2019 WEEK 29 "ภชพน ทองพิมพ์"

2019week29
16 กรกฎาคม 2019
2019 WEEK 29 "ภชพน ทองพิมพ์"

ABOUT HIM

 

อาจจะดูย้อนแย้งอยู่สักหน่อย ที่มีทั้งความ Mini และ Max อยู่ด้วยกัน แต่นี่แหละคือคำจำกัดความที่สะท้อนตัวตนของ Minimaxist บริษัทออกแบบที่ช่างคิดช่างทดลองและสนุกกับการเรียนรู้ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการออกแบบอยู่เสมอ  สัปดาห์นี้ พูดคุยกับ คุณเต้ - ภชพน ทองพิมพ์  Project Architect จาก Minimaxist

 

ที่ Minimaxist เราสนุกกับการทดลองทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลาครับ  เช่นเรื่องของแสง บรรยากาศ ความรู้สึก การสะท้อนของกระจก ซึ่ง อย่างเรื่อง “กระจกเงา” ถ้าเอามาวางตรงข้ามกัน   ก็จะเกิดภาพสะท้อนแบบไม่มีที่สิ้นสุด  แต่ถ้าเราลองเพิ่มจำนวนบานและเอียงองศาที่ต่างกันไปเรื่อยๆ ก็จะเจอมุมอะไรที่แปลกกว่าเดิม  ลึกกว่าเดิม  เป็นต้น  ซึ่งเราก็จะศึกษาเก็บเอาไว้ก่อน  คือ บริษัทเราให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้แบบนี้ เราจะศึกษาไปเรื่อยๆ นึกอะไรสนุกๆ ขึ้นมาได้ก็ลองทำกัน  ทุกปีเราจะมีสัมมนา โดยแบ่งกลุ่มกันไปศึกษาและมาสอนกัน  รวมทั้งได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานของกันและกันด้วย  ก็เป็นการได้ศึกษา ปรับปรุง และพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ  คือมันก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ก็ไม่เป็นไรอย่างน้อยก็ดีที่ได้ลอง  เหมือนเป็นการเก็บองค์ความรู้เอาไว้ เวลามีโปรเจคเข้ามาก็สามารถหยิบจับเอามาไปใช้ได้  ที่ออฟฟิศเรา “ให้อิสระเรื่องวิธีคิด” มากเลย บางทีไอเดียออกแบบบ้านก็มาจากเลโก้ที่เราเอามาลองต่อเพื่อศึกษา Mass คือดูรูปทรงก้อนไหนสูงต่ำ เอียง หรือเฉียงไปทางไหน เป็นการศึกษากว้างๆ ผมมองว่า มันไม่มีใครเก่งที่สุด ไม่มีใครเป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะถ้าเราเอาของเก่าที่เราเคยรู้เมื่อ 5-10 ปีมาใช้ตอนนี้ก็คงไม่ใช่แล้ว เราต้องตามโลกให้ทันด้วย

 

แนวทางในการทำงานออกแบบของเรา คือ การพยายามลดจุดด้อย แล้วเพิ่มจุดเด่น เพื่อประโยชน์สูงสุดของโปรเจคนั้นๆ ครับ คำว่า จุดด้อย ก็หมายรวมไปถึงข้อจำกัดต่างๆ ของโครงการ  ทั้งในแง่กฎหมาย  งบประมาณ  และเงื่อนไขบางอย่างของ Owner ซึ่งเราก็จะนำพวกนี้เข้ามาบวกกับสิ่งที่เราดีไซน์เพิ่มเข้าไป  เหมือนเอาดีไซน์เข้าไปแก้ไขข้อจำกัด  เช่น ตำแหน่งที่ตั้งของไซต์อยู่ในซอยลึกมาก เขามีแผนจะทำเป็นตึกแถวแล้วขาย แต่โดยทำเลดูท่าจะขายไม่ออก อันนี้อาจดูเป็นจุดด้อยใหญ่ ที่นี้วิธีแก้ คือ เราต้องสร้างจุดเด่นเพิ่ม  ต้องหาอะไรให้มันเด่นออกมา อาจจะทำ Space ที่ไม่เหมือนใคร หรือว่าหน้าตาของงานที่ดึงดูด  ซึ่งถ้าเราทำจุดเด่นให้ชัดขึ้นมามากพอ มันก็จะบังจุดด้อยไปได้

 

และบางครั้ง ข้อด้อยบางอย่างก็ไม่ได้เกิดขึ้นก่อนเริ่มโปรเจค  บางทีมันเกิดขึ้นระหว่างทาง ซึ่งอาจเป็นปัญหาเรื่องงบ เรื่องการก่อสร้าง อะไรก็ตามที่ไม่คาดคิด  แต่เราก็ต้องมีวิธีการแก้คือ ต้องรวบรวมปัญหาเข้ามาแล้วหาทางออกที่ดีที่สุด สุดท้ายงานที่ออกมาอาจไม่เหมือนอย่างที่ใจหวังร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่คือดีที่สุดแล้ว ณ ตอนนั้น เพราะมันผ่านการแก้ปัญหาระหว่างทางมาตลอดเวลา

 

ในงานออกแบบ ผมว่า “บ้าน” เป็นงานยากที่สุดนะ คือ เวลาเราทำงานประเภทอื่น เราจะดีไซน์หน้าตา หรือทำ Space Planning ให้ดูเป็นกลางๆ หรือตามกลุ่มเป้าหมายของงานนั้นๆ แต่บ้านเป็นงานที่เฉพาะเจาะจงสำหรับคนคนนี้  บางคนก็จะบอกมาว่าต้องการอะไรบ้าง  แต่บางคนก็ไม่รู้เลย  รู้แค่ว่าอยากได้กี่ห้องนอนกี่ห้องน้ำ ซึ่งการที่เราเข้าไปทำงานกับลูกค้า  เราก็ไม่ได้เข้าไปเป็นสถาปนิกหรือว่าอินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์อย่างเดียว ผมว่าเราเข้าไปเป็นเหมือนเป็น “เพื่อนเป็นคู่คิด” ของเขาด้วย

 

“ผมชอบหลับตาแล้วจินตนาการว่า เหมือนเราเป็นเจ้าของบ้าน  และถ้าเราเข้าไป เราจะเห็นอะไร  เข้าไปเรื่อยๆ จะเจออะไร  อะไรที่ดีสำหรับเขา อะไรที่เหมาะกับเขา เราก็จะเสนอไป เช่น ถ้าอยู่กันแค่ 2-3 คน คุณจะเอา 7-8 ห้องนอนไปทำอะไร เรามาคุยกันดีกว่าว่าคุณมีความชอบอะไร คุณเป็นคนแบบไหน ชอบอยู่บ้านยังไง เราควรจะทำอะไรที่เหมาะกับคุณเท่านั้นจริงๆ ไม่ใช่ว่ามาเอาพื้นที่ไปทำอะไรที่คุณไม่ได้ใช้เหมือนทิ้งไปเปล่าๆ”

 

“บ้านต้องมีความเป็นบ้าน” หมายความว่า ต้องรู้สึกอุ่น เราจะพยายามคิดถึงความรู้สึกเวลาที่เขาได้อยู่จริงๆ  ต้องเป็นที่ที่เราอยากกลับมาพัก เราอยากมาหลบที่นี่  เราไปเจออะไรก็ไม่รู้ แต่พอเข้าบ้านเราจะรู้สึกดี  ปลอดภัย อบอุ่น  ไม่ใช่แค่ว่า Space ต้องเป็นยังไง ไม่ใช่แค่ว่า Mass ต้องสวยไหม หรือต้องเป็นสีอะไร เรื่องลึกๆ ตรงนี้ “ความรู้สึกของคนอยู่” ต้องมีอยู่ข้างในใจเราตลอด

 

นอกจากนี้ ผมเน้นเรื่อง “การออกแบบตัวอาคารให้มีความสัมพันธ์บริบท”  โอเคว่า ตำแหน่งที่ตั้งจะถูกกำหนดไว้แล้ว แต่เราจะคิดตลอดว่า อะไรก็ตามที่อยู่ตรงนี้มันไม่ได้อยู่แบบโดดๆ เราไม่ต้องพูดถึงบริบทไกลๆ ก็ได้ เอาแค่ตัวอาคารกับพื้นที่ภายนอก  มันต้องเป็นเรื่องเดียวกัน  มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่พื้นที่ภายในห้อง - บ้าน - อาคาร การต่อเนื่องของฟังก์ชั่นเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงอยู่แล้ว อีกเรื่องที่ต้องมีคือ ทั้งอาคารนี้ต้องสร้างสัมพันธ์กับภูมิทัศน์ ข้างนอกด้วย นี่คือความสัมพันธ์ของ Space และ Sequence ซึ่งจะทำให้ ได้ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป  ทำให้เกิดความรู้สึกว้าว!  นอกจากดีไซน์รรูปทรงอาคารให้สวยแล้ว เราต้อง “ดีไซน์ในแง่ความรู้สึก” ด้วย

 

อีกเรื่องที่เราโฟกัส คือเรื่อง “ประหยัดพลังงาน” ครับ ไม่ว่าจะโปรเจคไหน เวลาที่เราจัดแปลนเราจะเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่า จะติดแอร์ตรงไหน งานระบบเป็นยังไง และต้องคิดต่อไปด้วยว่าเขาไม่ได้เปิดแอร์ 24 ชม. แล้วลมจะมายังไง แดดจะเข้ามาลึกไหม เขาต้องการแดดตอนไหน  เราจะต้องทำให้ลมไหลเวียนในพื้นที่นั้นๆ เพราะมันเกี่ยวกับอุณหภูมิและภาวะอยู่สบายในบ้าน  ให้เขาอยู่ได้แบบไม่ต้องเปิดแอร์และยังสบายตัวอยู่  อันนี้คือส่วนที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา ยิ่งยุคนี้มีประเด็นเรื่องโลกร้อน เราต้องอนุรักษ์พลังงาน เราต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะมันเป็นเรื่องของทุกคนครับ อย่างเราในฐานะดีไซเนอร์ เวลาเลือกใช้วัสดุต่างๆ ถ้าเราคิดว่าใช้เท่านี้พอ คือใช้ตามความพอดีและเหมาะสมกับงานนั้นๆ ก็ถือว่าเป็นการแสดงามรับผิดชอบอย่างนึงแล้ว

 

  • แต่งบ้านให้หรูดูแพง ก็ไม่ใช่จะใส่สีทองไปทั้งห้องนะครับ ผมว่าอะไรมีอยู่เยอะเต็มห้องไปหมด มันจะกลายเป็นเท่ากันไปหมด  คำว่า “หรู” ไม่ใช่ว่าต้องสะท้อนออกมาด้วยสีทองเท่านั้น แต่ภาพรวมสำคัญกว่า สมมุติในพื้นที่นึงมีรูปปั้นขนาดใหญ่ หรือมีภาพประดับผนังเป็นรูปม้าตัวโตหรือมีแชนเดอเลียร์ยักษ์ ก็จริงอยู่ว่าของแต่ละอย่างเป็นของที่ดูแพงก็จริง แต่มันต้องมีการเลือกใช้อย่างเหมาะสม  คือ ต้องหาให้ได้ว่าอะไรคือพระเอก พระรอง และตัวประกอบในพื้นที่นั้น ๆ  “ความหรูหรา” สามารถสะท้อนผ่าน Space วัสดุ สีสัน ได้เหมือนกัน ความหรูก็ไม่ใช่จะสักแต่ว่าใหญ่  แต่ต้องมีความพอเหมาะพอดีในแบบของมันด้วย

 

  • การกำหนดว่าอะไร คือ พระเอก พระรอง ในพื้นที่  ไม่มีอะไรตายตัว แต่อย่างง่ายสุด คือตามฟังก์ชันของพื้นที่นั้นๆ เช่น ถ้าเป็นห้องนั่งเล่น อะไรที่ควรจะเด่น ก็คือ อะไรที่เกี่ยวกับฟังค์ชั่นของห้องนั้นๆ อาจเป็นชุดโซฟาหรือชุดทีวีที่เจ้าของบ้านอยากโชว์ หรือเป็นพร็อพในห้องนั้น ทั้งนี้ ก็แล้วแต่ Space ด้วย บางห้องมี Double Volume มีผนังด้านนึงเป็นผืนใหญ่ อาจจะใส่พระเอกของเราไปตรงนั้นก็ได้

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ผมว่ามุมนี้ ทำให้รู้สึกว่าอยู่แล้วดูสบาย เพราะการเลือกใช้โทนสีอ่อนสลับกับหมอนที่มีลายขึ้นมานิดนึง และชอบชั้นวางที่อยู่ข้างหลังที่เป็นแบบบิลท์อินทำให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มพื้นที่ และก็เป็นโทนสีครีมดูสะอาดๆ ให้ความรู้สึกสบาย อบอุ่นและชวนผ่อนคลาย

   

 

ส่วนมุมนี้ โดยรวมของสีมีความเรียบ แต่มีการเลือกพร๊อพ หมอน และผ้าที่มีสีแตกต่างออกมา ซึ่งเป็นสีเย็นตาเอามาแซม คือเหมือนกับว่าแค่เราใส่ Gimmick นิดเดียว ก็ทำให้ได้ความน่าสนใจเพิ่มขึ้นเยอะเลย อย่างเตียงนอน ส่วนหัวและปลายเตียงสีครีมเรียบๆ แต่พอมีผ้าสีน้ำเงินหรือหมอนเล็กๆ ที่มีลวดลายและมีสีเด้งหลุดออกมา แค่นี้ก็ทำให้ห้องดูมีอะไรมากขึ้น 

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex