ABOUT HIM
สัปดาห์นี้พูดคุยกับสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ฝากฝีไม้ลายมือในการออกแบบโฮสเทลสุดฮิปใจกลางกรุงมานักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็น Bed Station (เพชรบุรี), Boxpackers (พระนคร), Bed One Block (ราชเทวี), On the Bed (เพลินจิต) จนน่าจะเรียกได้ว่าเรียกว่าเป็นหนึ่งใน Specialist ด้านการรีโนเวทและออกแบบโฮสเทลก็ว่าได้ คุณน็อต - สิทธนา พงษ์กิจการุณ จาก A Millimetre
“จริงๆ เราทำงานได้ทุกประเภทนะ แต่งงานที่เข้ามาเยอะจะเป็นโปรเจคประเภทโฮสเทลและงานรีโนเวทซะส่วนใหญ่จนมันกลายเป็นความถนัดครับ พอมีโอกาสได้ทำเยอะ ทำซ้ำๆ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ในเทคนิคบางอย่าง ว่าตรงนี้ควรจัดการเพิ่มเติมอย่างไร...งานรีโนเวทเป็นงานที่มีเรื่องให้ลุ้นให้เซอร์ไพร์สได้ทุกวัน”
ในการรีโนเวท จุดที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องของ “พื้นที่ใช้สอย” ครับ ถ้าเป็นบ้าน สมมุติพื้นที่เดิมอาจจะเยอะเต็มที่แล้ว แต่ว่าเราอยู่กันแค่สองคน บางพื้นที่เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้ เราก็ควรลองดูว่าจะจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นไหม? หรือถ้าเป็นตึกแถว ก็จะมีปัญหาว่าห้องตรงกลางจะไม่ได้แสงสว่างอะไรเลย ก็อาจต้องรื้อออกแล้วเปิดเป็นช่องแสดง Skylight ลงมา ให้ได้แสงสว่างทั่วบ้าน คือเราไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ให้สูงสุดทุกเม็ด แต่เราควรมีความยืดหยุ่นหรือปรับมันไปใช้ประโยชน์ในแง่อื่นแทน
สำหรับงานโฮสเทล เวลาออกแบบผมจะคิดถึง “ความสัมพันธ์และกิจกรรม” ของผู้คนก่อน คือเรามองว่าการที่เขาเลือกมาอยู่โฮสเทลแทนโรงแรม นอกจากประเด็นเรื่องราคาที่พักแล้ว เขาอาจจะเห็นว่าประสบการณ์ที่จะได้จากโฮสเทล คือ การจะได้เจอผู้คนใหม่ๆ ได้นั่งคุยกันตรงพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งเราก็ต้องคำนึงและให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางค่อนข้างเยอะครับ ซึ่ง “พื้นที่ส่วนกลาง” ก็มีหลายประเภท ถ้าเป็นแขกชาวยุโรป เขาจะชอบมารวมกันอยู่พื้นที่ส่วนกลางใหญ่ๆ แล้วก็มีกิจกรรมสนุกสนานเฮฮากัน แต่ถ้าเป็นกลุ่มเอเชีย จะชอบสุงสิงกันในกลุ่มของตัวเอง เราก็ต้องออกแบบ ให้มีพื้นที่เล็กๆ ตรงนั้นตรงนี้ ให้เขาอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ของเขาได้ ทั้งนี้ก็ต้องดูแนวทางของ Owner ว่าอยากต้อนรับแขกประเภทไหนเยอะหน่อย เราก็จะพยายามให้เป็นไปในแนวทางนั้น
ส่วน “วัสดุ” สำหรับงานโฮสเทล ส่วนใหญ่ผมจะเลือกวัสดุที่ทนไม้ทนมือนิดนึง เพราะลูกค้ามีมากมายหลายประเภท เช่น ถ้าเป็นพื้น พวกพื้นขัดมันหรือพื้นคอนกรีต จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี เพราะไม่ต้องทำความสะอาดหรือดูแลอะไรบ่อยๆ เราแค่ทำความสะอาดนิดหน่อยมันก็ดูเหมือนเดิมตามธรรมชาติแล้ว หรือพวกกระเบื้องลายไม้ ก็ควรเลือกโทนสีเข้มหน่อย เพราะบางทีล้อกระเป๋าที่ลากไปมา ก็จะทำให้เกิดรอยต่างๆ ได้
นอกจากนี้ เราจะพยายามเลือก “วัสดุ” ที่ใช้ง่าย มีอยู่ทั่วไปมาเล่นในรูปแบบใหม่ๆ ตัวอย่างเช่นที่ Bed One Block ปกติตัว Façade หุ้มอาคารมักจะเป็นพวกแผ่นตะแกรงเหล็กเจาะรู (Perforated Sheet) แต่เราก็ลองเอามันมาแปลงเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนกระเบื้องว่าว แล้วติดเรียงกันขึ้นไปเพื่อสร้างเป็นแพทเทิร์นดีไซน์ใหม่ๆ หรือย่างที่ Bed Station ที่เป็นโฮสเทลสไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์ เราก็ใช้ “แผงประตูเหล็กยืด” ซึ่งฟังก์ชั่นเดิมของมัน คือถูกใช้เป็นประตูตึกแถวซึ่งอาจจะเป็นฟังก์ชั่นในแง่ของการปิดกั้น ป้องกันโจรขโมยให้อาคารของเราทำนองนั้น แต่เราเอามาทำเป็น Façade ของอาคารแทน คือใช้มันในแง่ของ Decoration ซึ่งก็ได้กลิ่นอายของความร่วมสมัย ขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์ในแง่ของฟังก์ชั่นด้วย คือช่วยกรองแสงที่จะเข้ามาในตัวอาคาร เป็นต้น
จริงๆ วัสดุเหล่านี้ก็เป็นวัสดุธรรมดาทั่วไป เพียงแต่ถูกนำมาจัดเรียงหรือนำเสนอในรูปแบบใหม่ ซึ่งผมว่า ก็ดูสนุกดี ผมชอบลองอะไรแปลกๆ กับสิ่งที่คนเขาอาจจะใช้กันอยู่แล้ว เพียงแต่เราลองหาวิธีอื่นหรือเปลี่ยนแปลงวิธีใช้มันยังไงได้บ้าง เหมือนเป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้งานวัสดุ เพราะมันไม่จำเป็นต้องถูกใช้อย่างที่เคยใช้กันตามปกติ
นอกจากนี้ ก็อาจมีเรื่องของการดีไซน์ Gimmick บางอย่าง เป็นลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมพิเศษให้กับแขกที่มาพัก เช่น บางที่มีพื้นที่อาบแดด สนามมวย โต๊ะพูล มีที่นั่งเล่นคอมฯ เล่นเกม ที่เอาไว้นอนเกลือกกลิ้งอ่านหนังสือ อะไรทำนองนั้น เราก็ต้องช่วยนำเสนอ Owner ไปด้วย
ถ้าคุณคิดจะรีโนเวทตึกมาเป็นโฮสเทล สิ่งที่ควรคำนึง คือ ควร “หาเอกลักษณ์” ของตัวเองก่อนว่า เราต้องการให้เป็นโฮสเทลแบบไหน? หมายถึงเอกลักษณ์ทั้งทางกายภาพและการให้บริการ ถ้าเรารู้ตัวเองว่าต้องการแบบไหน มันจะทำให้เรามีเป้าหมายและช่วยให้เราไม่หลงทาง ถึงแม้อาจจะยังนึกไม่ออกในช่วงต้น ก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดีย มุมมอง กับผู้ออกแบบเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางได้ และอย่าลืม "คุณภาพความเป็นอยู่" ของแขกที่มาพักว่า อยากให้แขกพบเจอประสบการณ์แบบไหนในการมาเที่ยวและมาใช้เวลาอยู่กับเรา
- การจัดสรร Space ในโฮสเทลให้อยู่สบาย ก็จะดูพวกปริมาณ “แสง” เพราะเมื่อมีแสงเข้าพื้นที่ จะทำให้รู้สึกโปร่งแต่อาจไม่จำเป็นต้องได้ลมตลอดเวลาเหมือนบ้าน เพราะเขาอยู่ในสภาพปิด และเปิดเครื่องปรับอากาศอยู่แล้ว ทั้งนี้ อาคารที่มีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ๆ อย่างอาคารพาณิชย์ มักจะถูกนำมาปรับปรุงเป็นโฮสเทล ซึ่งจะมีปัญหาในแง่ที่ว่าทุกห้องของโรงแรมอยากได้แสงสว่าง ดังนั้น ห้องที่อยู่ข้างในเราก็ต้องหาวิธีจัดการ เช่น อาจปรับใช้เป็นฟังก์ชั่นที่ไม่ต้องการแสงมาก อย่างห้องประชุมหรือห้องเก็บของ ส่วนห้องที่เป็น Priority ที่แสงต้องเข้าถึง คือ ห้องพัก และโถงทางเข้า เราก็ต้องจัดสรรหรือเขยิบพื้นที่ออกไปเพื่อให้ได้แสงเข้าถึงข้างในได้มากที่สุด
- จุดหลักที่ควรทำความเข้าใจในงานรีโนเวท คือ “โครงสร้างอาคาร” ซึ่งปกติเราจะชอบขยายมันออกมา ซึ่งแนะนำว่าตรงนี้ควรจะแยกกันระหว่าง “ส่วนที่ขยายออกมาใหม่” กับ “ส่วนที่เป็นโครงสร้างเดิม” เพราะถ้าเราไปฝากไว้กับโครงสร้างเดิม มันจะดึงโครงสร้างอาคารและอาจจะร้าวบ้างเพราะความทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน ฉะนั้น ควรทำให้แยกกันไปเลยดีกว่า ไม่งั้นจะมีปัญหาตามมาเรื่อยๆ
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ผมว่า มุมนี้ให้ไอเดียเรื่อง “แต่งผนัง” ครับ คือเราไม่จำเป็นต้องใช้แค่กรอบรูปอย่างเดียว บางทีเขาก็ใช้พรมมาแต่งแทน หรืออย่างอันนี้ใช้หมอนซึ่งมีลวดลายและสีสันต่างๆ ดูคล้ายกับเฟรมผ้าใบ และมีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์โทนสีที่ดูกลมกลืนกันเข้ามาร่วมด้วย ก็ทำให้บรรยากาศโดยรวมดูอบอุ่นครับ
ผมชอบมุมนี้นะ มันดูสนุกสนานดีครับ เหมือนเป็นนิทรรศการย่อม...สำหรับวิธีเลือก “โคมไฟ” ของผมจะมีอยู่ 2 แบบ คือ เลือกแบบที่กลมกลืนดูเรียบๆ ง่ายๆ คือถ้าคุณอยากได้แบบที่ดูกลมกลืนก็ให้เลือกโคมไฟอันที่สีดูเข้ากับบ้านหน่อย หรือเลือกแบบที่ดีไซน์เด่นๆ ไปเลย คือเน้นให้มันหลุดออกมาจากพื้นที่รอบๆ โดยเลือกอันที่ดีไซน์แรงๆ ไปเลย จัดจ้านทั้งสีและรูปทรง