ABOUT HIM
สัปดาห์นี้มาพูดคุยกับสถาปนิกสายเยอะ!! อย่างที่เขาเรียกว่าตัวเองว่าเป็นสาย Maximal แต่เป็นความเยอะที่มีความกลมกล่อมอยู่ในที และดูดีแบบไม่ปวดหัว...ไปพูดคุยเพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้นกับ คุณตั้ม เฉลิมพล สมบัติยานุชิตArchitect & Director จาก Office Architect 9 Kampanad และอาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในหลายสถาบันการศึกษา
“เราไม่ค่อยเรียกตัวเองว่าเป็นสถาปนิกสักเท่าไหร่ แต่จะเรียกตัวเองว่า “นักออกแบบ” มากกว่าครับ เพราะเราทำงานตั้งแต่สเกลเล็กถึงสเกลใหญ่ ทั้งงานสถาปัตย์ ตกแต่งภายใน และงานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ งานของเราอาจไม่ได้เดินบนเทรนด์ แต่จะเดินบนสิ่งที่เหมาะสมกับโจททย์ของแต่ละงานมากกว่า ซึ่งในทุกๆ งาน เรามักจะตั้งประเด็นขึ้นมาก่อนว่าจะแก้เรื่องอะไร เพราะเราเชื่อว่างานดีไซน์มันเริ่มต้นจากการแก้ปัญหา ไม่ได้ถูกดีไซน์ขึ้นมาสำหรับการถ่ายรูปเพียงอย่างเดียว เพราะสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะที่ว่าด้วยเรื่อง การใช้งานในหลากหลายมิติ ทั้งมิติด้านประโยชน์ใช้สอยและความพึงพอใจด้านความงาม เพราะเราไม่ได้มองสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของแฟชั่น”
“คอนเซ็ปต์หลักในการทำงานออกแบบของเรา คือ EBOLA (Experimental Design On Architectural Language) หมายถึง งานออกแบบเชิงทดลองที่ยืนอยู่บนไวยากรณ์ทางสถาปัตยกรรม ก็คือเรื่องของ Mass, Form, Space...เราเริ่มต้นด้วยความเชื่อที่ว่า โปรแกรมของแต่ละงานมีความแตกต่างกัน สภาพแวดล้อมและที่ตั้งก็ต่างกัน ฉะนั้นงานออกแบบของเราจะเข้าไปแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมตรงนั้นก่อน โดยเฉพาะงานบ้าน เราเชื่อเรื่อง “สภาพแวดล้อม” มาก เรามี 2 วิธีคือ ถ้าสภาพแวดล้อมหรือบริบทไม่ดี เราก็ต้องทำตัวงานออกแบบของเราให้ดี เพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมรอบๆ เพื่อเป็นอะไรบางอย่างที่กระตุ้นให้สภาพแวดล้อมตรงนั้นพัฒนาตามๆ กันขึ้นมา ผมเชื่อว่า “งานสถาปัตย์มีอำนาจหรืออิทธิพลบางอย่าง” คือเมื่อเราโยนอันหนึ่งลงไปในย่านนั้น ถ้ามันดีพอ ต่อไปคนที่อยู่ข้างๆ เขาก็อยากทำให้ดีเหมือนกัน แต่ถ้าสภาพแวดล้อมดีมากๆ แล้ว เราก็เลือกที่จะทำให้งานของเราหายไปเลย (คือเนียนไปกับสภาพแวดล้อม) เรามีหลักการง่ายๆ อย่างนั้นเลย”
สำหรับงานออกแบบบ้าน ผมมองว่าต้องเป็น “สิ่งที่คุณอยู่ตรงนั้นแล้ว คุณเป็นตัวเองได้ทุกวัน” เราจะไม่จำกัดรูปแบบเลยว่าจะต้องเป็น Minimal ตลอดเวลา ซึ่งเราเรียกตัวเองว่าเป็น Maximal นะ เป็นพวกสายเยอะ! เพราะเรารู้สึกว่า บ้านเนี่ย! น้อยเกินไปมันอยู่ไม่ได้นะ ไม่มีใครมีระเบียบขนาดนั้น บ้านที่อยู่จริง ต้องมีความประนีประนอมระหว่างตัวงานออกแบบ...ส่วนไหนควรซิ่งก็ซิ่ง ส่วนไหนควรต้องประนีประนอมถ่อมต้นก็ควรทำในระดับที่เหมาะสม เช่น บางโปรเจคบ้าน เราก็เลือกที่จะใช้สีรุนแรง...จริงๆ จะมีคำพูดเล่นๆ อยู่ว่า ถ้าคุณอยากปลอดภัย ก็ใช้สีขาวๆ นั่นแหละรอดแน่! แต่เราไม่ใช่นักออกแบบประเภทนั้น เราชอบแบบเสี่ยงๆ ซึ่งก็จะไปเจอกับลูกค้าที่ชอบเสี่ยงเหมือนกัน แต่หน้าที่เรา คือ จัดการความเสี่ยงให้เป็นความกลมกล่อมเป็นดีไซน์แบบพอดี คือเรามีแง่มุมของ “ความอยากลอง” ด้วย...เวลาทำงานเราจะมีความชื่นชอบในความซับซ้อนบางอย่าง และเราไม่เห็นด้วยกับการที่งานออกแบบจะต้องเนี้ยบเสียจนไปเปลี่ยนพฤติกรรมผู้อยู่อาศัยจนกลายเป็นความแข็งกระด้างไปหมด เพราะบ้านเนี่ยมันต้องอยู่สบายจริงๆ คุณอยากนั่งพาดขาตรงไหนก็ได้ และเราจะเว้นที่ว่างๆไว้ให้คุณเติมเฟอร์นิเจอร์เอง ให้มันมี Composition ของเจ้าของบ้านอยู่ในนั้นด้วย
ในแง่ของวัสดุ เราสนใจเรื่องของ “การทำลายข้อจำกัดบางอย่าง” เช่น ในส่วนงานตกแต่งภายใน เราสามารถทำดีไซน์ที่หวือหวามากๆ ด้วยวัสดุธรรมดา เช่น ไม้อัด ก็เอาไปดัดโค้งอะไรอย่างนี้ โดยส่วนใหญ่ไม่ว่าความซับซ้อนที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราจะพยายามเคลียร์ให้มันง่ายในเชิงเทคนิคเสมอ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษา อย่างในงาน “บ้าน” มันก็ต้องอยู่ในสเกลที่มนุษย์จับต้องได้ ไม่งั้นบ้านแต่ละหลัง เฉพาะค่าบำรุงรักษาคงจะเป็นเงินมูลค่าหลายบาทหลายสตางค์ เพราะเจ้าของดูแลเองไม่ได้ต้องคอยจ้างผู้เชี่ยวชาญมาจัดการตลอด ฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามทำคือ นอกจากสวยแล้ว ผู้อยู่อาศัยต้องบำรุงรักษาได้ง่ายด้วย
ผมชอบออกแบบบ้าน เพราะมันเป็นงานที่มีจิตวิญาณ ทำแล้วมีความสุข มันดูเป็นงานศิลปะจริงๆ เวลาเราทำบ้านดีๆ เสร็จสักหลัง (หมายถึงบ้านที่ทำออกมาแล้ว เจ้าของบ้านมีความสุข) เราจะกลายเป็นลูกหลานเป็นคนในครอบครัวเขาไปเลย พอถึงรุ่นลูกเขาโตขึ้น เขาก็จะอยากให้เราออกแบบให้อีก เหมือนเราได้ความรักความเชื่อใจ เป็นสิ่งที่ผูกพันระหว่างผู้ออกแบบกับเจ้าของบ้านมันเป็นความสุขที่หล่อเลี้ยงเรา”
- ความเป็น “บ้าน” ต้องมีส่วนผสมของงานตกแต่งที่พอดี หมายความว่าเหมาะสมกับพื้นที่ใช้สอยจริงๆ ส่วนของ “การตกแต่งที่ไม่จำเป็น” หรือสิ่งที่เอาไว้มองเฉยๆ อันนี้ ผมมองว่า อาจจะเป็นอุปสรรค์ที่ทำให้เราต้องเสียเวลาในการดูแลเยอะเกินไป บางทีเราต้องไปเช็ดถูฝุ่นตลอดเวลาซึ่งมันก็เหนื่อยนะ ทั้งนี้ก็แล้วแต่คนครับ ถ้าคุณชอบแบบนั้นก็ได้ แต่ผมว่ามันควรจะดูแลง่าย ของอะไรที่เอาไว้มองอย่างเดียว อาจจะต้องไปรวมกันอยู่ในห้องหนึ่งเป็นแกลเลอรี่ส่วนตัว แล้วที่เหลือก็ปล่อยเป็นความเรียบง่าย
- บ้านที่อยู่...ไม่ใช่บ้านตัวอย่าง ที่ต้องพร้อมสมบูรณ์ไปหมดทุกสิ่ง ดีไซน์เนอร์ควรออกแบบตกแต่งเท่าที่จำเป็น แล้วที่เหลือก็ปล่อยให้เจ้าของบ้านแต่งเติมพื้นที่นั้นด้วยตัวเอง เพราะเขาจะรู้ว่าเขาอยากได้อะไร คือมันควรมีพื้นที่ให้เจ้าของบ้านรู้สึกสนุกกับพื้นที่ของตัวเอง
- สำหรับคนที่อยากทำบ้านไว้รับแขกอย่างเดียว คุณก็ปล่อยให้ดีไซน์เนอร์ทำงานให้เต็มที่เลยก็ได้ คือปล่อยให้เขาออกแบบ จัดแสง แต่งพร๊อพให้เรียบร้อย คุณจะได้บ้านสวยเนี้ยบตอบโจทย์การรับรองแขก ที่คุณอาจจะใช้เวลาสั้นๆ แล้วจากไป (เหมือนโรงแรม) แต่ถ้าเป็นบ้านที่คุณ “สร้างเพื่ออยู่และใช้ชีวิต” แนะนำว่าคุณควรต้องสังเกตและตอบตัวเองให้ได้ระดับหนึ่งว่า คุณชอบอะไรและมีความสุขกับการอยู่ในห้องไหนและอย่างไร...การจะได้มาซึ่งโจทย์ที่แข็งแรงในการออกแบบบ้านสักหลัง...ไม่ใช่การบ้านของนักออกแบบ แต่เจ้าของบ้านต้องทำการบ้านเกี่ยวกับตัวเองอย่างละเอียดด้วย
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
ผมชอบมุมนี้ เพราะมันมีลักษณะคล้ายจะเป็นห้องของนักสะสม คือผมมองว่า จริงๆ แล้วความสุขของการอยู่บ้านอย่างหนึ่ง คือ เราสามารถเอาของสะสมของตัวเองมาจัดวางโชว์ในพื้นที่ของเราได้ มันทำให้เรามีความสุขกับความทรงจำต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ผมชอบมุมนี้ เพราะมันมีลักษณะคล้ายจะเป็นห้องของนักสะสม คือผมมองว่า จริงๆ แล้วความสุขของการอยู่บ้านอย่างหนึ่ง คือ เราสามารถเอาของสะสมของตัวเองมาจัดวางโชว์ในพื้นที่ของเราได้ มันทำให้เรามีความสุขกับความทรงจำต่างๆ ที่เกิดขึ้น