ABOUT HIM
จาก “เด็กถาปัตย์” ที่ไม่ได้กะจะโตขึ้นมาเป็นสถาปนิก! จากที่เรียนแค่เอาความสนุกเฮฮา แต่ในวันนี้เขา “หลงรักในวิชาชีพนี้" เต็มหัวใจ ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในหลายสถาบันการศึกษา พร้อมเป็นครูผู้สร้างและปลูกฝังแนวคิดในการออกแบบดีๆ ให้กับ “ว่าที่สถาปนิก” รุ่นแล้วรุ่นเล่า สัปดาห์นี้ ชวนคุณมาทำความรู้จักกับ อาจารย์เต๋า - คมสัน สกุลอำนวยพงศา Managing Director แห่ง 391 Studio
“ตอนแรกผมไม่ได้กะจะเป็นสถาปนิกนะ แต่อยากเป็นสัตวแพทย์ เพราะรักสัตว์และเลี้ยงสัตว์เยอะมาก บังเอิญตอนมัธยมเพื่อนชวนไปติวความถนัดทางสถาปัตย์ วินาทีนั้นทำให้เห็นบรรยากาศของการติว ก็รู้สึกว่าทำไมคนพวกนี้เต็มไปด้วยความบ้าบอ หัวเราะกันแบบหลุดโลกตลอดเวลา!? สุดท้ายผมก็สอบติด แต่ตอนเรียนจบก็ไม่ได้คิดจะทำสถาปัตย์อีก เพราะเราเรียนเอาสนุก เอาบรรยากาศ (แต่ก็ตั้งใจเรียนนะ) ตอนเรียนก็ทำแต่กิจกรรมบันเทิง พวกเขียนบท แสดงละครเวที เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ จนวันหนึ่งคิดว่าต้องทำงานเลี้ยงชีพจริงจังแล้วล่ะ เลยคุยกับเพื่อนและชวนทำงานสถาปัตย์กัน”
สิ่งที่ประทับใจในวิชาชีพนี้ เกิดขึ้นตอนที่ผมทำบ้านหลักแรก ขนาด 1,000 ตร.ม. ที่ จ. สิงห์บุรี เป็นที่ดินเปล่า มีต้นจามจุรีต้นใหญ่อยู่ท้ายไซต์ ผมบอกเจ้าของว่าอย่าตัดนะ เดี๋ยวผมทำอะไรให้ดู ผมอยู่กับโปรเจคนี้ 5 ปี ตั้งแต่ลูกเขาเพิ่งคลอด และต้นไม้นี้ก็ค่อยๆ โตไล่มากับโครงสร้างอาคาร มันค่อยๆ โน้มเข้ามาหาตัว Space ซึ่งเป็นระเบียงที่ผมทำไว้ คือ เวลาออกแบบ เราไม่ได้มองแค่ว่าบ้านหลังนี้สวยยังไง แต่เราจะมองรอบๆ ว่ามันมีอะไรเป็นบริบทอยู่ด้วย และไฮท์ไลท์ก็อยู่ที่ลูกของเขา ที่เราเห็นตั้งแต่เพิ่งคลอด จากพูดไม่ได้ เริ่มวิ่ง และโตมาพร้อมๆ กับบ้านที่กำลังก่อสร้าง ในวันที่โปรเจคเสร็จ ลูกเขาจูงมือผมแล้ววิ่งพาไปดูบ้าน วิ่งไปมุมนั้นมุมนี้แล้วบอกว่าชอบตรงนี้มากเลย...มันเป็น Moment ของความรู้สึกที่ประทับใจนะ เคยมีคนถามว่า ต้องคิดงานละเอียดขนาดไหน? ระดับเซนติเมตรเลยเหรอ? วันนั้นผมได้คำตอบอีกแบบ “มันต้องเข้าไปนั่งในใจเขาทุกตารางนิ้วเลยด้วยซ้ำ” ...เด็กคนนี้ต้องโตไปกับบ้านหลังนี้อีก 20 ปี บ้านนี้จะเป็นพื้นที่ของประสบการณ์ การรับรู้ การกำหนดทิศทางชีวิตของคนคนหนึ่ง พูดเรื่องนี้ทีไร ผมรู้สึกดีกับวิชาชีพนี้ทุกที “คือเราทำแบบเล่นๆ ไม่ได้เลยนะ วิชาชีพนี้” เพราะมันมีอะไรที่ซ่อนอยู่มากมาย
“เวลาจะออกแบบบ้าน ส่วนที่ผมใช้เวลาเยอะที่สุด คือ การคุยกับ Owner เพื่อจูนกันก่อน ดูเคมีในการทำงานกันก่อนซึ่งสำคัญมาก ไม่ใช่เพื่อบอกว่าใครดีหรือไม่ดี แต่เพื่อศึกษาว่าเขาเข้าใจบทบาทวิชาชีพไหม เพราะว่างานตรงนี้ ตั้งแต่เริ่มออกแบบจนงานเสร็จก็ใช้เวลาหลายปีนะ ฉะนั้นการอยู่กับคนๆ นึง ไปอีกหลายปี เราต้องทำความรู้จักกัน ถ้าเขาเข้าใจวิธีการขั้นตอน ผมว่ามันไปต่อได้ครับ ซึ่งสิ่งที่ผมพยายามให้ข้อมูลกับลูกค้าเสมอ คือ ความแตกต่างระหว่างดีไซน์เนอร์กับผู้รับเหมา คือ ถ้าลูกค้ามาบอกว่าไปเจอแบบนี้มา อยากได้แบบนี้ หรือเห็นข้างบ้านทำแบบนี้จะเอาแบบนี้ หมายความว่าเขาต้องการคนที่ทำตามสิ่งที่เขาอยากให้เป็น ซึ่งแปลว่าคนที่เขาตามหาอาจไม่ใช่ดีไซน์เนอร์ แต่น่าจะเป็นผู้รับเหมาแล้วล่ะ เพราะดีไซน์เนอร์จะมีเรื่อง “สุนทรียภาพและความงาม” เข้าด้วย...ถามว่ามีทำไม? ก็บอกตรงๆ ว่า เพื่อความสุขครับ!! เพราะมันก็คือฟังก์ชั่นอย่างนึงนะ ซึ่งถ้าเราพยายามอธิบายเรื่องดีไซน์และความงามไปแล้ว เขาบอกว่าไม่ต้องขนาดนั้นหรอก แบบนี้แปลว่าเขาก็ไม่ต้องเสียเวลาเรื่องค่าออกแบบ ค่าดำเนินการแล้วล่ะ เขาอาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเสียตรงส่วนนั้นครับ
ผมมองว่าหน้าที่เราเหมือนผู้กำกับ ผู้ประพันธ์ หรือผู้เขียนบทนะ อาจเพราะผมเป็นสถาปนิกที่มาทางสายบันเทิง (หัวเราะ) เลยทำให้เราอินกับวิธีการเล่าเรื่อง ผมมักจะมองโจทย์ที่ได้รับมาจากลูกค้าเป็น Scene คือมองเห็นเป็นองค์ประกอบภาพสวยๆ แล้วก็คิดต่อว่าจะออกแบบเพื่อไปหาซีนนั้นยังไง อันนี้คือวิธีของเราครับ คือจริงๆ เราก็เคยทดลองมาหลายแบบแล้ว แต่พอออกแบบไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ มันไม่มีปลายทาง ดังนั้น ผมเลยเริ่มคิดจากปลายทางก่อน เพื่อให้มันมีภาพความงามและลำดับเรื่องราวที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ ในโลกแห่งความจริง ก็จะมีเรื่องงบประมาณและเวลามาเป็นตัวปราบเซียนครับ ผมก็จะพยายามทำให้ Space นั้น ดูสวยได้โดยที่ยังไม่มีอะไร หมายถึง สวยโดยตัวเอง สวยแบบที่ยังต้องมีการปรุงแต่งอะไรมาก เพราะพอเราใส่นู่นนี่ประดับประดาลงไปเท่าที่ควรจะมี และท้ายที่สุดเจ้าของบ้านก็อาจจะเอามันออก...ตรงนี้แพงไหม! ตรงนั้นเท่าไหร่? พอๆ ถอยๆๆ คือเอาออกจนไม่เหลืออะไรเหมือนคนโป๊ ซึ่งหน้าที่ผมคือต้องทำให้คนคนนี้ แม้จะโป๊แต่เขายังต้องดูดี ดูหล่อ ดูสวยอยู่นะ คือ เวลาออกแบบเราต้องเดาทางไว้ก่อนครับ ด้วยการทำให้เขาสวยด้วยตัวเอง “สวยได้ในความไม่มีอะไร” ซึ่งในงานสถาปัตยกรรมมันจะมีภาษาบางอย่าง เรามีหน้าที่นำภาษานั้นไปยืด หด หรือปรับให้มันเกิดความงามด้วยตัวของมันเอง ซึ่งความงามของผมก็เกิดจากการที่เราเข้าใจตัวของ User ให้มากที่สุด และสุดท้ายมันก็จะตอบออกมาเป็น Scene เป็น Space นั้นๆ
ถ้าจะเริ่มต้นออกแบบอะไรซักอย่าง ผมว่าเราควรหา Key คือคำว่า “ปัญหา” ก่อน ปัญหาคืออะไร? ทำไมต้องเป็นอันนี้? ทำไมต้องมีดีไซน์นั้นไปนำเสนอลูกค้า? เขาให้โจทย์อะไรมา? เป็นปัญหาหรือเปล่า เช่น ปัญหาคือมืด สิ่งที่คุณจะนำเสนอคือต้องให้ลูกค้าเห็นความสว่าง แต่ถ้าเป็นเรื่องความงาม ผมก็จะคุยกันกับดีไซน์เนอร์ก่อนว่า คุณอยากทำอะไร เพราะอะไร...หลายครั้งที่นักศึกษาจะพรีเซนต์ด้วยคำว่า “ผมอยากให้มีตรงนี้” คำว่า “ผมอยากให้” เนี่ย ผมจะกากบาทและสะกิดทุกครั้งว่า สถาปนิกอยาก...แล้วลูกค้าอยากรึเปล่า? ฉะนั้น ดีไซน์เนอร์ควรต้องท่องไว้เสมอว่า ไม่ใช่ผมอยาก ซ่อนความอยากของเราไว้ก่อน คือคุณจะมีความรู้สึกที่อยากให้เป็นสีแดงน่ะได้ แต่คุณจะหว่านล้อมจนเขายอมให้เป็นสีแดงได้ไหมล่ะ ถ้าได้ก็เอาสิ แต่ถ้าไม่ได้คุณอย่าใส่มันลงไป เพราะคุณทำงานให้เขา ถ้าคุณตอบกลับมาแล้วมีแต่ตัวตนของคุณ ผมว่าอันนั้นคือเป็นการเอาเปรียบเขานะ
คำว่า “ดีไซน์” สำหรับผม แปลว่า การแก้ปัญหา ซึ่งบางทีดีไซน์ของผมอาจจะไม่ได้ซับซ้อนหรือว้าวอะไรมากมาย บางทีแค่รู้สึกว่าถ้าเขานั่งแบบนี้แล้วเบาะนั่งมันลื่นไหล ผมก็แก้ปัญหาให้เขานั่งพิงแล้วตัวไม่ไหล แค่นี้เขาก็แฮปปี้แล้วครับ...อันนี้คือ “ความงาม” ในความหมายของผมนะ
ผมว่า “ความงามคือสัมผัสแรก” แต่สิ่งที่จะอยู่ตลอด คือ เรื่องของ “ความรู้สึกสุขใจ” ที่เกิดขึ้นในนาทีที่เขาใช้งาน ตรงนั้นสำคัญกว่า เช่น หน้าหนาวหรือในห้องแอร์ ถ้าเราทำที่ท้าวแขนเก้าอี้เป็นไม้มันก็รู้สึกสบาย แต่ถ้าใช้เป็นวัสดุเหล็กสัมผัสแล้วเย็น นั่งแล้วสะดุ้ง แค่นี้ก็ไม่มีความสุขแล้ว ต่อให้เก้าอี้ตัวละ 40,000 มันก็ไม่สุขนะครับ คือเราพยายามหาวิธีเล่าเรื่อง (ดีไซน์) แบบรสหวานรับประทานง่าย
เวลาไปสอนน้องนักศึกษา ผมค่อนข้างฟรีนะครับในแง่ของจินตนาการ เอาเลยเรื่องฟังก์ชั่นผมให้ความสำคัญแค่นี้เลย ไม่ได้หมายความว่าไม่สอนอะไรนะครับ แต่บางเรื่องผมว่ามันเป็นสิ่งที่นักศึกษาควรต้องรู้อยู่แล้ว เช่น ทำไมโต๊ะต้องสูง 75 ซม. หรือประตูสูงไปไหม เล็กไปไหม ซึ่งบางทีเด็กก็ชอบมีคำถามแบบนี้ แสดงว่าไม่ได้เกิดการวิเคราะห์ ผมก็จะให้ตรงนี้ก่อน ที่เหลือจะพูดเรื่องวิธีคิด และสุดท้ายที่สำคัญ คือ “เรื่องจริยธรรม”ซึ่งไม่ใช่เรื่องโกงไม่โกง แต่มันเป็นเรื่องว่า คุณกำลังเอาเปรียบเขาไหม? วิธีคิดของเรากำลังเอาเปรียบลูกค้าอยู่หรือเปล่า? เราทำวิชาชีพนี้ เรารู้ทั้งรู้ว่าเขาจะเชื่อเรา เช่นว่าปลายทางที่ลูกค้าจะได้ คือ งานที่สวยแน่ๆ...สวยในภาพ แต่เดี๋ยวลูกค้าต้องบำรุงรักษาแบบสาหัสแน่นอน...คือถ้าคุณรู้ว่ามันไม่เหมาะ แต่คุณจะได้ภาพสวยเป็นโปรไฟล์ของตัวเอง เลยเลือกที่จะใส่มันลงไป อันนี้คงไม่ใช่ และในทุกๆ ครั้งที่ดีไซน์อะไร คุณตอบในสิ่งที่คุณออกแบบได้ไหม คุณแก้ปัญหามันยังไง นั่นเป็นเรื่องของดีไซน์ที่ผมสอนเด็กๆ เพราะสุดท้ายมันไม่มีอะไรซับซ้อน แค่คุณมีเหตุผลกับสิ่งที่คุณกำลังทำหรือเปล่า ก็เท่านั้น
- ผมให้ความสำคัญกับ “พื้นที่เปิดโล่ง” หรือ “พื้นที่สีเขียว” เพราะในเมืองเราจะเจอปัญหานี้เยอะ คือพื้นที่สีเขียวแทบไม่มีเลย ผมต้องพยายามเปิดหน้าต่าง เปิดหลังคา เปิดฟ้า ยืดให้มันโปร่งที่สุด ผมเชื่อว่าเราทุกคนที่อยู่ในห้องเล็กๆ ไปจนถึงบ้านหลังหนึ่ง มันจะมีบางวันที่เราเหน็ดเหนื่อยมาจากอะไรบางอย่างในชีวิตแล้วเรากลับมา เราจะเจอกับ Space ที่มันไม่ได้ช่วยเราเลย คือถ้าในภาวะอารมณ์ปกติ ผมมองว่าเราอยู่ใน Spaceนั้นได้ แต่ในบางภาวะ ที่เราต้องการให้ Space ช่วยเราอีกนิดนึง เยียวยาเราอีกหน่อย สีเขียวช่วยได้ เสียงน้ำช่วยได้ แค่ระเบียงมุมเล็กๆ ช่วยได้ เว้นออกไปสักเมตร เปิดให้มองเห็นพื้นที่ตรงนี้ แล้วโรยหินโรยกรวด มีต้นไม้ที่เพิ่งไปซื้อมา จัดไฟส่อง แค่นี้พอทุกคนมองตรงมุมนั้นก็จะเริ่มสุขใจ
- ถึงจะเป็นแค่ซอกมุม แต่ก็มีความหมาย ส่วนใหญ่บ้านเราจะไม่สนใจเรื่องของซอกมุมเท่าไหร่ เรามักปล่อยให้มันเกิดตั้งแต่วันแรกที่ออกแบบ แล้วก็มาให้สถาปนิกคนที่สองใน 20 ปีข้างหน้า ช่วยแก้ปัญหาว่า เนี่ย! ไม่เคยใช้เลย ปล่อยมานานมากเลย ไม่รู้จะทำอะไร หรือบางคนบอกว่าจะสร้างบ้านใหม่ให้ใหญ่ขึ้น ผมก็ต้องถามว่า ของเดิมมันไม่พอหรือเปล่า? เขาตอบว่ามันก็พอแต่ตรงนี้ไม่ได้ใช้ ผมก็แนะนำว่า งั้นไม่ต้องสร้างใหญ่ขึ้น เราแค่เอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้กลับเข้ามา คือทำให้มันใช้งานได้เท่านั้นเอง
- บางพื้นที่อย่าง “ครัว” ซึ่งถูกใช้ แต่จะถูกใช้ในรูปแบบเดิมๆ ผมมองว่า ครัวทำหน้าที่ได้มากกว่าการที่จะ ต้ม ผัด แกง ทอด เช่น ถ้าลองเปิดหน้าต่างเพิ่มขึ้น แล้วตรงรั้วเราปลูกพืชสวนครัวกินได้ เราก็เปิดหน้าต่างแล้วเอื้อมไปเด็ดเข้ามาก็ได้ ผมว่าอันนี้คือเสน่ห์ของวิถี ไม่มีใครฝืนที่จะใช้งานมัน ได้พื้นที่สีเขียวในการมองเห็นด้วย หรือพื้นที่ใต้บันไดทำอะไรได้บ้าง ทำได้เยอะเลย บางทีเราจะเห็นตั้งแต่เรื่องฟังก์ชั่น เช่น เป็นห้องน้ำ หรือบางคนถ้าไม่ได้ซีเรียสเรื่องที่ว่าเป็นทางคนเดินขึ้นลง เขาก็อาจจัดพื้นที่ตรงนี้เป็นที่นั่ง เป็นมุมนั่งเล่นมุมโซเซียลของบ้านได้ จริงๆ แล้วพื้นที่ใต้บันได สามารถเป็นได้ตั้งแต่ ห้องรับแขก ห้องน้ำ ห้องครัว คือมันเป็นได้หมด อยู่ที่ว่าบันไดตรงนั้นหน้าตาของพื้นที่เป็นอย่างไร
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ห้องนี้มีเรื่องของ “สีสนิมและหิน” ซึ่งสนิมเป็นวัสดุหนึ่งที่ลูกค้าชอบสงสัยว่าใช้สนิมแล้วจะสวยไหม จะดูสกปรกไหม ซึ่งมันก็เห็นอยู่ว่าไม่สกปรก มันมีวิธีจัดการเรื่องของการนำความเป็น Rustic Style เข้ามาผสมกับทองเหลือง ทองแดง และหิน (ซึ่งสนิมบางทีไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับโลหะ แต่มันเกิดขึ้นในหินได้เช่นกัน) ฉะนั้น การมิกซ์วัสดุด้วยการสร้างกลุ่มแก็งค์เดียวกันก็ทำให้สนิมสามารถเกิดความสวยงามของมันขึ้นมาได้ เลยรู้สึกว่าห้องนี้ มีการใช้ “วัสดุที่ถูกปฏิเสธ” ออกมาให้ดูสวยงามดีครับ
ห้องนี้มีเรื่องของ “สีสนิมและหิน” ซึ่งสนิมเป็นวัสดุหนึ่งที่ลูกค้าชอบสงสัยว่าใช้สนิมแล้วจะสวยไหม จะดูสกปรกไหม ซึ่งมันก็เห็นอยู่ว่าไม่สกปรก มันมีวิธีจัดการเรื่องของการนำความเป็น Rustic Style เข้ามาผสมกับทองเหลือง ทองแดง และหิน (ซึ่งสนิมบางทีไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับโลหะ แต่มันเกิดขึ้นในหินได้เช่นกัน) ฉะนั้น การมิกซ์วัสดุด้วยการสร้างกลุ่มแก็งค์เดียวกันก็ทำให้สนิมสามารถเกิดความสวยงามของมันขึ้นมาได้ เลยรู้สึกว่าห้องนี้ มีการใช้ “วัสดุที่ถูกปฏิเสธ” ออกมาให้ดูสวยงามดีครับ