ABOUT HER
สำหรับใครที่เคยเข้าไปเยี่ยมชมหรือได้สัมผัสกับโครงการบ้านและคอนโดหรูใจกลางเมืองอย่าง Walden Sukhumvit 39, Walden Thonglor 8, SAVVI Ari 4, Settasiri Taweewattana และ KALM Penthouse เพนท์เฮ้าส์คอนโดที่ได้รับรางวัล Asia Pacific Property Awards 2018-2019 : Architecture Multiple Residence for Thailand สัปดาห์นี้ขอพาคุณมาทำความรู้จักกับผู้อยู่เบื้องหลังความหรูหราและสวยงามของโครงการเหล่านั้นกับ คุณรุ้ง – รุ้งนภา โดร์มิเออ ผู้ร่วมก่อตั้ง PAON Architects
PAON Architects เราทำ Exterior และ Interior ค่ะ ซึ่งงานออกแบบของเราส่วนใหญ่จะเป็นประเภทโครงการที่พักอาศัย ทั้งบ้านและคอนโด โดยเน้นไปทางสไตล์ Modern Luxury…ส่วนตัวรุ้งมองว่า “ความหรูหราทันสมัย” เป็นเรื่องของ “การลงรายละเอียดและความพอเหมาะพอดี” ในหลายๆ อย่าง ความหรูหราแค่ไหนถึงเรียกพอเหมาะ? เป็นเรื่องพูดยากค่ะ เพราะการที่ใช้สีทองตกแต่งในปริมาณมาก ก็เป็นการดีไซน์ที่ทำให้เกิดความหรูได้ง่ายๆ และก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปรู้สึกถึงความหรูหรา แต่ที่ PAON เราจะเน้นความเป็น New Modern Luxury ก็คือเรามองว่า "ความหรูหรา" มาจากรายละเอียดของการดีไซน์ อย่างในสมัยก่อนเราก็จะนึกถึงความหรูหราคืองาน Craft หินบนผนัง แต่เราก็นำมาประยุกต์บนพื้นฐานปัจจุบัน เช่น งานไม้และวัสดุทันสมัยต่างๆ โดยการเติมรายละเอียดใหม่ๆ การใช้พวกของแวววาวแต้มลงไป คล้ายกับเรามองภาพวาดที่เขาใช้พู่กันแต้มสีวาวๆ เป็นเส้นเป็นจุดเข้าไป โดยให้มี “ผิวสัมผัสแบบด้าน” มากหน่อยและมีความวาวเพียงเล็กน้อย ก็จะให้ลุคโมเดิร์นแบบเรียบๆ และมีความมินิมอลผสมอยู่ ความมินิมอลคือสัจจะของวัสดุต่างๆ “ผิวสัมผัสด้าน” สะท้อนถึงความเรียบ ซึ่งพอเราเติมอะไรที่มีผิวเงาเข้าไปเล็กน้อย สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะดูเป็นการดีไซน์ที่ Sophisticated Luxury ขึ้นค่ะ
เวลาที่เราทำงานออกแบบ เราจะมองในลักษณะ Big Picture & Small Details ค่ะ Big Picture หมายถึงภาพรวม ซึ่งหลังจากที่คุยความต้องการของลูกค้าได้แล้ว ภาพรวมจะต้องได้ คือ ทุกๆ พื้นที่ต้องสื่อถึงคาแรคเตอร์ของลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องมีฟังก์ชั่นใช้สอยที่ดีและเหมาะสมด้วย ส่วน Small Details จะเป็นเรื่องของ Human Scale และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เข้าถึงผู้ใช้งานและเพิ่มมูลค่างานดีไซน์เข้าไปได้ เช่น การใช้วัสดุที่มีความแวววาวอย่าง สแตนเลสหรือหิน (เข้าไปในจำนวนน้อยๆ) เพื่อให้ภาพรวมยังคงความเป็นโมเดิร์นอยู่ แต่เพิ่มรายละเอียดต่างๆ เข้าไปที่ในเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวหรือบิทล์อินและงานตกแต่งต่างๆ
โดยเราจะเน้นเรื่องการสร้างลูกเล่นให้วัสดุ เช่น บัวอะลูมิเนียมซึ่งเป็นบัวพื้น เราก็ลองเอามาทำเป็น Feature Wall หรืออย่างสแตนเลสก็นำมาพับเป็นรูปทรงสามมิติ กระทั่งหินอ่อนที่ปกติทั่วไปจะใช้ในลักษณะนำมาตกแต่งเป็นแผง แต่เราก็ลองนำหินอ่อนมาเซาะร่องเป็นตัววี หรือมีการเพิ่มรายละเอียดในงานดีไซน์ทำให้เป็นเหมือนหินอ่อนพับได้ เพื่อสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ให้งานออกแบบตกแต่งค่ะ
นอกจากนี้ “แสงไฟ” ก็เป็นอีกสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้พื้นที่ดูมีความน่าสนใจมากขึ้นได้ หากไฮไลท์แสงไฟได้ถูกต้อง เช่น ตู้ใบหนึ่งที่อาจจะเป็นตู้เรียบๆ ( ถ้าเป็นงานประเภทที่พักอาศัย ส่วนใหญ่รุ้งจะเลือก “ไฟสีค่อนข้างอบอุ่น” นิดนึง) ถ้าเราไฮไลท์แสงไฟที่ด้านหลังตู้ จะเป็นการเน้น Back Light ให้กับวัตถุ ทำให้วัตถุนั้นมีความทึมลง ของในตู้จะดูเป็นอีกอารมณ์นึง แต่ถ้าไฮไลท์แสงไฟที่ด้านหน้า จะเป็นการเน้นวัตถุนั้นให้ดูสะดุดตาจับแสงไฟ ทำให้พอเราเข้ามาในพื้นที่ แม้ภาพรวมจะดูมินิมัล แต่พอมีไฟไปส่องที่วัตถุต่างๆ มันจะทำให้เห็นถึงความหรูหราในรายละเอียดต่างๆ หรือพื้นที่ซึ่งเป็นจุดปลายสายตาหรือจุดที่เราต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ควรต้องมีจุดปะทะสายตาที่โดดเด่น เพื่อทำให้รู้ว่าตรงไหนเป็นพระเอกของห้อง ซึ่งตรงจุดนี้ก็น่าจะเป็นจุดที่มีแสงไฟไฮไลท์ให้มากขึ้นด้วยค่ะ
ในงานออกแบบของเรา หลักๆ จะเป็นการผสมผสานระหว่าง Rational กับ Esthetic ค่ะ เช่นถ้าเป็นโครงการคอนโด เราก็จะให้ความสำคัญทั้งในเรื่องทางการตลาดและการเพิ่มมูลค่างานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้งานเกิดความสวยงามด้วย ถ้าในเชิงบ้านก็จะเป็นลักษณะว่า “พื้นที่ต้องดี ฟังก์ชั่นต้องได้ ซึ่งคำว่า “พื้นที่ต้องดี” ในที่นี้คือต้องมีความกว้าง ความยาว ความสูงที่มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานและมีความลงตัวระหว่าง Exterior และ Interior ด้วยค่ะ
สำหรับคนที่อยากตกแต่งบ้านสไตล์หรูหรา ต้องเริ่มต้นจากเข้าใจตัวเองก่อนว่าชอบสไตล์แบบไหน แล้วจึงเลือกให้ชัดเจนทั้งในเรื่องของ “วัสดุและผิวสัมผัส” ว่าจะให้อะไรเป็นพระเอก เช่น ถ้าชอบมินิมอล ก็อาจเลือกใช้ “ไม้” เป็นวัสดุหลัก แล้วดูว่าจะใช้สีขาว? หรือสีไม้ธรรมชาติ? ส่วนองค์ประกอบอื่นจะเป็นผ้ากำมะหยี่ที่มีผิวสัมผัสเงาๆ ดูแพงขึ้น ผสมกับผ้าแบบหยาบๆ เพื่อให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ ก็ค่อยๆ พิจารณาเลือกไปตามความชอบและคาแรคเตอร์ของการตกแต่งค่ะ
- พื้นที่เล็กๆ ก็แต่งให้ดูหรูได้ อย่างทาวน์โฮมหรือบ้านที่มีขนาดกะทัดรัด ก็อาจใช้กระจกเงาเข้ามาช่วยทำให้พื้นที่เล็กดูกว้าง โดยใช้กระจกในจุดที่เหมาะสม ไม่ใช่ใช้ทั้งห้อง เพราะจะทำให้ดูหลอกตามากเกินไป ควรใช้กระจกเฉพาะจุด ที่รู้ว่าแคบเพียงฝั่งเดียวก็พอ และก็อาจจะแต่งเติมด้วยของตกแต่งชิ้นเล็กๆ ที่มีผิวสัมผัสมันวาว
- สัดส่วนการผสมของวัสดุและผิวสัมผัส Texture หลักควรใช้ที่ 60 % ขึ้นไป เช่น วัสดุเดียวกันควรเลือกแบบที่มี Texture คล้ายๆ กัน ส่วนวัสดุที่ต่างกัน เราสามารถเปลี่ยนสเกลของ Texture ได้ เช่น Texture หลักเป็นแบบหยาบ อีก 20% ก็ใช้เป็น Texture ละเอียด เพื่อช่วยให้งานตกแต่งไม่น่าเบื่อจนเกินไป
- การออกแบบบ้านให้เข้ากับลักษณะภูมิประเทศ เช่น เรื่องลม ประเทศเราค่อนข้างลมดี แต่ต้องเปิดช่องลมให้ถูก การถ่ายเทอากาศด้วยลมจะช่วยให้พื้นที่ภายในบ้านมีความโปร่งโล่งขึ้น เย็นขึ้น ช่องลมปกติ มีทางเข้าและออก ตำแหน่งทางเข้าออกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทางเข้าอยู่ข้างๆ ทางออก ลมจะไม่เข้า มันต้องอยู่ “ตรงข้ามหรือเยื้องกัน”
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
มุมนี้โดยภาพรวมชอบเรื่องสีค่ะ คือ ภาพรวมเป็นการใช้สีเข้ม แล้วไฮไลท์ด้วยวัสดุ อย่างสแตนเลสและแก้ว ที่ดูมันวาวเข้ามาช่วยเพิ่มความหรูหราให้กับพื้นที่ มีตู้ลิ้นชักที่เป็นไอเท็มที่ดึงดูดสายตาได้ดี มีภาพเขียนด้านหลังทำให้ห้องดูมีสไตล์ขึ้นค่ะ
มุมนี้โดยภาพรวมชอบเรื่องสีค่ะ คือ ภาพรวมเป็นการใช้สีเข้ม แล้วไฮไลท์ด้วยวัสดุ อย่างสแตนเลสและแก้ว ที่ดูมันวาวเข้ามาช่วยเพิ่มความหรูหราให้กับพื้นที่ มีตู้ลิ้นชักที่เป็นไอเท็มที่ดึงดูดสายตาได้ดี มีภาพเขียนด้านหลังทำให้ห้องดูมีสไตล์ขึ้นค่ะ