ABOUT HIM
สัปดาห์นี้พบกับสถาปนิกหนุ่มผู้หลงใหลในงานศิลปะ และพร้อมกล่อมเกลาความงามแห่งศิลป์ให้เข้ากับงานสถาปัตยกรรม เพื่อส่งผ่านพลังและสุนทรียะของการใช้ชีวิตใน “บ้าน” ให้กับผู้อยู่อาศัย คุณอยุทธ์ มหาโสม ผู้ก่อตั้ง Ayutt and Associates design (AAd) บริษัทออกแบบที่มีผลงานโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และได้รับรางวัลจากหลากหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้รับรางวัล Leading Designers Awards Thailand’s Most Outstanding in Modern Residential Design 2019 จากสื่อในประเทศอังกฤษ อีกด้วย
เมื่อก่อนสมัยทำงานอยู่ต่างประเทศ ผมได้มีโอกาสออกแบบแต่งานอาคารขนาดใหญ่เป็นหลักครับ จนกลับมาเมืองไทยจึงค้นพบตัวเองว่า เราชอบออกแบบ “บ้าน” เพราะเราชอบความรู้สึกเวลาที่ได้เห็นเจ้าของบ้านเข้ามาอยู่ในงานของเราแล้วเขามีความสุขครับ งานของ AAd หลักๆ จึงเป็นประเภทที่พักอาศัยอย่างเดียวเลย เพราะเราโฟกัสเรื่องของการอยู่อาศัย และตอนนี้ AAd มีการแยกบริษัทออกมาอีก 2 บริษัทย่อยชื่อ DIFF (ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่มุ่งเน้นสุนทรียศาสน์เป็นหลัก) และ CORE (มุ่งเน้นงานออกแบบที่พักอาศัยเชิงพาณิชย์)
อย่าง DIFF เราจะเล่นเรื่อง Space สุนทรียภาพ และพลังในเชิงสถาปัตยกรรม เป็นงานที่เราจะไม่พูดเน้นเรื่อง Function การใช้สอยพื้นฐานทั่วๆ ไปของงานออกแบบ แต่เราจะเน้นการนำเสนอเรื่องของการ “สร้างความรับรู้” เกี่ยวกับ Space ครับ ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็เช่น ศาสนสถานซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญในแต่ละศาสนา เป็นสถาปัตยกรรมที่ให้ความรู้สึกสงบ สุขุม และทรงพลัง จนทำให้เรารับรู้ได้โดยง่าย ผมก็มองว่าทำไมงานสถาปัตยกรรมหลายๆ ที่ ไม่ดึงพลังเหล่านี้มาใช้ และผมก็เลยพยายามทดลองประยุกต์ใช้กับ “บ้าน” ที่เราออกแบบ โดยอยากได้บ้านที่มีพลังในมิติเชิงลึกขึ้น สามารถตัดขาดจากโลกที่วุ่นวายด้านนอกได้ ให้เจ้าของบ้านแต่ละท่านได้อยู่ในโลกส่วนตัวของตัวเองมากที่สุด อันนี้เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา เป็น Space ที่เป็น “งานศิลปะ” คือเรากำลังหันมาเล่นเรื่องงานศิลปะที่ไม่ใช่ภาพวาด แต่เป็นงานสถาปัตยกรรม ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถดื่มด่ำกับมันได้
“ตัวอย่าง บ้านหลังหนึ่งที่ AAd กำลังออกแบบอยู่ตอนนี้ มีฝ้าเพดานสูงกว่า 10 เมตร พอเปิดประตูเข้ามาคุณจะเห็นทางเดินยาว 30 เมตร ผนังเป็นคอนกรีตเปลือยสีดำที่มีการผสมเม็ดหินที่มีขนาดไม่เท่ากัน และผนังผืนนี้ไม่มีเสารับโครงสร้างเลย และทำผนังกระจกลงมาเกือบถึงพื้น เหลือไว้ 5 ซม. เวลาเดินในโถงนี้ไม่ต้องใช้ไฟ เพราะไฟจากข้างนอกจะไหลเข้ามาตามช่องว่างที่พื้นกับตัวผนังที่ยกลอยที่เราเว้น ส่วนฝ้าเพดาน ผมทิ้งช่องว่างไว้ประมาณ 2 ซม. เพื่อให้แสงอาทิตย์ส่องเข้ามาแล้วเกิดเป็นแนวเส้นตรงเส้นเล็กๆ ซึ่งจะฉายกระทบผนังและเกิดเป็นเงาที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลา อันนี้คือ “งานศิลปะ” ทุกช่วงเวลาที่คุณเข้าโถงทางเดิน สิ่งที่คุณจะสัมผัสได้คือ “พลังของความมืดและความสว่าง” โดยมีช่วงเวลาเป็นตัวกำหนดความเข้มและองศาของแสงธรรมชาติ ซึ่งมันสร้างศิลปะในตัวเอง”
สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องสุนทรียะของการอยู่อาศัยอาจไม่รู้สึกกับตรงนี้ ซึ่งผมอยากบอกว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นปัจเจก บางคนอาจชอบงานผม บางคนอาจไม่ชอบก็ได้ แต่สิ่งที่ผมพยายามทำคือเรากำลังทำงานศิลปะที่เหมาะสมกับความต้องการของเจ้าบ้านแต่ละคนครับ...ผมมองว่า สถาปัตยกรรมที่มี Space สวยๆ มันมีพลังบางอย่าง และพลังของสถาปัตยกรรมนั้นสามารถส่งผ่านไปยังผู้อยู่อาศัยได้ ผมว่ามันคือธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่พอเราเห็นสถาปัตยกรรมบางประเภทแล้ว เราสามารถรับรู้ถึงพลัง ...บริษัท DIFF จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความท้าทายของน้องๆ นักออกแบบในบริษัทเราเองตอนนี้
สำหรับการทำงานของ AAd เราตั้งมาตรฐานไว้ค่อนข้างสูง ทั้งในแง่ของวัสดุ การดีไซน์ และคุณภาพชีวิต อาชีพที่ผมทำอยู่ตอนนี้เหมือนหมอ เป็น “หมอเฉพาะทาง” เรื่องที่พักอาศัย ซึ่งงานออกแบบของเราจะเป็นการ Customize พื้นที่ไปตามฟังก์ชั่นของเจ้าของบ้านแต่ละคนเลย
ในเรื่องของการเลือกใช้ “วัสดุ” AAd เป็นบริษัทออกแบบบ้านที่มักจะนำวัสดุสมัยใหม่มาใช้หุ้มอาคาร เพื่อตอบสนองเรื่องของการใช้สอยอาคาร ยกตัวอย่างเช่นการใช้ "อลูมิเนียมเส้น" จริงๆ ก็ใช้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะใช้ในงานเชิงพาณิช เพราะมันสามารถควบคุมเรื่องการก่อสร้างและง่ายต่อการดูแลรักษา อยู่นาน 30-40 ปี ถ้าเทียบกับผนังก่ออิฐฉาบปูน ส่วนใหญ่เราจะใช้หุ้มทำ Façade ของบ้าน วัตถุประสงค์เพื่อ 1.ความสวยงาม เรียบร้อย และ 2.บำรุงรักษาน้อยที่สุด เพราะอลูมิเนียมไม่เป็นสนิมและไม่ต้องทาสีใหม่ แค่เอาน้ำฉีดแล้วเช็ดด้วยผ้า ก็เงาเหมือนปกติแล้ว หลายคนอาจมองว่าการเอาอลูมิเนียมที่ราคาสูงมาหุ้มอาคารอาจไม่คุ้มในแง่ค่าใช้จ่าย แต่เราคิดในลักษณะที่ว่า เราเลือกใช้วัสดุที่คงทนและมีความสวยงาม มาประยุกต์เข้ากับงานดีไซน์ ก็สามารถช่วยลดต้นทุนในด้านอื่นๆ ให้เจ้าของบ้านได้ เช่น เรื่องประหยัดพลังงาน เพราะถ้าเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน เมื่อโดดแดดจะอมความร้อน พอตกกลางคืนความร้อนจากผนังก็จะแผ่ออกมาในห้องนอน ทำให้เปลืองระบบปรับอากาศ แต่การใช้อลูมิเนียมเป็นผิวหน้า โดยมี Air gap ให้อากาศวิ่งไหลผ่าน ในตอนกลางวัน ความร้อนจะถูกดูดไปที่อลูมิเนียมทั้งหมด ผนังปูนจะไม่สัมผัสความร้อนเลย ส่วนตอนกลางคืนจะกลายเป็นเย็นจัดทันที เพราะอลูมิเนียมเป็นวัสดุที่ทั้งนำและถ่ายเทความร้อนได้ดี จึงจะช่วยประหยัดพลังงานในแง่ของภาพรวมของตัวบ้านได้
การใช้อลูมิเนียมเส้นๆ นี้ถือเป็น Signature ของ AAd ที่เราทำมานานแล้ว และปัจจุบันเราก็พัฒนาไปกว่านั้นเยอะแล้ว เช่น มีการเจาะรูเล่นแพทเทิร์น รวมทั้งมีการทดลองใช้วัสดุอื่นอย่างแผ่นทองแดง แผ่นเหล็ก และคอนกรีตเปลือยที่เราคิดสูตรขึ้นมาเอง เพื่อสร้างผิวสัมผัสและสุนทรียภาพที่แตกต่าง งานของ AAd ไม่ได้ทำงานตามโจทย์ของลูกค้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราทำงานตาม Passion ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนของคนในทีมด้วย เราเห็นว่าลูกค้าแต่ละคนต้องการอย่างนี้ๆ เรามักทำงานเกินความต้องการของลูกค้าไป 2-3 เท่าเสมอ หลังๆ พอมีลูกค้าติดต่อเข้ามาเยอะ ถึงจุดนึงเรารู้สึกว่างานทุกอย่างมันมีความเดิมๆ ซ้ำๆ คือ คนอยากได้บ้านสวย บ้านดี อยู่สบาย ซึ่งถ้าเรารับงานเหล่านี้ ทางน้องๆในทีมสามารถออกแบบให้ลูกค้าได้เร็วมาก แต่หลังๆเราแทบจะไม่รับงานบ้านที่ออกแบบเสร็จได้ง่ายๆเลย เพราะเราต้องการใช้วิชาชีพของเราให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เราอยากรับงานที่สามารถใช้งานสถาปัตยกรรมของเราช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องการอยู่อาศัยของเจ้าของบ้านได้มากยิ่งขึ้น คือเราอยากช่วยแก้ไข อยากบำบัดเขา อันนี้เป็นหัวใจหลักของงาน AAD คือเราไม่อยากแข่งกับใครแล้ว เราอยากแข่งกับตัวเอง เราอยากช่วยสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้อยู่อาศัยด้วยงานสถาปัตยกรรม ซึ่งผมจะรู้สึกดีมากๆ เลย ถ้างานออกแบบของผมสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้ สุดท้ายความสุขของเราทุกคนใน AAd ไม่ได้อยู่ที่รายได้ที่เราได้รับ แต่อยู่ที่รอยยิ้มจากเจ้าของบ้านตอนที่ได้เดินเข้าไปอยู่ในงานของเรามากกว่า
- เราชอบ “แทรกต้นไม้” เข้าไปอยู่ในทุกส่วนของบ้าน เพราะ ธรรมชาติเป็น Background ที่ดีที่สุดของความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการเสริมต้นไม้เข้าไป มันจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเจ้าของบ้านได้จะทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่ ส่วนแสงและลมเป็นเรื่องของผลพลอยได้...บ้านหลายหลัง ชอบเอาต้นไม้หรือสวนไว้ข้างนอก ข้อเสียคือเวลาเราอยู่ในบ้านจะแทบไม่เห็นต้นไม้เลย เราเลยคิดมุมกลับโดยเอาต้นไม้เข้ามาอยู่ในบ้าน ในห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องนอน เพราะเรามองว่า ในเมื่อคุณจ่ายเงินสร้างขึ้นมาแล้ว ทุกห้องในบ้าน“ควรจะได้เห็นมัน” ...คุณควรได้ดื่มด่ำกับบ้านและกับเงินที่จ่ายไป
- Space หัวขโมย เป็นลักษณะพื้นที่ที่ผมใช้บ่อย คือ บ้านในกรุงเทพฯ จะมีที่ดินจำกัด อย่างห้องนั่งเล่นของบ้านขนาดเล็กโดยทั่วไป กว้างยาวสัก 4x6 เมตร ซึ่งเรียกว่าขนาดกะทัดรัด เมื่อไหร่ที่ทำระเบียงและสวนไปอยู่ข้างนอกมันจะเหมือนตัดขาดพื้นที่กันไปเลย แต่ถ้าเอามาอยู่ข้างในแล้วทำกระจกยาวไปทั้งหมดเหมือนเป็นศาลา เวลาเราเปิดกระจกทั้งหมด เราจะได้พื้นที่ของภายนอกเข้ามาอยู่ภายใน จะทำให้ความรู้สึกของห้องดูกว้างขึ้น คือเหมือนเป็นการขโมยพื้นที่ของ Landscape เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน Interior
Favorite items
Living Inspiration @ SB Design Square
เลือกมุมนี้ เพราะรู้สึกว่าองค์ประกอบของโทนสีแมตช์กันได้ดีครับ เป็น “ชุดครัว” สไตล์โมเดิร์นที่มีกลิ่นอายของความหรูหรา ซึ่ง “สีทอง” ต้องบอกว่ามันเป็นเทรนด์ของปัจจุบัน วัสดุที่ใช้อย่างลายไม้ มันมีความเป็นเส้นสีน้ำตาลก็ดูลักซ์ชัวรี่ ส่วน Backsplash ก็เป็นสแตนเลสสีชาทอง คือทองอมดำหน่อยๆ มีกระจกเงาสีชาที่ไปได้ดีกับผนังตู้ไฮกลอสสีดำ และมีการเพิ่มความลักซ์ชัวรี่ด้วยวีเนียร์ลายไม้ ท็อปหินเทียมเป็นสีน้ำตาลเข้มอมเทา คือโดยรวมแล้วทุกอย่างค่อนข้างไปกันได้ดี และตรงส่วนของดีไซน์ขอบเคาน์เตอร์ที่สูงขึ้นมาตรงตำแหน่งเตาไฟ จะช่วยได้เยอะเลยทั้งในเรื่องป้องกันการกระเด็นขณะทำอาหารและใช้เป็นที่จัดวางเครื่องปรุง (ที่เจ้าของบ้านไม่ได้อยากโชว์) ก็จะได้วางซ่อนไว้ข้างหลังนี้ได้ ถ้าเป็นครัวที่ไปอยู่กับโต๊ะทานข้าวและโซฟา เวลามองมา มันจะดูเรียบร้อยมากเลยครับ
ผมเลือก "ชุดครัว" เพราะว่าพื้นฐานของผมเวลาทำงานออกแบบ จะเน้นเรื่อง Space ค่อนข้างเยอะครัวคืองานบิลท์อินชนิดนึงที่สร้าง Space ได้ง่าย ผมเคยเห็นชุดครัวของ "เอสบี" บางชุด ทำเป็นไอส์แลนด์แล้วมีโต๊ะพาดเป็นตัวแอล ซึ่งนั่นคือการสร้าง Space ของห้องครัว โดยที่เราไม่ได้กั้นผนังเป็นห้อง ชุดครัวเหล่านี้ สำหรับผมมองว่ามันคือการ Define Space ได้สวย หรือแม้กระทั่งช่องใส่ของด้านหน้า ก็สามารถใช้วางของตกแต่งก็ได้ ไม่ใช่จะต้องเป็นของใช้ในครัวอย่างเดียว ทำให้ Space มันดูเชื่อมโยงกันได้ดี
ส่วนมุมนี้ ให้แรงบันดาลใจเรื่องของโทนสีเช่นกัน และสิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับห้องแต่งตัว ก็เช่น “ผนัง” เราจะทำเป็นตู้กระจกอย่างนี้ทั้งหมดเลยก็ได้ ซึ่งในงานออกแบบของผมก็ใช้ “กระจกใสดำ” แบบนี้บ่อยมาก เพราะมันทำให้เราเห็นเรื่องผ้าข้างในแค่ลางๆ คือตู้เสื้อเสื้อผ้าในโชว์รูมจะดูสวย เพราะเขาจะจัดโชว์เสื้อผ้าแบบคุมโทนสีแต่ในชีวิตจริง เสื้อผ้าของเราไม่ได้สวยแบบควบคุมโทนได้ขนาดนั้น ดังนั้น การใช้กระจกแบบนี้มันก็จะช่วยลดความแตกต่างของสีสันลงได้ และเราก็ยังมองเข้าไปเห็นได้ว่าข้างในคืออะไร