2018 WEEK 44 : พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล

2018week44
29 ตุลาคม 2018
2018 WEEK 44 : พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล

ABOUT HIM

พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล (วิทย์) :  สัปดาห์นี้พบกับ PHTAA Living Design บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายใน ที่ก่อตั้งโดยหนุ่มสาวนักออกแบบรุ่นใหม่ คือ คุณวิทย์ - พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล คุณพลอย - หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ และคุณโต๋ - ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ บริษัทออกแบบเล็กๆ ที่แม้จะก่อตั้งมาได้เพียง 3 ปี แต่ได้สร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่เต็มไปด้วยความโดดเด่นและน่าสนใจมากมาย เช่น Exhibit Shop ที่ Central Embassy, โชว์รูม Jim Thompson, ร้านตัดสูท Keaton Tailor, คาเฟ่ Birdyard, Pavilion Showcase ในงาน Chiang Mai Design Week 2016 ฯลฯ

เราทำงานค่อนข้างหลากหลายรูปแบบครับ ทั้งบ้าน โรงงาน โรงแรม รีสอร์ท ร้านค้า คาเฟ่ งานนิทรรศการ ไปจนถึงออกแบบอาคาร 8-10 ชั้น คือ สเกลตั้งแต่งานสถาปัตยกรรม ออกแบบตกแต่งภายในและงานออกแบบผลิตภัณฑ์ครับ ที่ PHTAA เราจะมีคนที่เป็น Architect  เป็น Interior Designer  แล้วก็เป็น Product Design ทีนี้เวลาเราคิดงาน ถ้าลองให้คนที่เป็นอินทีเรียร์ไปคิดในสเกลงานสถาปัตย์  หรือให้สถาปนิกไปคิดในสเกลงานออกแบบสินค้า  มันจะเกิดการคิดที่คาบเกี่ยวกันระหว่างวิธีการ  ทำให้ความคิดใหม่ๆ บางอย่างเกิดขึ้น  ตัวอย่างงานชิ้นนึง ผมเอา "บัวเชิงผนังและบัวเชิงพื้น" มาเรียงต่อกันให้มันกลายเป็นเก้าอี้ ซึ่งถ้าเราใช้ “บัว” ในงานอินทีเรียร์มันก็เป็นแค่วัสดุตกแต่ง และถ้าเราเอามาทำเป็นชิ้นงานออกแบบ มันทำให้เราได้เก้าอี้ที่เป็นมากกว่าเก้าอี้ และบัวเชิงที่มันก็เป็นมากกว่าบัว...เพราะคน 3 กลุ่มนี้ มีวิธีการคิดงานที่ต่างกัน  ถ้าสถาปนิกก็จะคิดในสเกลที่ใหญ่ คิดภาพรวม คือไม่ได้มานั่งคิดว่าโคมไฟต้องยี่ห้อไหน รุ่นอะไร  ขนาดเท่าไหร่ แต่ว่าอินทีเรียร์ก็จะมีรายละเอียดในการจบงานทุกๆ อย่าง จบบิลท์อิน จบโต๊ะ จบเก้าอี้ คือพอความคิดมันคาบเกี่ยวกันไปมามันทำให้เกิดเนื้อหาขึ้น

งานออกแบบของเราส่วนใหญ่จะใช้เรื่องของ Art เข้ามาเกี่ยวข้องในหลายๆ รูปแบบครับ เวลาคิดงาน สมมุติเราให้น้องๆ ในทีมคิดอะไรขึ้นมาสักอย่าง หรือเราคิดขึ้นมาแล้วรู้สึกว่ามันยังตะขิดตะขวงใจเล็กๆ ว่ามันจะดีหรือไม่สวย แปลว่ามันค่อนข้างจะมีความหมายในตัวมันเอง เพราะแปลว่าตัวมันเองยังไม่เคยถูกประสบพบเห็น แปลว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะลองพัฒนาความคิดเหล่านั้นต่อยอดไป ส่วนใหญ่เราจะใช้วิธีการอย่างนี้ในการเริ่มต้นคิดงานต่างๆ ครับ คือเราไม่ได้คิดว่าเราต้องดู Reference จากงานสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เวลาที่เราทำงานไม่ว่าจะงานสถาปัตย์หรืองานอินทีเรียร์ เราจะไปดูงานอาร์ตแบบอื่นๆ เช่น อาจจะดูหนัง ดูฟิล์มนัว ดูหนังอาร์ตหรือว่าจะเป็นหนังกระแสหลักอะไรก็ได้ ที่คิดว่ามันมีฉากที่น่าสนใจแล้วก็ดึงจากนั้นมา หรือว่าจะดูงานศิลปะของศิลปินระดับโลกคนอื่นๆ ซึ่งมันจะมีเนื้อหาบางอย่างที่มันถูกสื่อออกมาที่เราสามารถนำมาประมวลความคิดของคนเหล่านั้น แล้วนำมาใช้กับงานออกแบบของเราได้ด้วย

เราไม่ได้ลอกเลียนแบบฉากจากในหนังนะครับ แต่ “เนื้อหาที่ได้จากงานศิลปะ” คือ “วิธีการคิด” เช่น เรามักจะคิดตามว่าเขามีวิธีการคิดยังไงตอนที่เขาสร้างรูปนี้ขึ้นมา หรือว่าในหนังฉากนี้ เป็นฉากที่เดินเข้าไปห้องมืดๆ แบบว่า มีแสงส่องออกมาแล้วก็ไม่อยากให้เห็นหน้าคนชัดมาก ทำไมบรรยากาศถึงเป็นอย่างนั้น แล้วมันจะเหมาะกับฟังก์ชันไหนที่จะเกิดขึ้นในบ้าน มันก็นำมาเป็น Reference ซึ่งกันและกันได้ครับ แล้วเวลาคุยกับลูกค้า เขาก็อาจไม่ต้องเตรียมภาพ Reference อะไรมาคุยกับเรา ส่วนใหญ่เราจะคุยเรื่องอื่นๆ มากว่า ที่ไม่ใช่เรื่องงานออกแบบ พวกภาพ Reference ไม่จำเป็นครับ มันจะจำเป็นก็ต่อเมื่อเราคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว

เวลาที่เราออกแบบบ้าน สิ่งที่เราจะให้ลูกค้าเพิ่มได้ คือ การให้ประสบการณ์ใหม่ๆ กับเขา เพราะว่าบ้านหลังหนึ่ง น่าจะมีหลาย Scene ที่เขาไปเจอเอง คือเราแค่ตระเตรียมบางอย่างไว้ ทุกครั้งที่ผมออกแบบบ้านให้ ผมจะซ่อนอะไรบางอย่างไว้เสมอ ตัวอย่างบ้านสองชั้น เราทำประตูบานนึงซึ่งใหญ่มากสูงถึงชั้นสอง (ชั้นล่างเป็นแพนทรี ชั้นบนตรงกับห้องนอนลูก) สิ่งที่เราซ่อนไว้ให้ลูกค้า คือ เวลาพ่อแม่ตื่นลงมากินกาแฟที่ห้องแพนทรี พอเขาเปิดประตูบานนี้ มันจะเป็นการให้สัญญาณกับลูกที่อยู่ข้างบนว่าพ่อแม่ตื่นแล้วนะ คือไม่ต้องตะโกนเรียกแต่ลูกจะรู้เอง

ผมมองว่าการที่ลูกค้ามีบ้านหลังนึง แล้วอายุเขาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาต้องอยู่บ้านหลังเดิม ทีนี้มันน่าจะดีถ้าบ้านจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ Space ในแบบที่ไม่ได้ยากเย็น ที่ไม่ใช่การขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ออก แต่เป็นแค่การปรับพื้นที่ที่เขาทำได้เอง เช่น อาจจะทำพาร์ทิชั่นหรืออะไรสักอย่างที่มันสามารถเปิดแล้วเชื่อมพื้นที่ให้ต่อหากันได้ มันก็จะช่วยเอื้อให้กับกิจกรรมทั้งหมดของคนในบ้าน

 เวลาออกแบบบ้าน เราต้องคิดถึงทุกความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นกับการใช้พื้นที่ของลูกค้า เช่น สมมุติในบ้าน เวลาทะเลาะกัน งอนกันนิดนึง แต่ไม่อยากออกจากบ้าน เราควรจะมีมุมไหนสักมุมเพื่อให้เขาใจเย็นลง แล้วมาเจอกันอีกที มันจะมีพาร์ทิชันแบบไหนที่มันเปิด-ปิดแล้วให้ความรู้สึกว่า เป็นส่วนตัวขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตัดขาดจากกัน ยังมองเห็นกันอยู่...คือผมว่ามันต้องมีอะไรอย่างนั้น มันเหมือนเป็น Gimmick เล็กๆ ที่ซ่อนไว้เราไม่ได้บอกเค้า แต่เราค่อยเฉลยทีหลังรอเขาถาม เพราะว่าเขาไปเจอเองมันดีกว่า มันเซอร์ไพร์สดีครับ

ในงานออกแบบ ผมให้ความสำคัญกับช่วง “การคิดและการสร้างรายละเอียด” เพราะว่ารายละเอียดจะเป็นตัวกำหนดว่างานเราจะสวยหรือไม่สวย คืองานมันไม่ได้จบแค่ขายลูกค้าผ่าน พอเราขายเสร็จสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบต่อก็คือการเคลียร์รายละเอียดให้มันได้อย่างที่เราขายไป ซึ่งอันนี้ยากกว่าอีก อีกส่วนที่สำคัญ คือ การ Research  ซึ่งเป็นช่วงแรกสุดเลย ผมจะบวกเพิ่มอีกหนึ่งเดือนจากตารางเวลาปกติ เพื่อการ Research หรืออะไรก็ได้ที่ผมอยากทำ (หมายถึง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผมกำลังจะสร้างขึ้นมาใหม่ให้ลูกค้า) สิ่งที่ผมจะสร้างขึ้นใหม่ให้เขา มันก็จะมีผลกับตัวเขาในอนาคตด้วย ยิ่งถ้าเป็นงาน Commercial Space สิ่งที่ผม Research ให้นั้น มันอาจจะทำให้มูลค่าการขายหรือมูลค่าของร้านในแง่ Visual หรือแง่การใช้งานมันเพิ่มมูลค่าได้ การใช้เวลากับการ Research ค่อนข้างมาก มันจะทำให้เราได้ไตร่ตรองอะไรได้อย่างดี ไม่ใช่แค่คิดคร่าวๆ ดู Reference แล้วซัดเลย แบบนั้นมันค่อนข้างธรรมดาเกินไป ผมคิดว่าถ้าคนที่มาหาผม ผมคาดหวังว่าอยากให้เขาได้ของที่แพง...ไม่ได้แพงที่วัสดุ “แต่แพงด้วยความคิด” คือ คนที่ให้มูลค่ากับความคิด สุดท้ายงานดีไซน์ที่มันเกิดขึ้นมันจะสวยเองโดยที่เราไม่ได้พยายามทำให้สวย แต่มันคือ Nature ของเรา

  • ถ้ามีพื้นที่แบบ Open Plan มันก็ขึ้นอยู่กับคุณเลยว่า จะวางโต๊ะทานข้าวหรือโซฟามาก่อน ต้องการเข้าถึงจุดไหนก่อนและหลัง ถ้าเป็นห้องที่เพดานสูงก็ควรจัดพื้นที่ให้มีเฟอร์นิเจอร์เป็นพื้นหลังบ้างเพื่อดักสายตา ไม่ให้ Space มันดูสูงจนเกินไป และอาจกั้นแบ่งพื้นที่ด้วยพาร์ทิชั่นบางอย่างที่ไม่ใช่แบบถาวร คือเป็นแบบฉากที่เอาไว้ตกแต่ง สูงขึ้นมานิดนึง เพื่อกั้น Space เบาๆ
 
  • วิธีทำให้พื้นที่จำกัดดูโปร่งโล่งและรู้สึกสบาย ผมใช้วิธีการเก็บทุกอย่างเข้าในผนัง พยายามเก็บทุกอย่างที่มันเป็นส่วนของเฟอร์นิเจอร์ คือ ทุกอย่างมันต้องมีความหมายหมด สมมุติว่าเราเดินเข้าไป ตอนนี้ผนังโล่งอยู่ เราก็บิลท์อินขึ้นมา หรืออาจจะทำเป็นโต๊ะแบบพับขึ้นมาได้ เอาไว้ทานข้าวหรือทำงานเพิ่มได้สำหรับลูก มันทำให้พื้นที่ตรงนั้นมันปรับเปลี่ยนได้ยืดหยุ่นได้ หรือดีไซน์ฐานเตียงให้สูงขึ้นเพื่อเก็บของ คือใช้ทุกส่วนให้เป็นประโยชน์ ใช้ทุกส่วนที่ไม่คิดว่ามันจะใช้เป็นที่เก็บของได้  
 
  • เติม Gimmick ให้บ้านจัดสรร ผมว่าน่าจะทำได้ง่ายๆ ด้วยการใส่ Lounge Chair หรือเก้าอี้เอนหลังได้เข้าไป มันจะน่านั่ง จับมันกระจายไปตามจุดที่ไม่มีคนไปใช้งาน ผมว่ามันจะมีคนไปใช้ มันจะดึงให้คนเข้าไปทำอะไรสักอย่างตรงนั้นได้ เราใช้เซ็ตที่นั่งนี่แหละในการกำหนดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของบ้านได้

Favorite items

Favorite Corners in SB Design Square

ชอบมุมนี้เพราะผมชอบอะไรที่มันใหญ่ๆ หนึ่งชิ้น แล้วก็มีของตกแต่งทิ้งไว้ชิ้นเดียว อย่างโคมไฟอันนี้ก็พอแล้ว ตู้ก็สวยดี ก็เลยชอบมุมนี้ ชอบที่ทุกอย่างดูชิ้นใหญ่แล้วจบ

ชอบมุมนี้เพราะ ชอบองค์ประกอบที่มันอยู่ตรงนี้ มันดูชนเผ่าดีแล้วดูเป็นชนเผ่าที่ถูกทำให้ดูทันสมัยขึ้นมานิดนึง ให้มันไม่ดูชนเผ่าเกินไปครับ

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex