ABOUT HIM
“เราต้องปล่อยตัวให้ว่างเสมอ แล้วเดี๋ยวเสียงของวัตถุดิบชั้นดีจะค่อยๆ ดังขึ้นมาแล้วจะบอกเราเองว่าพื้นที่นั้นควรจะเป็นอย่างไร หมายถึงลืมไปก่อน ว่าบ้านต้องเป็นอย่างนั้น บ้านต้องเป็นอย่างนี้ ให้ถอยออกมามองสิ่งรอบตัวและพิจารณาวิถีของตัวเองให้ดี ความยึดติดในภาพจำเราจะลดลง จะเหลือแต่การให้ความหมายกับบ้านของตัวเองได้เข้าใจมากขึ้น และสิ่งนี้จะนำพาให้เกิดเรื่องราวใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อนได้...นักออกแบบควรทำตัวให้เบาและเป็นนักปรุงที่ดี” สัปดาห์นี้พูดคุยกับ คุณจีฟ - สุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์ แห่ง Greenbox Design สถาปนิกผู้พร้อมทลายมายาคติของคำว่า “บ้าน”
สิ่งที่เราพยายามทำตอบนี้คือ ทลายความคิดความเชื่อที่ฝังหัวเราตลอดมาว่า “บ้าน” ควรเป็นอย่างไร เราลองตั้งคำถามาว่า ทำไมเราต้องไปยึดติดกับภาพเดิม ๆ ของบ้านที่เราคุ้นชิน หรือฟังก์ชั่นพื้นฐานตามตำราที่พึงมี เราสามารถนำพาคนเข้าไปอยู่ใน Space ใหม่ๆ นอกเหนือจากขอบเขตของจินตนาการของเขาได้หรือไม่ เหมือนที่มนุษย์เคยนำพาตัวเองออกจากถ้ำจนสร้างสถาปัตยกรรมเหมือนดังทุกวันนี้ อย่างบางงานเราทำบ้านให้เจ้าของมองไม่เห็นบ้านของตัวเองเลยด้วยซ้ำ เพราะเราวิเคราะห์แล้วว่า “ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นยิ่งใหญ่กว่ารูปลักษณ์ของตัวบ้าน” ไม่จำเป็นต้องพยาพยามทำให้สถาปัตยกรรมโดดเด่นขนาดนั้น โดยบ้านหลังนี้มีบริบทเป็นเนินเขา มีบ่อน้ำและภูเขาอยู่หลังบ้าน สิ่งที่เราสร้างให้เขา คือ มีทาวเวอร์แค่หลังเดียวตั้งเด่นขึ้นมา ให้มองเห็นเหมือนเป็นแทงค์น้ำสูงๆ ดูไม่ออกว่าเป็นบ้าน แต่พอขับรถเข้าไปเรื่อยๆ ตามทางที่จะค่อยๆ เหมือนทอนสเกลของเราให้เล็กลง แล้วไประเบิดพื้นที่ข้างในให้เห็นแต่ภูเขากับผืนน้ำ แทบมองไม่เห็นบ้านเลย เห็นแต่กำแพงนี้นำทางเข้าไป แล้วค่อยไปเจอบ้านหลังนึงซึ่งถูกฝังอยู่ในเขา เรื่องที่น่าสนุกคือ ผมชอบคิดถึง Scene ในแต่ละช่วงวัน อย่างส่วนของห้องนอนใหญ่ที่อยู่สูงสุด จะทำให้เขาเห็นวิวของเมืองตอนกลางคืน ส่วนกลางวันที่เขาใช้ชีวิตอยู่ข้างล่าง เขาจะได้เห็นภูเขาสวยๆ มากกว่า นี่คือตัวอย่างของ “พฤติกรรม” ของลูกค้าและ “ปรากฏการณ์ของธรรมชาติ” ที่จะเป็นตัวบอกเราว่า “บ้านต้องเป็นยังไง” (แต่บางงานธรรมชาติก็ทรงพลังกว่าตัวสถาปัตยกรรม)
คือเราพยายามทำลาย Sequence ทุกอย่างที่ User เคยชิน เช่น เรามักจะเข้าใจว่า เปิดประตูบ้านแล้วต้องเจอห้องรับแขก โดยที่เราไม่เคยถามเลยว่าแขกคือใคร? มาตอนไหน? ทำไมต้องมีโซฟา? สมมุติถ้าเป็นบ้านที่มีพื้นที่เล็กๆ ผมก็ต้องเลือกแล้วว่า เมื่อเจ้าของบ้านเข้ามาแล้วเขาควรเจออะไรก่อน แทนที่จะเอาโซฟาไปวางให้เขาเดินผ่าน ผมก็จะถามเขาเลยว่ากลับบ้านมาคุณทำอะไร เช่น ถือของถือผักเข้ามา ทำกับข้าวกิน เสร็จแล้วค่อยไปนั่งดูทีวี แล้วค่อยอาบน้ำนอน ฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำให้เขาคือ เปิดบ้านมาแล้วเจอที่กินข้าวก่อน ซึ่งวิธีการแบบนี้ก็ใช้กับคนอื่นไม่ได้ เพราะคนอื่นเขาก็มีแขกจริงๆ อาจจะต้องมีห้องรับแขกอยู่ด้านหน้า
ที่ Greenbox Design เราจะเน้นออกแบบบ้านพักอาศัยครับ ซึ่งจุดที่เราให้ความสำคัญจริงๆ คือเรื่องคน คำว่า “ปฏิสัมพันธ์ของคน” ซึ่งแต่ละบ้านก็มีพฤติกรรมและความสนิทชิดเชื้อของคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น “สถาปัตย์ไม่ใช่แค่การสร้างที่อยู่อาศัย” แต่คือการเอาดีไซน์ไปแก้ปัญหาเรื่องของการใช้ชีวิต...ดีไซน์ คือ การให้ความหมายกับสิ่งที่เราทำอยู่ ซึ่งวิธีการและการให้ความหมายของบ้านแต่ละบ้านก็แตกต่างกันไป
“เราคงไม่กลับไปพูดเรื่องบ้านต้องอยู่เย็นสบาย เพราะอันนั้นเป็นพื้นฐานที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดเป็นเรื่องของ “พฤติกรรม” ที่เราเข้าไปจัดการมากกว่า ไม่ใช่ให้เขาเข้ามาอยู่ในสถาปัตยกรรมที่เราสร้างเพียงอย่างเดียว“ตัวผู้อยู่อาศัย” ต่างหากที่จะเป็นปัจจัยบอกว่า “สถาปัตยกรรมจะเป็นอย่างไร”
“ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมากว่า 10 ปี ทำให้เราเกิดกระบวนการดีไซน์ที่ไม่ได้ยึดติดว่า เครื่องมือชิ้นไหนดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุดในการออกแบบ...ทุกวิชาชีพ มีความคล้ายคลึงกันอยู่ คือ มีวัตถุดิบ มีกระบวนการ ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราต้องนึกถึง คือ Content หลักหรือสิ่งที่เราต้องเข้าไปจัดการในงานนั้นๆ แล้วค่อยมาดูว่าเราจะใช้วิธีไหนในการแก้ปัญหา”
เวลาออกแบบบ้าน เรามักให้ลูกค้ามีส่วนร่วมอย่างน้อยๆ ส่วนร่วมแรก คือ ต้องตอบแบบสอบถามที่จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขาเกิดการทำความรู้จักกับตัวเองให้มากขึ้น เพราะ บางคนไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าพฤติกรรมของตนเองเป็นอย่างไร ส่วนร่วมที่สอง อยู่ที่ว่าเขาจะอยากสนุกกับเราขนาดไหน บางคนอยากมาตัดโมเดลด้วยก็มี งานสนุกๆ มันคืองานที่เราไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นยังไง แต่เรารู้ว่าเราจะทำอะไร มันเหมือนเล่นเกมกัน เช่น บางงานเราไปชวนลูกสาวเขาเล่นดินน้ำมัน โดยเราก็ Educate เขาไปด้วย โดยการบอกว่าสีแดงเป็นตัวแทนของห้องหนูนะ สีนี้ห้องคุณย่านะ หนูอยากให้คุณย่าอยู่มุมไหน เพราะอะไร พอเขาแปะลงไป เราก็อธิบายเพิ่มว่าตรงนี้ร้อนนะ คุณย่าชอบความร้อนรึเปล่า คือเราก็เล่นกับเขาอย่างนี้ไปตลอด...แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องของการทดลอง ตอนแรกเราก็ไม่มั่นใจว่ามันจะใช้งานได้ สุดท้ายเราก็เอาบ้านดินน้ำมันที่เด็กปั้นมาตัด Section ดูว่า Space ที่มันเกิดขึ้นจากฝีมือของเด็ก 8 ขวบในตอนนั้น จะสามารถทำงานต่อได้ไหม ปรากฏว่ามันได้!! มันคือแนวทางของงานสถาปัตยกรรมเลยนะ เราก็เลยเอา Section นั้นไปทำงานต่อ ซึ่งมันเลยเกิดกระบวนของ “การมีส่วนร่วม” กับเจ้าของบ้าน...ซึ่งผมว่าเป็นที่ประสบความสำเร็จนะสำหรับผม
ถ้าจะมาออกแบบบ้านกับ Greenbox Design...ขอให้ลืมปลายทางไปก่อนครับ ผมว่ามันเหมือนคนสองคนจะแต่งงานกัน ใครจะสามารถให้คำมั่นสัญญากันได้บ้างว่าปลายทางจะเป็นยังไง? ไม่มีหรอกครับ เราสัญญากันได้แค่ว่า เราจะทำแบบนี้ เราจะเป็นคนแบบนี้ มีแผนยังไง จะมีลูกกี่คน แต่เราไม่รู้หรอกว่าเราจะตายตอนไหน ลูกเราจะประสบไหม ฉะนั้นอยู่ดีๆ จะไปตั้งความฝันสวยหรูไว้ปลายทางแล้วทำไม่ได้ ผมก็เลยตัด Sequence ตรงนี้ออกไป แล้วมาเริ่มกันใหม่ ซึ่งก็จะเห็นว่างานเราแต่ละงาน มันไม่มีรูปแบบ คำว่าสไตล์นี่ลืมไปเลย รูปร่างหน้าตาหรืออะไรก็ตามแต่ มันไม่ได้มีอยู่จริงในตัวของเรา เราไม่ได้ไปกำหนดตายตัวว่ามันต้องเป็นยังไง แต่เราแค่คิดว่ามันต้องทำยังไง สถาปัตยกรรมบางทีมันไม่จำเป็นต้องมีตัวตนก็ได้ แม้กระทั่งวิธีการทำงานของเรา กว่าลูกค้าจะได้เห็นแบบบ้านของตัวเองครั้งแรกเนี่ย เรียกว่าต้องฝ่าฟันอุปสรรคไปพร้อมๆกัน เพราะนั่นเป็นการสร้างกระบวนการในการเรียนรู้ร่วมกัน แล้วสิ่งที่เราร่วมกันทำทั้งหมดมันจะค่อยๆคลี่คลายออกมาว่า ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในบ้านหลังนั้นจะเป็นอย่างไร และท้ายที่สุดปรากฏการณ์เหล่านั้นจะบอกเองว่ารูปลักษณ์ของบ้านหลังนั้นจะเป็นอย่างไร
- คนที่กำลังสร้างบ้าน นอกจากเตรียมเงินแล้ว คุณต้องเลือกเนื้อคู่ (สถาปนิก) ก่อน!! เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำงานร่วมกันได้... เจ้าของบ้านกับสถาปนิกเองต้องทำงานร่วมกันไปอีก 2-3 ปี ผมว่าต้องเป็นคนที่มีเป้าหมายร่วมกันอยู่พอสมควร เจ้าของบ้านก็อยากได้บ้านที่อยู่สบาย มีความสุขในการอยู่บ้าน สถาปนิกเองก็อยากทำงานให้สนุก และสร้างผลงานที่ภาคภูมิใจ ฉะนั้นแล้ว คุณต้องรู้จริตของคุณให้ได้ว่าจริตคุณเป็นแบบไหน แล้วก็เลือกให้ถูกจริตของตัวเอง อันนี้คืออันดับแรก ที่ควรทำก่อนสร้างบ้าน (คือหาเนื้อคู่ที่คุยกันรู้เรื่อง)
- บ้านเราเมืองร้อน อยู่ดีๆ จะเปิดหน้าต่างเอาแดดร้อนๆ เข้ามา มันก็ไม่ควร ฉะนั้นต้องเข้าใจสภาพแสงในแต่ละช่วงวัน ว่าเหมาะกับพื้นที่ที่เราใช้งานอย่างไร แล้วเลือกใช้แสงอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัน เช่น บ้านหลังหนึ่ง สมาชิกในครอบครัวชอบทานอาหารร่วมกันตอนเช้า สัก 7.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่แดดไม่ได้แรงมาก ฉะนั้น ผมก็สามารถเอา Direct light จากธรรมชาติเข้ามาในห้องอาหารนี้ได้ แล้วมีต้นไม้สักต้นคอยกรองแสง ให้ความรู้สึกเหมือนอาบแดดตอนเช้าที่เช้ามากๆ อย่างนี้ได้ แต่เราไม่สามารถเอาแสงเข้ามาตรงๆ แบบนี้ได้ในตอน 10-11 โมง ตอนเที่ยงหรือบ่ายสองโมง แต่ว่าตอนบ่ายสองโมง อาจจะเหมาะกับการเอาแสงธรรมชาติแบบตรงๆ เข้ามาในห้องน้ำมากกว่า เพราะในวันธรรมดาเราทำงานทั้งวัน เราออกจากบ้านตอนเช้ากลับมาตอนเย็น แล้วตอนบ่ายมีพระอาทิตย์เข้ามาทำความสะอาดห้องน้ำให้ อันนี้ผมว่าเหมาะสม แต่ว่าถ้าคุณมีพฤติกรรมแบบอยู่บ้านทั้งวัน แล้วต้องมานั่งตากแดดเข้าห้องน้ำตอนบ่ายสอง อันนี้คงไม่เหมาะ ฉะนั้น ก็ต้องออกแบบให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยด้วย
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
มุมนี้ดูมีความลงตัวของสีโทนร้อนและเย็นและมีหลากหลายผิวสัมผัส ซึ่งให้ค่าการสะท้อนแสงที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังดูกลมกลืนกันอยู่ในความแตกต่าง ส่วนเวลาจะเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ไปตกแต่งบ้าน...ควรเลือกแบบที่ดูกลมกลืนหรือขัดแย้ง? คุณก็ต้องลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่าห้องนั้นความสำคัญหลักคืออะไร? เช่น ถ้าคุณชอบความ Harmony มากๆ เฟอร์นิเจอร์เซ็ตนี้ก็เหมาะ เพราะมันจะทำให้ภาพรวมของพื้นที่ดูนุ่มนวลกลมกลืนไปหมด แต่ความทรงพลังของสถาปัตยกรรมที่เราสร้างไว้อาจลดลง แต่ถ้างานไหนที่คุณอยากเน้น Space มากๆ ก็อาจจะเลือกโทนที่ดูขัดแย้งหรือมินิมอลกว่านี้ก็ได้ เพื่อให้ตัว Space ดูทรงพลังมากกว่า
ส่วนมุมนี้น่าสนใจในแง่ความกลมกล่อมของสีสัน เป็นการเลือกใช้โทนสีกลางๆ ทั้งผ้าบุและวัสดุไม้ ซึ่งไม้ก็ช่วยขับให้สีเหลืองดูเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน จริงๆ มุมนี้มีความกระจุกตัวของสีเหลือง ซึ่งลักษณะนี้น่าจะเหมาะกับบ้านโมเดิร์นที่เรียบๆ สะอาดสะอ้าน เช่น ห้องสีขาวเนียนๆ นิ่งๆ แล้วใช้องค์ประกอบอื่นๆ ในโทนสีขาว เทา ดำ เหลือง หรือไม้ ประกอบกับความมนของเส้นสายในงานเฟอร์นิเจอร์ ก็จะช่วยทำให้ห้องที่ขาวสว่างซึ่งอาจจะดูแข็งกระด้างนั้นดูนุ่มนวลขึ้น