2019 WEEK 21 "ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ"

2019week21
21 พฤษภาคม 2019
2019 WEEK 21 "ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ"

ABOUT HIM

 

“ช่วงแรกๆ ที่ทำงานออกแบบแน่นอนว่าเราก็อยากจะทำดีไซน์อะไรที่ว้าวๆ เจ๋งๆ แต่พอทำๆ ไป มันมาเจ็บปวดทีหลังเมื่อเห็นว่าเจ้าของบ้านเขาไม่สามารถบำรุงรักษาบ้านของตัวเองได้ เช่น จะเช็ดกระจกก็ไม่ได้ ท่อแตกก็ซ่อมบำรุงไม่ได้ เพราะด้วยความที่เราอยากเก็บงานให้เนี้ยบทุกอย่าง หลังๆ เราเลยเริ่มกลับมาทบทวนและปรับปรุงดีไซน์ ทำให้ตอนนี้ บ้านทุกหลังที่ผมออกแบบต้องเป็นบ้านที่ซ่อมบำรุงและดูแลรักษาได้หมดทุกอณู!!” ไปพูดคุยต่อเพื่อหาค้นหาแรงบันดาลใจและไอเดียดีๆ ในการออกแบบตกแต่งบ้านกับ คุณเบนซ์ – ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ Design Director จาก I Like Design Studio

 

เรื่อง “เซอร์วิสง่าย” เป็นประเด็นหลักในการออกแบบบ้านของผมเลยครับ เพราะสมัยแรกๆ ลูกค้าของผมเป็นวิศวกรเยอะ ซึ่งเขาจะมีความสนใจและให้ความสำคัญเรื่องงานระบบค่อนข้างมาก ซึ่งตอนนั้นผมก็เพิ่งจบมาใหม่ๆ เราก็จะเน้นแต่เรื่องออกแบบแค่ให้สวยอย่างเดียว ไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้ แต่พอถูกตั้งคำถามบ่อยๆ ว่าอันนั้นอันนี้ดูแลอย่างไร ทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดและปรับปรุงงานออกแบบของเราให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของลูกค้า และกลายมาเป็นแนวทางในการออกแบบบ้านของ I Like Design Studio ในทุกวันนี้ครับ

 

การออกแบบที่จะช่วยให้เจ้าของบ้านดูแลและซ่อมบำรุงบ้านได้ง่าย ก็เช่นถ้าท่อแตกเราก็สามารถปิดวาล์วได้ทุกจุดและเปลี่ยนท่อได้ ไม่ใช่เอาไปแอบไว้ในผนังซึ่งพอจะเปลี่ยนหรืออะไรแต่ละที ก็ต้องทุบหรือกรีดผนังทิ้งเพื่อจะเอาเส้นใหม่ใส่เข้าไป หรืออย่างสายไฟเราก็ต้องจัดขอบเขตให้ชัดเจนว่าอะไรอยู่ตรงไหนจะได้ซ่อมบำรุงง่าย หรือรางระบายน้ำบนหลังคา ถ้าเกิดมีนกมาทำรังจนท่อตันเราจะรู้ได้ไง? ผมก็จะมี Overflow ไว้จุดนึง เพื่อให้มันมีสัญญาณอะไรบางอย่างบอกเจ้าของบ้าน คือพอเขาเห็นน้ำล้นออกมาแสดงว่าข้างบนตันแล้ว  

 

นอกจากเรื่องการบำรุงรักษาแล้วอีกสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเวลาออกแบบบ้าน คือเรื่องของ “ความรู้สึกใน Space” ทั้งเรื่องแสง ความสว่าง มิติ ความกว้าง สูง ตื้น ลึก หนา บาง ทั้งหมดเลย แม้แต่วัตถุที่วางอยู่ในพื้นที่ เหมือนกับว่าถ้าเขาเดินเข้าไปในพื้นที่ เราอยากให้เขาโฟกัสสิ่งไหน เราก็ต้องสร้างพื้นที่เพื่อสิ่งนั้น และผมชอบ “ลำดับประสบการณ์ในการเดินเข้าบ้าน” สมมุติจากที่จอดรถ เราควรเห็นอะไร มาถึงนี่ควรเห็นสระว่ายน้ำ ในสระต้องมีเสียงน้ำไหม เดินมาเจอพื้นที่ส่วนกลางมีฟังก์ชั่นอะไรให้เขาใช้ทำกิจกรรมได้บ้าง  พอเข้าไปใน Space แล้วรู้สึกยังไง  คือ เราควรวางหรือสร้างประสบการณ์ในแต่ละส่วนของบ้าน

 

เช่น บ้านของน้องชายผม ที่มีลักษณะคล้ายตู้คอนเทนเนอร์ พ่อแม่จะเป็นผู้อยู่อาศัยหลัก ผมออกแบบโดยแยกบ้านของพ่อแม่ออกมาเป็นหลังเดี่ยวเล็กๆ ด้านหน้า พอเดินเขาไปจะเจอต้นไม้แต่มองเห็นแค่ครึ่งท่อนล่าง เพื่อจะสร้างคำถามว่าเอ๊ะ! แล้วส่วนบนของต้นไม้หายไปไหน ต้องเดินต่อเข้าไป พอเงยหน้ามองจะเจอแสง เจอฝนหล่นลงมา เราก็เลยเอาน้ำมารองรับข้างล่าง เผื่อเวลาฝนตกจะได้มีเสียงน้ำ พอเดินเข้าไปเป็นห้องนั่งเล่นก็มองออกมาเห็นพื้นที่สีเขียวนี้ได้ทั้งวัน เวลาขึ้นบันไดก็จะผ่านต้นไม้นี้ทุกครั้ง และทุกห้องในบ้านก็จะมองเห็นต้นไม้นี้ เหมือนเราเอา “ต้นไม้” เป็นตัวเล่าเรื่องซึ่งบ้านทุกหลังที่เราออกแบบ จะมีอะไรบางอย่างเป็นตัวเล่าเรื่องของบ้าน  

 

ซึ่งการจะหยิบอะไรเป็น “ตัวเล่าเรื่อง” นั้น เราจะดูจากไซต์งานเป็นหลักว่ามีอะไรให้เล่นบ้าง ก็จะพยายามหาความเป็นไปได้ให้เยอะที่สุด เช่น บ้านที่เขาใหญ่ เราก็อยากได้พื้นที่เรียบๆ เพื่อเป็นลานกิจกรรมให้เขามองเห็นภูเขาตลอดเวลา ฉะนั้นเราก็จะเปิดเป็นวิวกระจกให้เป็นทิวทัศน์แบบพาโนราม่า เป็นกระจกล้อมระเบียงใหญ่ให้เห็นวิวกว้างๆ หรืออย่างบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ติดแม่น้ำแม่กลอง  ซึ่งสถาปนิกส่วนใหญ่จะวางสระว่ายน้ำขนานกับตัวบ้าน แต่ผมหมุนอีกแกนนึงให้เป็นแกนที่พุ่งเข้าหาแม่น้ำ และออกแบบเป็นรูปตัวแอล สามารถเปิดประตูจากห้องนั่งเล่นลงบ่อจากในบ้าน แล้วสามารถว่ายลอดออกไปสู่สระว่ายน้ำข้างนอกได้เลยซึ่งจะให้ความรู้สึกเหมือนว่าเราว่ายลงแม่น้ำเพราะมันต่อเนื่องกัน

 

ส่วนการออกแบบพื้นที่ภายในบ้าน ผมเน้น Common Area เป็นหลักครับ โดยผมจะพยายามรวมพื้นที่ให้เป็นแพ็คใหญ่ คือมีฟังก์ชั่น Living, Dining, Pantry ต่อรวมกันในพื้นที่เดียว ให้สมาชิกทุกคนอยู่ในห้องนี้ด้วยกันได้ ตั้งแต่รุ่นอากงอาม่าไปจนรุ่นหลาน  เพราะผมมองว่า บ้านจะดูน่ารักน่าอยู่...ก็เมื่อทุกคนในครอบครัวต้องมีพื้นที่ไว้เจอกันมีปฏิสัมพันธ์กัน และพื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวแจก Circulation ในบ้าน คือแจกไปห้องนอน ไปห้องโฮมเทียเตอร์ ไปสระว่ายน้ำ ไปห้องลูก Common Area จึงเป็นพระเอกของบ้านทุกงานของผมครับ โดยผมจะเลือกจากจุดที่ดีที่สุดของบ้าน คือตำแหน่งที่วิวดี ลมผ่านดี เหมาะที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมาใช้ชีวิตได้ทั้งวัน พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ที่จะทำให้ “บ้านมีชีวิต” ซึ่งทุกครั้งที่ออกแบบบ้านเสร็จ ผมจะกลับไปหาเจ้าของบ้านเกือบทุกหลัง ไปถามเขาว่าอยู่แล้วเป็นยังไง พื้นที่นี้ชอบไหม ติดปัญหาอะไรบ้าง เพื่อจะได้เก็บเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนางานดีไซน์ต่อๆ ไปด้วย

 

เวลาที่เราออกแบบบ้านบางทีมันก็เกิดคำถามครับว่า เราออกแบบบ้านให้ตัวเอง? หรือออกแบบบ้านให้ลูกค้า? คือบางทีสถาปนิกก็อยากได้ Masterpiece ของตัวเอง เราก็จะพยายามยัดเยียดความเป็นตัวเองเข้าไปในงาน ซึ่งบางทีเจ้าของบ้านอาจไม่ได้ชอบก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่ผมทำตอนนี้คือ เราจะพยายามดูดข้อมูลที่มันเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านออกมาก่อนว่าเขานิสัยเป็นยังไง ชอบอะไร ลักษณะไหน เล่นกีฬาอะไร ทำอะไรบ้าง...มันเหมือนเรากำลังสั่งตัดบ้านหลังหนึ่งให้เขา ฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังจะสร้างขึ้นมานั้น ต้องเป็นสิ่งที่แมตช์กับตัวตนของเขา ผมว่าเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมไม่ได้อยู่แค่ดีไซน์สวย แต่มันอยู่ที่คน คือคนเข้าไปใช้งานแล้วแฮปปี้หรือเปล่า ฉะนั้นการออกแบบบ้านมันก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ดีไซน์โดดเด้ง บางทีเรียบแบบไม่มีอะไรกลับรู้สึกดีกว่า ถ้ามันตอบโจทย์คนที่เข้าไปอยู่ รวมถึงคนและสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบข้างด้วย

 

  • อยากให้บ้าน ซ่อมบำรุงง่าย แม้คุณจะไม่ไดจ้างสถาปนิกมาช่วยออกแบบวางระบบให้ตั้งแต่แรก ก็สามารทำได้หลายประเด็น เช่น หลังคา จะรู้ได้ไงว่ารั่ว รั่วตรงไหน? จะแก้ยังไง? (บางหลังพอน้ำรั่วแล้วจะขังอยู่บนฝ้า จะรู้ก็ตอนน้ำไหลทะลุดาวน์ไลท์ลงมาแล้ว) การขึ้นไปจะต้องปีนจากข้างนอกไหม? ต้องตั้งนั่งร้านไหม? หรือจริงๆ ไม่ต้อง?! แค่มีฝ้าเซอร์วิสซึ่งทำให้ซ่อมบำรุงจากข้างล่างได้ก็เพียงพอ หรือท่อน้ำบางที่ออกแบบให้วิ่งข้างบนบ้างข้างล่างบ้าง แต่ถ้าเป็นผม...ผมจะบังคับให้วิ่งข้างบนทั้งหมด เพราะเวลาท่อแตกจะมีแรงดัน เราจะได้เห็นรอยน้ำบนฝ้า ซึ่งถ้าฝ้าไม่ได้ทำช่องเซอร์วิสไว้เราก็ต้องกรีด แต่ถ้าเราทำช่องเซอร์วิสไว้ในห้องน้ำ เราก็สามารถเปิดขึ้นไปดูท่อน้ำได้ ไม่ต้องรื้อทั้งหมด และควรออกแบบให้มีวาล์วปิดน้ำเป็นจุดๆ แต่ละห้องไปเลย ก็จะทำให้ช่างสามารถไปซ่อมได้ง่ายขึ้น

 

  • การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ผมจะใช้บิลท์อินเท่าที่จำเป็น เช่น ตู้เสื้อผ้าหรือบางจุดที่รู้สึกว่ามันลงตัวกับพื้นที่ และทำให้ศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ ใช้ประโยชน์ได้เยอะสุด  บ้านต้องมีตู้เก็บของเยอะ บางทีอาจไม่ต้องเป็นห้อง เป็นแค่ตู้ทั้งผนังก็ได้ นอกนั้น ผมจะใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวทั้งหมด คือ จะบอกลูกค้าเสมอว่าบิลท์เท่าที่จำเป็น แล้วก็ที่เหลือก็ซื้อลอยตัวมา เพราะบางทีเราเบื่อชิ้นนี้เราก็อยากเปลี่ยน จะได้เปลี่ยนง่าย

 

  • บ้านที่มีเด็ก  ผมให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย  เช่น สระว่ายน้ำถ้ามีก็ต้องลึกแค่ 1.20 เมตร ไม่ควรลึกไปกว่านั้นเพราะหากเกิดเหตุอะไรขึ้นจะได้ช่วยเหลือทัน พวกราวกันตกต้องไม่ใช้เส้นนอนเพราะเด็กปีนได้ เราต้องใช้เส้นตั้งหรือบางทีเป็นกระจกไปเลย

 

  • การวางตำแหน่งห้องต่างๆ ผมมักเอาห้องที่ต้องการให้โดดแดดและความร้อนไปไว้ทิศตะวันตก เช่น ห้องน้ำ ที่ควรต้องโดนแดด จะได้แห้งไม่มีกลิ่น หรือเอา Walk-in Closet ฝั่งที่เป็นผนังมาบังฝั่งตะวันตก เพื่อให้ส่วนที่เป็นนอนไม่โดนแดด แล้วทำผนังหนาสองชั้น มีช่องอากาศตรงกลางให้ลมผ่าน แล้ววางตัวบ้านขวางลม (ลมมาทิศใต้) เราเอาห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าวไปวางขวางไว้ ก็จะได้ลมไหลเวียนเข้ามาตลอด

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ผมชอบมุมนี้ เพราะสีดูไปด้วยกันดีครับ มันให้อารมณ์ของความสบาย น่าพักผ่อน  และมีฟังก์ชั่นทั้งโต๊ะทานข้าว โซฟา และฉากหลัง ทำให้จินตนาการถึงการจัดวางพื้นที่ในบ้านต่อได้

 

 

ผมชอบมุมนี้ เพราะสีดูไปด้วยกันดีครับ มันให้อารมณ์ของความสบาย น่าพักผ่อน  และมีฟังก์ชั่นทั้งโต๊ะทานข้าว โซฟา และฉากหลัง ทำให้จินตนาการถึงการจัดวางพื้นที่ในบ้านต่อได้

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex