2018 Week 52 : ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

2018week52
24 ธันวาคม 2018
2018 Week 52 : ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

ABOUT HER

คุณภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (หยก)  :  สัปดาห์นี้พบกับ Trimode สตูดิโอออกแบบของกลุ่มดีไซน์เนอร์ไทยฝีมือระดับโลก ผลงานของพวกเขาไปไกลถึง Milan Design Week ซึ่งเป็นเทศกาลด้านงานออกแบบที่คนรักงานดีไซน์ทั่วโลกต้องไปอัพเดทเทรนด์ใหม่ๆ รวมถึงไปหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจากที่นั่น

เราได้มีโอกาสได้นำผลงานไปจัดแสดงที่ Milan ครั้งแรกเมื่อปี 2009 ค่ะ เป็นงานดีไซน์ในลักษณะที่เป็น Conceptual Furniture ตอนนั้นเอาตัวเด่นๆ ไป 3 ตัว คือ Pencil Chair (เก้าอี้ที่มีโครงสร้างจากวัสดุที่มีรูปทรงของดินสอ ดูเหมือนจะหักง่าย แต่จริงๆ แล้วมันแข็งแรงมาก) Bamboo Chair  (เก้าอี้รูปทรงกระบอกแต่โค้งงอได้ ตอบโจทย์ว่างานไม้ไผ่ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างตรงๆ และแข็งทื่อ เพราะไม้ไผ่มันมีความโอนอ่อนตามธรรมชาติ) และ Dog Chair (เก้าอี้ที่โครงสร้างจากโซ่ถัก ซึ่งเป็นเทคนิคผลิตในงานเครื่องประดับ สะท้อนความสวยงามแต่แข็งแรง นั่งได้จริง) ส่วนครั้งที่สองคือปีที่แล้วค่ะ 2017 เป็นช่วงครบรอบ 20 ปี เขาเลยเชิญให้เราเอาผลงานบางชิ้นไปแสดงอีกครั้งค่ะ

Trimode เป็นการรวมตัวกันของ 3 พาร์ทเนอร์ คือ คุณชินภานุ อภิชาตธนบดี  คุณภิรดา-คุณภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสาขาที่แตกต่างกัน คือ Product Design, Interior Design, Jewelry Design “เราพยายามใช้ความแตกต่างสร้างจุดเด่นและหลอมรวมเพื่อหาสร้างสมดุลของความต่างให้ลงตัวค่ะ งานที่ Trimode แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ งานด้าน Design Service ประกอบด้วย Interior Design, Furniture Design, Branding, Corporate Identity ภายใต้ชื่อของบริษัท Trimode Studio อีกส่วนจะเป็นงานด้าน Lifestyle & Fashion คือออกแบบเครื่องประดับและงานศิลปหัตถกรรมซึ่งเราลงไปทำงานร่วมกับชุมชนค่อนเยอะ โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ภายในชื่อบริษัท Trimode Design และบางส่วนนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Trimode.C ค่ะ”

ข้อดีของการทำงานร่วมกัน (ของคนที่ถนัดคนละสาขา) คือมันจะทำให้เกิดมุมมองใหม่ค่ะ อย่างเทคนิคในการทำเครื่องประดับ มันก็สามารถมาประยุกต์เป็นรายละเอียดในงานตกแต่งของอินทีเรียร์หรือในงานเฟอร์นิเจอร์ได้ เช่น การถักสร้อย เราก็นำมาทำในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ใส่เทคนิคผลิตเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานมันก็กลายเป็นเก้าอี้ได้ หรืออย่างการทำสม็อคกระเป๋าเราก็เอามาขยายสเกลและต่อยอดเรื่องลวดลายให้มีความหลากหลาย ก็สามารถเอาไปทำเป็นผนังตกแต่งโถงลิฟท์โรงแรมได้ หรือเทคนิคงานหัตกรรมอย่างการเคาะดุนลายอลูมิเนียม ที่ปกติเราจะเห็นอยู่ตามงานวัด พอเราไปเห็นชาวบ้านทำแล้วเรารู้สึกว่าเขาเก่งจังเลย เราก็เอามาพัฒนาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ ประเด็นหลักคือ เราอยากให้งานคราฟท์อย่างนี้มันยั่งยืนและสามารถคงอยู่กับไลฟ์สไตล์ปัจจุบันได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะต้องจำกัดให้อยู่ในโอท็อปเท่านั้น คืออยากจะเอาองค์ความรู้นี้ไปให้ลูกหลานสืบทอด  และเราก็คิดว่างานดีไซน์จะสามารถเข้ามาช่วยให้สิ่งเหล่านี้กลับเข้ามาในชีวิต ประจำวันเราได้ เราจึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคนิคงานคราฟท์  แล้วปรับลวดลาย หาลูกเล่นใหม่ๆ ใส่เข้าไปให้มันมีความร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งเทคนิคต่างๆ นั้นก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทั้งงานออกแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องประดับ และงานตกแต่งภายในค่ะ

นอกจากนี้ แนวทางในการทำงานของ Trimode คือเน้นการทดลองทางความคิดหรือการมองวัสดุในแง่มุมที่ต่างออกไป คือเราไม่ได้ใช้ข้อจำกัดเดิมๆ ของวัสดุมาเป็นกรอบในการออกแบบค่ะ  เช่น พื้นฐานของวัสดุในงานออกแบบต่างๆ เขาจะกำหนดหน้าที่ใช้งานมากก่อนว่า วัสดุนี้ใช้ทำพื้น ผนัง เพดาน แต่เราพยายามจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งจริงๆ แล้วมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของตัววัสดุเองด้วย เพราะฟังก์ชั่นอะไรบางอย่างมันทดแทนกันได้ เช่น คิ้วอลูมิเนียมที่ทุกคนมองว่ามันเป็นตัวจบงาน แต่เราไปเห็นโปรไฟล์ของมันน่าสนใจ ก็เกิดการตั้งคำถามว่ามันจะสามารถนำไปสร้างสรรค์เป็นอย่างอื่นได้ไหม เลยลองเอาไปติดผนังดู มันก็ให้อารมณ์ที่ต่างออกไป

งานของ Trimode ส่วนใหญ่จะเป็นงาน Commercial ประเภท Fashion Retail  คาเฟ่และร้านอาหาร ส่วนที่งานบ้านก็มีบ้างค่ะ ซึ่งในทุกๆ งานออกแบบ เราพยายามให้ดีไซน์เนอร์ในทีมของเราทุกคนเรียนรู้ที่จะ Research and Develop คือให้ทุกคนรู้ตัวไว้เลยว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของการออกแบบ แต่มันต้องมีเรื่องของการสังเกตและทดลองอยู่กับตัวดีไซน์เนอร์ด้วย ซึ่งแก่นของการทดลอง คือ เราต้องลดความเป็นตัวเราลง แล้วใส่ความเป็นลูกค้าเข้าไป ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความโดนใจตลาด เวลาเราออกแบบร้านให้ลูกค้า เราจะบอกเขาว่าเราไม่ได้ทำร้านให้เขานะ แต่เราทำร้านนี้เพื่อให้โดนลูกค้าของเขา เพราะถ้าเขาใส่ความเป็นตัวเองหรือความเป็นเจ้าของร้านลงไป กลุ่มเป้าหมายมันจะเปลี่ยน ทิศทางในงานออกแบบจะเปลี่ยน และมันอาจจะได้ผลไม่ตรงกับเป้าที่วางไว้  และเมื่อดีไซน์เนอร์ทุกคนได้ลงมือศึกษา ค้นคว้า และทดลองจนเกิดองค์ความรู้ (ที่แตกต่างกัน) พอมาแชร์กันแล้วมันจะเกิดเป็น Solution เป็น System หรือเป็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจค่ะ           

  • สำหรับงานดีไซน์เชิงพาณิชย์ หยกอยากเสริมเรื่อง “ความสมดุล” เข้าไปด้วย หมายถึง ความสมดุลในแง่ของความต้องการ  ถ้าเราสร้างตาม Demand ของ User นั่นแปลว่าเรากำลังสร้างมิติที่มันไม่ยั่งยืน เราต้องเปลี่ยนความเข้าใจของคนบนโลกทั้งหมดมาในเรื่องความสมดุลว่าจริงๆ แล้วทุกแบรนด์สร้างคุณภาพของตัวเอง โดยไม่ต้องตะโกนผ่านงานดีไซน์สเกลใหญ่ยักษ์ เพื่อสร้างความโดดเด่นและเรียกร้องความสนใจ  ซึ่งมันอาจใช้เวลาทำแรมเดือน แต่ใช้งานแค่ 3 วันทิ้งหรือไม่กี่ชั่วโมงก็ทิ้ง ถ้าเรายังต้องทำอะไรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความสมดุลจะไม่เกิดขึ้น
 
  • ถ้าจะเปิดร้านอาหาร อยากบอกว่าให้กลับไปทำความรู้จักสินค้าของตัวเองก่อน  เพราะยิ่งมีความชัดเจนในข้อมูลเท่าไหร่  กระบวนการออกแบบและการทำงานจะยิ่งมีความราบรื่นขึ้น  เพราะข้อมูลทุกอย่างของธุรกิจมันมีผลเชื่อมโยงกับงานออกแบบ เช่น อาหารจานเท่าไหร่? เพราะบางทีราคาอาหารมันก็จะเป็นตัวบอกว่าจำนวนที่นั่งในร้านควรมีเท่าไหร่ และควรทำการบ้านเรื่อง “หลังบ้าน” มาให้นิ่งมากที่สุด ทั้งเรื่อง Operation, System, Kitchen Equipment ต่างๆ  เพื่อเวลาที่ส่งต่องานให้อินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์ มันจะช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นไปด้วยดี แต่ถ้าข้อมูลบางอย่างไม่ครบถ้วนหรือยังไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำอย่างชัดเจน เมื่อกระบวนการงานออกแบบผ่านไปสักระยะแล้วต้องย้อนหลังมาเพิ่มอะไรบางอย่าง มันจะกระทบต่อสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด เพราะมันส่งผลต่อกันเป็นลูกโซ่ค่ะ

Favorite items

Favorite Corner in SB Design Square

ชอบมุมนี้เพราะดูสงบ และมีความเป็น Exotic นิดๆ มันมีความ Contrast ในงานตกแต่ง คือไม่ได้ดูหรูหราไปหมด แต่ดูมีเรื่องราว

ส่วนตัวเป็นคนชอบการตกแต่งที่เหมือนมิกซ์หลายๆ อย่าง แล้วก็ชอบให้วัสดุพื้นผิวมีหลากหลายผิวสัมผัสค่ะ คือรู้สึกว่าพื้นผิวมันเป็นสิ่งที่ให้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้ดีค่ะ และแอบชอบเรื่องสัดส่วน ขนาด และดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ด้วยมันดูยิ่งใหญ่แต่ลงตัวค่ะ

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex