ABOUT HIM
“สิ่งที่ให้ความสำคัญในงานออกแบบ ถ้าเป็น “บ้าน” ผมก็จะมองที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลักโดยไม่ได้เอาตัวเราเข้าไป เพราะมันคือพื้นที่ส่วนตัวของลูกค้า เริ่มจากฟังความคิดเห็นของลูกค้าแล้วเอามาเรียบเรียงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้มันกลมกล่อมขึ้น โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ร่วมกันหลายคน เขาก็จะมีความคิดที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน สิ่งที่เราต้องทำคือ “หาจุดร่วม” ซึ่งอันนี้จะเป็นหลักสำคัญในงานดีไซน์ บ้าน รองลงมาก็จะเป็นเรื่องของฟังก์ชั่นที่ตอบสนองความต้องการของคนในบ้าน” สัปดาห์นี้ชวนมาหาแรงบันดาลใจในการตกแต่ง ด้วยการพูดคุยกับ คุณอรรณพ ศิริกิตติกุล สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง Ground Architects
งานของเรา 70 % เป็นประเภทที่พักอาศัย อีก 30% เป็นประเภทร้านค้า สำนักงาน ธุรกิจบริการครับ โดย Ground Architects ให้บริการครอบคลุมเรื่องงานสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน และ การวิเคราะห์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนหรือความคุ้มทุนของการใช้พื้นที่ (Feasibility Study) ด้วย สำหรับลูกค้ากลุ่มอสังหาฯ ซึ่งบางท่านได้ที่ดินมา แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดีให้เกิดความคุ้มค่า เราก็จะมาหาว่าถ้าสร้างเป็นคอนโด หรือ Serviced Apartment จะได้กี่ห้อง หรือถ้าสร้างเป็นรีสอร์ทจะได้ทั้งหมดกี่วิลล่า แล้วหาจุดความคุ้มทุนว่าพื้นที่ขนาดนี้ใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ จะได้เงินกลับมาประมาณเท่าไหร่ แล้วดูว่าคุ้มกับที่ลูกค้าจ่ายเงินไปหรือเปล่า
ในการออกแบบบ้าน พื้นที่ที่เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ “ห้องน้ำ” ครับ โดยเฉพาะเรื่อง “ขนาด”ที่จะต้องค่อนข้างใหญ่ เพราะทุกวันนี้ลูกค้าใช้เวลาในห้องน้ำมากขึ้น มีทั้งเรื่องการแยกอ่างล้างหน้าออกเป็นสองฝั่ง บางบ้านถึงขนาดมีฝักบัว 2 โถสุขภัณฑ์ 2 ก็มี ซึ่งบางทีลูกค้าบางท่านก็อาจจะไม่คุ้นว่าทำไมต้องมีขนาดนั้น พอเรานำเสนอไปแล้วลูกค้าก็รู้สึกว่าก็ดีนะ รู้สึกตอบสนองการใช้งานของเค้าในเวลาเร่งรีบ เพราะทุกวันนี้ครอบครัวส่วนใหญ่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็ทำงานกันทั้งคู่ ตอนเช้าเวลาการใช้งานจะชนกัน ดังนั้น การมีทุกอย่างที่แบ่งเป็นสองก็ช่วยให้สะดวกในการใช้งานมากขึ้นครับ
และอีกหนึ่งพื้นที่ที่ผมว่าบ้านทุกวันนี้ที่ต้องมีเลยก็คือ “แพนทรี” ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ผมว่าจะเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ได้ ให้คนในบ้านได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน มาทำอาหารเช้าง่ายๆ ด้วยกัน โดยที่ไม่ต้องไปนั่งในครัว แบบที่คนทำกับข้าวในครัวก็ทำไป คนนั่งรอทานข้าวก็รอไปคือไม่เห็นกัน คือผมมองว่าทุกวันนี้แค่มี “ห้องครัว” ไม่พอ เพราะบางทีเราไม่ต้องการเข้าไปทำอะไรหนักขนาดนั้น และบางทีห้องครัวก็รก ไม่สวย เราก็อาจจะหลบไปอยู่ด้านหลังของแพนทรี โดยมีประตูกั้นระหว่างกัน ก็จะทำให้พื้นที่ดูเรียบร้อยมากขึ้น
สำหรับการทำงานออกแบบ นอกเหนือจากความต้องการของลูกค้าแล้ว อีกสิ่งที่เราพยายามมองหาคือ การพยายามนำ “วัสดุรอง” ซึ่งปกติจะทำหน้าที่เป็นส่วนเสริมของวัสดุอื่น มาใช้ให้มันเป็นพระเอก เช่น เหล็กข้ออ้อย ซึ่งเป็นส่วนเสริมของคอนกรีต เราก็นำมาทำเป็นชั้นวางของหรือพาร์ทิชั่น หรืออย่างัโครงกัลวาไนซ์ซึ่งปกติมันซ่อนอยู่ในผนังเบา ในงานรีโนเวทโปรเจคหนึ่งเราก็นำมันออกมาโชว์ เพราะด้วยพื้นผิวและคาแรคเตอร์ของมัน พอเอามาจัดเรียงแพทเทิร์นดีๆ มันก็จะทำให้ได้งานดีไซน์ที่ดูแปลกตาและน่าสนใจ
นอกจากนี้ เราก็จะพยายามหาพวกเทคนิคการใช้วัสดุที่มันแปลกๆ มีกระบวนการในการทำ (ที่เหมือนจะยุ่งยากขึ้น) แต่ช่วยสร้างคาแรคเตอร์บางอย่างให้พื้นที่หรืองานนั้นๆ ได้ เช่น ไม้เนื้ออ่อน...เราก็เอามาขัดเสี้ยนเพื่อให้เกิดเสี้ยนชัดขึ้น แล้วก็ใช้กรรมวิธีการเผาแบบญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นการถนอมไม้) แทนที่จะแค่นำไม้ไปทาสีดำธรรมดา ก่อนจะนำไปทำเป็นวัสดุตกแต่ง
ผมสนใจใน “วัสดุรอง” เพราะมองว่า มันยังไม่ค่อยถูกนำมาใช้ ถ้าเราหยิบมาลองจัดเรียงใหม่ เล่าเรื่องใหม่ มันน่าจะประยุกต์ทำอะไรเพิ่มได้อีกเยอะ และรวมถึงการนำกระบวนการอื่นๆ เข้าไปจัดการกับวัสดุเหล่านั้น ก็จะทำให้ความแปลกใหม่ในมิติต่างๆ ของงานดีไซน์ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใส่อะไรแบบนี้เข้าไปในงาน “บ้าน” มากนัก...เพราะบ้านเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องอยู่ทุกวัน การใส่อะไรที่ดูหวือหวามาก มันจะทำให้เบื่อเร็ว ส่วนใหญ่จะไปอยู่ในงานประเภทร้านค้าหรือธุรกิจบริการมากกว่า เพราะการใช้วัสดุที่แปลกตา จะช่วยสร้างคาแรคเตอร์ให้พื้นที่นั้นๆ ได้เร็วครับ ส่วนการเลือกใช้วัสดุสำหรับงาน “บ้าน” ผมจะมองเรื่องการบำรุงรักษามากกว่า คือต้องดูแลง่าย ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป
- การเลือกเฟอร์นิเจอร์สำหรับพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้ทุกคนอยากมาใช้พื้นที่ ผมว่า “โซฟา” เป็นพระเอกในพื้นที่นี้ ควรเลือกโซฟาที่แน่นพอดี ไม่ยุบย้วย มีความสูงพอดี ถ้าเตี้ยเกินไปผู้สูงอายุจะลุกนั่งลำบากคือคำว่า “พื้นที่ส่วนกลาง” มันควรต้องเอื้อกับคนทุกช่วงวัยในบ้าน และนอกจากมีโซฟาที่นั่งสบายแล้ว ผมมักแนะนำให้ลูกค้าเลือกเฟอร์นิเจอร์ Masterpiece สักอันมาใส่ เพื่อให้ดูเป็นงานศิลปะในพื้นที่ เวลาที่เข้าไปใช้งานคุณจะได้สัมผัสกับสุนทรียะในพื้นที่ด้วย
- การจัดวางฟังก์ชั่นในห้องน้ำ หลังจากที่ก้าวข้ามผ่านประตูไป เราควรต้องมองเห็นอ่างล้างหน้า หรือถ้าให้ความสำคัญกับอ่างอาบน้ำ ก็จะต้องเปิดประตูเข้าไปแล้วมองเห็นอ่างอาบน้ำ คือต้องทำให้สิ่งที่คุณอยากเน้นเป็น Focal Point ของห้อง และอีกเรื่อง คือ “แสงสว่าง” ต้องให้มีแสงธรรมชาติเข้ามาในห้องน้ำให้เยอะที่สุด
- การเลือกใช้วัสดุ ในช่วงที่ผ่านมาเราชอบใช้วัสดุธรรมชาติเพราะมันได้เรื่องของความแตกต่าง ลายมีชิ้นเดียวจะไม่มีใครเหมือนอีก ซึ่งผมว่าห้องหนึ่งอาจจะมีได้สักผนังหนึ่งก็เพียงพอ แต่ส่วนอื่นถ้ามีวัสุที่ทดแทนได้ เช่น กระเบื้องลายหินก็สามารถเอามาใช้ในห้องน้ำได้ดีกว่า หรือในพื้นที่ที่ Sensitive มาก เช่น ท็อปครัวหรือท็อปอ่างล้างหน้า ผนังในห้องน้ำ ผมว่าอันนี้วัสดุทดแทนจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า เพราะมันมีค่าซึมน้ำต่ำและดูแลรักษาง่ายกว่าในระยะยาว ส่วนการใช้หินธรรมชาติควรอยู่ในจุดที่เน้นโชว์ความสวยงาม เช่น ผนังหลังของอ่างล้างหน้าหรือแม้กระทั่งตัวอ่างล้างหน้าเอง เราอาจจะทำให้เป็นหินก้อนนึงที่ดูเป็น Sculpture ไปเลยก็ได้
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
มุมนี้ให้ไอเดียเรื่อง “การจัดเก็บในแนวสูง” ครับ ซึ่งตอนนี้คนก็นิยมเรื่องของการทำบิลท์อินเฉพาะจุด แล้วใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน ซึ่งในห้องนี้ผมสนใจชั้นวางของซึ่งมีบันไดช่วยให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน ที่สำคัญคือบันไดมันขยับเคลื่อนย้ายไปมาได้ ทำให้พื้นที่ดูมี Gimmick แล้วก็มีการเติมของตกแต่งพวกงานที่ดูเป็นธรรมชาติ เป็นงาน Craft เข้าไปด้วย ก็ยิ่งทำให้พื้นที่ดูน่าสนใจครับ
มุมนี้ให้ไอเดียเรื่อง “การจัดเก็บในแนวสูง” ครับ ซึ่งตอนนี้คนก็นิยมเรื่องของการทำบิลท์อินเฉพาะจุด แล้วใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน ซึ่งในห้องนี้ผมสนใจชั้นวางของซึ่งมีบันไดช่วยให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน ที่สำคัญคือบันไดมันขยับเคลื่อนย้ายไปมาได้ ทำให้พื้นที่ดูมี Gimmick แล้วก็มีการเติมของตกแต่งพวกงานที่ดูเป็นธรรมชาติ เป็นงาน Craft เข้าไปด้วย ก็ยิ่งทำให้พื้นที่ดูน่าสนใจครับ