คือเราพยายามจะหามุมมองใหม่ๆ ในงานออกแบบครับ โดยจะมานั่งคิดกันก่อนว่า เราจะเล่าเรื่องอะไรในงานๆ นั้น อย่างงานประเภทร้านอาหารที่เราทำมาค่อนข้างเยอะ เราก็พยายามจัดเรียงลำดับสิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่ โดยฟังก์ชั่นทั้งหมดยังต้องใช้งานได้อยู่ครับ
ที่ Paradigm Shift Studio เราจะเน้นเรื่องการออกแบบเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งบางปัญหามันก็นำไปสู่ Solution ใหม่ๆ ครับ อย่าง Rabbit Hole ที่ทองหล่อ พื้นที่เดิมเป็นร้านข้าวต้ม สภาพอาคารเก่ามาก ลักษณะไซต์มีข้อด้อยคือ ความแคบ และอยู่แบบลึกลับ เราก็กลับมานั่งคิดว่าจะทำยังไงดี สุดท้ายก็ใช้ข้อด้อยของ Space มาทำให้กลายเป็นข้อดี คือทำให้เป็น Hidden Bar ไปเลย มองข้างนอกไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่พอเข้าไปข้างในแล้วกลายเป็นอีกโลกนึงเลย เหมือนหลุดเข้าไปในโพรงกระต่าย สร้างบรรยากาศให้ดูเป็นร้านลับๆ อะไรอย่างนี้ หรือบางไซต์ เราไปเจอฝ้าเตี้ยแบบ 2.10 เมตร เราก็พยายามใช้ข้อด้อยมาให้กลับมาเป็นข้อดี ทำให้ Impact ทำให้มันว้าว! หรืออีกปัญหาที่เจอ คือ ไม่มีงบ เราก็ต้องกลับมานั่งคิดว่าจะทำยังไง ตัวอย่างโปรเจคนึงเป็นร้านไวน์ ซึ่งเจ้าของก็กะจะอยู่ตรงนั้นแค่ปีเดียว เขาจึงต้องประหยัดงบที่สุด เราก็เลยคิดเอากระดาษถ่ายเอกสารใช้แปะผนังไปเลย เป็นเหมือนงาน Collage อารมณ์หมือนตู้โทรศัพทที่ถูกแปะโปสเตอร์เต็มไปหมด คือเราก็ชอบคิดอะไรแผลงๆ แบบนั้นครับ ซึ่งจะมองเป็นเรื่อง How to อันนึงในแง่ของการใช้ “วัสดุ” ของเราก็ได้นะ เพราะสำหรับตัวผม เราก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องใช้ไม้ ใช้วีเนียร์หรือหินอ่อน แต่ผมมองว่าของทุกอย่างมันสามารถที่จะเป็น “วัสดุในการสร้างสรรค์งานออกแบบ” ได้หมด
ในงานออกแบบ ผมสนใจเรื่อง Maximalism ครับ เนื่องจากผมเป็นคนชอบงานที่มี Detail เยอะๆ เพราะในการทำอาหารหรือบาร์สักร้าน เราก็จะพยายามสร้างสรรค์ให้ร้านนั้นๆ ดูมีเรื่องราวและมีคาแรคเตอร์ เช่น สมมุติวันนี้คุณเข้ามานั่งตรงนี้กับผนังด้านนึง แล้วอีกวันคุณไปนั่งหลังร้าน คุณก็อาจจะได้อีกอารมณ์นึง ด้วยเพราะ Detail งานที่แตกต่างกัน มันจะให้ความรู้สึกที่แตกต่าง ซึ่งเวลาทำงานดีไซน์ ผมไม่ได้มองเรื่องสไตล์สักเท่าไหร่ แต่สนใจเรื่องรายละเอียดมากกว่า ทั้งรายละเอียดในแง่ตัวโครงสร้าง รวมไปถึงในตัวเฟอร์นิเจอร์บางชิ้น การเพิ่ม Detail งานบางอย่างเข้าไป มันจะช่วยให้งานดีไซน์มองแล้วไม่น่าเบื่อ ทั้งนี้ Maximal Detail ของผม อาจไม่ใช่แค่รายละเอียดในงานดีไซน์ แต่บางทีมันคือการเลือกใช้ หรือการผสมผสานกันของวัสดุหรือผิวสัมผัส เช่น วัสดุอย่างทองเหลือง ธรรมชาติคือพอใช้นานๆ ไป มันจะขึ้นคราบ หรืออย่างเหล็กก็จะขึ้นสนิมอะไรอย่างนี้ ผมชอบเพราะมันเป็นวัสดุที่มีความเปลี่ยนแปลง คือวันนี้มันสวยอยู่ แต่วันข้างหน้ามันอาจจะขึ้นคราบ ซึ่งก็คือเสน่ห์ของวัสดุ คือความสวยที่ผ่านกาลเวลา เป็น Living Material และอย่างสุดท้าย ผมชอบใช้ Detail เป็นการแก้หรือลดปัญหาให้กับงานช่าง เช่น การจบขอบตู้กับประตู แก้ปัญหารอยต่อระหว่างวงกบกับผนัง เป็นต้น
นอกจากเรื่อง Detail ที่ผมให้ความสำคัญแล้ว จากประสบการณ์ที่เราทำ Public Space มาค่อนข้างเยอะ ดังนั้นผมจะไม่ตีความจากคนที่เข้ามาใช้พื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องโฟกัสในมุมของเจ้าของด้วยว่าในแง่ของ Operation นั้นจะต้องดีด้วย โดยผมให้ความสำคัญกับเรื่อง Planning และ Sequence ของ Experience เป็นตัวตั้ง รวมถึง “สัดส่วนในการจัดวาง” มากกว่า เช่น การที่เราจัดเอาบาร์ไว้ตรงนี้เพื่อเป็นจุดแรกให้คนมองเห็น คนเดินเข้ามา Dining Area ทางด้านขวามือ โดยเราจะแบ่งสัดส่วนออกให้ชัดเจน คือเราจะวาง Sequence ในการเดินทางของคนที่เข้ามาในพื้นที่นั้นว่าคนที่เดินเข้ามา สิ่งแรกที่เขาเห็นคืออะไร อะไรจะเป็นตัวต้อนรับ แล้วพอเค้าหันมาทางนี้เขาจะเจออะไรต่อมา คือไม่ใช่ว่าเราจะทำงานให้คอนเซ็ปท์หวือหวาแค่นั้น แต่ว่าเราต้องคำนึงถึงความเป็นจริงด้วย คือต้องใช้งานได้จริง เพราะต่อให้เราทำร้านออกมาสวยแค่ไหนก็ตาม แต่ในเชิงการจัดการของร้านมันทำงานไม่ได้ แปลว่าท้ายที่สุดมันก็จะเป็นโปรเจคที่ไม่เวิร์คอยู่ดี
- การแก้ปัญหาฝ้าเตี้ย ทำได้หลายวิธี ถ้าเป็น Public Area ก็แก้ได้ด้วยการเปลี่ยนข้อด้อยให้กลายเป็นข้อดีไปเลย โดยอาจจะออกแบบให้เป็นลูกเล่นดีไซน์เหมือนให้คนมุดเข้าไปได้ หรือจะใส่ฝ้าที่เป็น Reflective Material เช่น กระจก แล้วกั้นสายตาไม่ให้คนเห็นอะไรกว้างๆ เพราะการมองเห็นกว้างๆ ในขณะที่ฝ้าเตี้ยจะยิ่งทำให้พื้นที่ดูเตี้ย แต่ถ้าเป็นงานประเภทที่พักอาศัย เส้นตั้งจะช่วยให้ดูสูงได้ ก็แนะนำว่าในการเลือกเฟอร์นิเจอร์ ควรเลือกดีไซน์ที่ค่อนข้างแบนหน่อย คือไม่ต้องสูงมาก เพื่อให้รู้สึกว่าเวลานั่งไปแล้ว จะเห็น Space ในอากาศเยอะขึ้น
- ไอเดียจากร้านอาหารและบาร์ ผมว่าทุกอย่างมันประยุกต์ใช้กันได้ ตัวอย่างง่ายสุดเลยทางกายภาพ ก็เช่นเราอาจจะทำมุมบาร์มาอยู่ในบ้านได้ ไว้สำหรับเป็นส่วนสังสรรค์ เขาก็จะทำพื้นที่นี้ให้กลายเป็นเหมือนห้องรับแขกอันนึงที่เหมือนไม่ได้อยู่ในบ้านก็ได้ หรืออย่างมุมทานข้าว ปัจจุบัน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่อาจจะมีแค่ครัวไทยอย่างเดียว เดี๋ยวนี้จะมีครัวฝรั่งเอาไว้โชว์ มีเคาน์เตอร์ มีเฟอร์นิเจอร์ หรืออะไรต่างๆ ที่ค่อนข้างสมัยใหม่มากขึ้น เราก็อาจจะทำเป็นไอส์แลนด์สำหรับทำอาหารแบบครัวโชว์ ทำให้ดู Public หน่อย ก็จะกลายเป็นอีกจุดสังสรรค์ในบ้าน
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
มุมนี้ เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ดูเอ้าท์ดอร์หน่อยๆ มีหวายนิดๆ ถ้าจินตนาการต่อว่ามุมนี้เป็นห้องกระจกแล้วมีกระจกอยู่ด้านหน้าและสามารถเปิดออกมา พื้นที่ตรงนี้จะทำเป็น Semi Outdoor หรือจะเป็น Indoor ก็ได้ สิ่งที่ผมชอบในมุมนี้ก็คือมันสามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นอะไรได้อีกหลายอย่างเลย อาจไม่ใช่บ้านก็ได้หรือเป็นคาเฟ่ก็ได้ และการใช้มีสีดำ สีเทา มีหมอนที่เป็นสีสันเล็กน้อยทำให้ดูมีความ Cozy อยู่ในตัวค่อนข้างเยอะ อีกอย่างที่ผมชอบคือ มันดูมีรายละเอียดต่างๆ เช่น มีบันได ตู้เก็บของ คือผมชอบการปฏิสัมพันธ์กับเฟอร์นิเจอร์อะไรแบบนี้
ผมว่า ความเป็นบ้านต้องเป็นประมาณนี้แหละ คือมีความ Cozy ในตัว ซึ่งสิ่งที่ผมชอบในมุมนี้คือ เรื่องไม้ และวัสดุสีทอง ที่ทำให้มุมนี้มันดูหรูหราขึ้น มันมาเสริมให้บ้านดู Elegance ขึ้น และการที่เราเลือกใช้อาร์มแชร์ผ้าสีขาวดำลายสก็อตซ์นิดๆ รวมถึงพวกของตกแต่ง และพวกวัสดุไม้อะไรแบบนี้ก็ทำให้มันดูอบอุ่นขึ้น ไม่ได้ดู Serious มาก เพราะการอยู่อาศัยเราไม่ได้ต้องการความเป็นทางการขนาดนั้นอยู่แล้ว เราต้องการให้มันอยู่สบายและดูดี เพราะบ้านไม่ใช่โชว์รูม แต่คือ “บ้าน”