2019 WEEK 18 "เอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน"

2019week18
30 เมษายน 2019
2019 WEEK 18 "เอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน"

ABOUT HIM

 

“ความเรียบง่ายและการใช้งานได้ดี คือ ความสง่างามโดยธรรมชาติ” นี่คือปรัชญาดีไซน์ของสถาปนิกหนุ่มผู้ให้คุณค่ากับความงามในความธรรมดา และจับมาถ่ายทอดผ่านออกแบบทุกชิ้นอย่างละเมียดบรรจง สัปดาห์นี้มาพูดคุยกับ คุณเฟียท - เอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน จาก Anghin Architecture  

 

หลากหลายผลงานออกแบบของ Anghin Architecture ให้สัมผัสที่ชัดเจนของความ Cozy และ Minimal ที่ถ่ายทอดผ่านเส้นสายของสถาปัตยกรรมที่ดูเรียบ เฉียบคมและสะอาดสะอ้าน แต่เต็มไปด้วยความรู้สึกของความมีชีวิตชีวา “ความเรียบง่ายของผม คือ การเน้นเรื่องแก้ปัญหาของพื้นที่และการใช้งาน ด้วยวิธีการที่เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่จำเป็นพึ่งพิงเทคโนโลยีให้มากมาย  เช่น ถ้าจะออกแบบระบบระบายอากาศในบ้าน  เราก็เลือกที่จะใช้วิธีออกแบบช่องเปิดให้เกิด Cross Ventilation คือให้เกิดลมผ่าน โดยไม่จำเป็นต้องติดพัดลมระบายอากาศหรือติดแอร์  ซึ่งตัวหน้าต่างที่ออกแบบไว้อย่างเรียบง่าย เราก็ใส่ดีไซน์ให้มันสวยด้วย  อันนี้คือความ Functional บวกกับ Simplicity ของงานที่ดีไซน์ที่เข้าไปแก้ปัญหา ก็จะทำให้เกิดความสง่างามที่เป็นธรรมชาติในตัวงานและในการใช้งานครับ

 

ผมมองว่า “บ้าน” ไม่เพียงแต่บ่งบอกตัวตนของผู้เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่มันยังเป็นเหมือนผลผลิตของที่ดินและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  ทางสังคมและวัฒนธรรม  ดังนั้น หากที่ดินมีสภาพแวดล้อมแบบไหน รูปแบบของบ้านที่เกิดขึ้นมาก็จะเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมตรงนั้น จะไปตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมอื่นที่แตกต่างก็คงไม่ได้  เพราะบ้านหลังนี้จะมีเอกลักษณ์ของเขา มีความเป็นพื้นถิ่นซึ่งสะท้อนถึงสถานที่ตั้งของเขา ซึ่งเราในฐานะคนออกแบบจะต้องทำให้คาแรคเตอร์ตรงนี้เกิดขึ้นมา

 

งานของเราส่วนใหญ่จะเป็น “บ้าน” ครับ และลูกค้า 70% จะเป็นชาวต่างชาติซึ่งจะมีความต้องการพื้นฐานที่เป็นจุดร่วมกันอยู่ คือ เรื่องของความเรียบง่าย  ตอบโจทย์การใช้สอยได้ดี  และอีกประเด็นที่ลูกค้าให้ความสนใจค่อนข้างมาก คือเรื่อง “ประหยัดพลังงาน” ดังนั้น บ้านทุกหลังที่เราออกแบบก็จะอยู่บนพื้นฐานของ “บ้านประหยัดพลังงาน” ตลอดครับ เริ่มต้นโดยใช้ความเป็น Passive ก่อน ทั้งเรื่องการระบายอากาศ  กันความร้อน  และสร้างแสงเงาโดยธรรมชาติ และถ้าไม่พอก็ค่อยขยับไปเป็น Active เช่น การใช้แผงโซลาร์ผลิตกระแสไฟฟ้าหรือการทำระบบกรองน้ำจากธรรมชาติเข้ามาใช้ในบ้าน

 

คือเราจะเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นที่เรียบง่ายที่สุด คือ จัดการกับปัญหาด้วยระบบธรรมชาติไปจนกระทั่งถึงการเลือกใช้วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานและไม่ก่อสารพิษ ซึ่งในส่วนของการเลือกใช้วัสดุก็ต้องคุยกับลูกค้าด้วยว่าเขามีงบประมาณเพียงพอไปถึงขนาดไหน เพราะวัสดุประเภทที่มีใบรับรองเรื่อง Carbon Footprint ต่ำ ชนิดที่เรียกว่า Green ครบวงจรตั้งแต่กระบวนการผลิตและขนส่งนั้นจะมีที่ราคาสูงมาก ทั้งนี้ วัสดุที่จะช่วยประหยัดพลังงานจริงๆ ก็จะเป็นวัสดุที่ดีลกับเรื่องความร้อน อย่างเช่นที่ผมใช้ก็จะเป็นประเภทกระเบื้องดินเผา กระจกฉนวนกันความร้อน หรือสีลดความร้อน ทำนองนั้นครับ

 

จริงๆ ผมสนใจแนวคิดเรื่อง “บ้านประหยัดพลังงาน” ตั้งแต่สมัยเรียนแล้วครับ ผมทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความสำนึกรักษ์โลก เพราะผมมองว่ามันเป็นความรับผิดชอบของวิชาชีพของเรา  มันจึงหล่อหลอมมาเป็นหนึ่งในปรัชญาการทำงานออกแบบของผมด้วย การออกแบบบ้านนั้นไม่ใช่แค่ให้ “อยู่สบาย” อย่างเดียว แต่สบายตัวแล้วต้อง “สบายกระเป๋า” ด้วย ซึ่งถ้าบ้านประหยัดพลังงานได้ดี ผู้อยู่อาศัยก็ประหยัดได้แบบสบายทั้งตัวและกระเป๋า และก็อย่างที่บอกว่า “บ้าน” เป็นผลผลิตมาจากที่ดินและสภาพแวดล้อม ณ ที่นั้นๆ  บ้านก็ควรต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตรงนั้นและเกื้อกูลกันด้วย  ยิ่งบ้านมีความ Passive ได้มากเท่าไหร่หรือพึ่งตัวเองได้มากเท่าไหร่  ก็จะทำให้ไม่ไปเบียดเบียนสภาพแวดล้อมมากเท่านั้น 

 

  • บ้านประหยัดพลังงาน หากเป็นบ้านจัดสรรที่ไม่ได้ออกแบบหรือวางระบบไว้ตั้งแต่แรก  อันดับแรกต้องดูที่งบประมาณก่อน ถ้างบน้อยก็ทำด้วย Passive ก่อนก็ได้ เช่น ถ้าบ้านร้อนก็อาจจะเติมระแนงหรือต่อชายคาเพื่อสร้างร่มเงา  หรืออาจเปลี่ยนวัสดุบางอย่างให้เป็นวัสดุที่กันความร้อนได้ หรือถ้ามีงบเยอะหน่อยก็อาจเดินท่อน้ำเย็นในผนังหรือในพื้นเพื่อช่วยทำให้บ้านเย็นขึ้นก็ได้

 

  • ทำพื้นที่เล็กๆ ให้อบอุ่นน่าอยู่ ทริคง่ายๆ ทั่วไปคือ ถ้าเป็นคอนโดที่เพดานไม่สูงนัก  เราควรเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์โปร่งและมีความสูงไม่มากนัก เพื่อให้ Vertical Space ระหว่างเฟอร์นิเจอร์ถึงเพดานดูโล่งขึ้น ส่วนเรื่องสีสันก็ต้องเป็นโทนสีสว่างๆ  ทั้งนี้ หลายคนมักคิดว่าถ้าพื้นที่เล็ก ก็ต้องไปใช้ “กระจก” มากั้นหรือตกแต่ง  แต่การใช้กระจกนั้น จะนำไปวางมั่วๆ ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติของกระจก คือ “การสะท้อน” ซึ่งหมายถึงมันสามารถสะท้อนทั้งความว่างเปล่าและความยุ่งเหยิงได้ด้วย  ดังนั้นต้องดูว่าเราควรนำไปวางตรงไหน? เพื่อให้สะท้อนอะไร? เช่น ติดกระจกริมผนังหน้าต่าง เพื่อให้สะท้อนหน้าต่าง ทำให้ห้องดูเหมือนมีหน้าต่างเพิ่มขึ้นก็จะดีกว่าไปวางในจุดสะท้อนความยุ่งเหยิงในห้อง (เช่น สะท้อนเงาของ โต๊ะ ตู้ เตียง) มันก็จะทำให้ห้องดูยุ่งเหยิงเพิ่มมากขึ้น

 

  • จัดแสงให้สวย แนะนำว่าควรใช้เป็นไฟ  Accent มากกว่า เช่น เป็นโคมตั้งพื้นหรือสปอตไลท์ฉายลงที่ชิ้นงานศิลปะ  เพื่อให้ห้องมีจุดมืดจุดสว่างดูมีมิติ และใช้แสง Warm มาช่วยสร้างบรรยากาศให้ดูอบอุ่นขึ้น ไม่ร้อนและไม่แข็งเย็นจนเกินไป หรืออย่างไฟเพดานก็ควรใช้แบบ Dimmer หรือไฟหลืบฝ้าหลืบผนังจะดีกว่า ซึ่งโดยมากผมจะออกแบบไฟในบ้านโดยแบ่งตามลักษณะการใช้งานมากกว่า เช่น ไฟส่องรูปภาพ ไฟส่องบันได ไฟหลืบไฟฝ้า มากกว่าที่จะเป็นประเภทไฟขาวๆ ที่เปิดแล้วสว่างทั่วไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้วเราจะใช้ไฟแบบนั้นก็เฉพาะตอนทำความสะอาดบ้านเท่านั้น

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

มุมนี้น่าสนใจตรงที่มันมีความโปร่งของเฟอร์นิเจอร์ และมีความเขียวของต้นไม้เข้ามาช่วยเพิ่มความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ทำให้ดูมีชีวิตมากขึ้น  ซึ่งถ้าเป็นบ้านจริงๆ ลักษณะนี้คือจะทำให้แสงผ่านเข้ามาได้ ทำความสะอาดก็ง่าย ฟังก์ชั่นการจัดวางก็ดีด้วยความที่เฟอร์นิเจอร์มีเส้นสาย และรูปทรงที่ตรงไปตรงมา หนังก็ดูมีความคลาสสิค ดูแล้วให้ความรู้สึกสงบอยู่กับความเรียบง่ายดีครับ 

 

 

เวลาออกแบบพื้นที่ภายใน ผมจะเน้นเรื่อง เส้นนำสายตาครับ เพราะส่วนตัวชอบอะไรที่ดูสมดุลทั้งสองด้าน แล้วมีแนวแกนตรงกลาง เพื่อนำพาสายตาเราให้ไปโฟกัสจุดที่น่าสนใจจุดต่างๆ ของบ้าน  อย่างมุมนี้ก็มีเรื่องของการวางตัวเฟอร์นิเจอร์ให้ขับกับเส้นนำสายตา บวกกับดีไซน์ที่ดูค่อนข้าง Mid-Century ให้ความรู้สึกคลาสสิค แต่ก็ยังมีความโมเดิร์นอยู่ในตัว ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ของความไร้กาลเวลา ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ก็มีความเรียบง่ายของเส้นสาย วัสดุ ดีไซน์และฟังก์ชั่นที่เข้าสมัยอยู่ได้ตลอดครับ

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex