2018 Week43 : ภควดี พะหุโล

2018week43
22 ตุลาคม 2018
2018 Week43 : ภควดี พะหุโล

ABOUT HER

ศิริทิพย์ หาญทวีวงศา (เงา) : สัปดาห์นี้มาทำความรู้จักสถาปนิกสาวคนเก่ง Executive Director จากบริษัท GreenDwell และยังเป็น LEED AP (Leadership in Energy & Environmental Design) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารสีเขียว ซึ่งได้รับใบประกาศนียบัตรจาก USGBC (The U.S. Green Building Council) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศสหรัฐอเมริกา หน่วยงานที่พัฒนาแบบประเมินอาคาร (LEED) ที่มีมาตรฐานและเป็นที่นิยมที่สุดสำหรับอาคารสีเขียวในระดับโลก

“เมื่อก่อนคำว่า Green คนจะไปลิงค์กับเรื่องพลังงานซะเยอะค่ะ ว่าต้องเป็นบ้านหรืออาคารประหยัดพลังงาน แต่ก็อาจจะไม่ได้นึกถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากนัก ส่วนตอนนี้เรามักจะได้ยินคำว่า Green มากับเรื่องของวัสดุ เช่น ใช้ของรีไซเคิลหรือเปล่า?  เป็นของท้องถิ่นไหม?  (มันจะได้เดินทางขนส่งน้อยๆ ใช้พลังงานน้อย ปล่อยควันพิษน้อย) สำหรับการทำงานของ GreenDwell เรามองเป็น 2 สองส่วนหลักๆ ค่ะ ส่วนแรกคือ เรื่องของผลกระทบของงานเราต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะรวมทั้งเรื่องของพลังงาน วัสดุ  แล้วก็เรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องการประหยัดน้ำ หรือการวางผังบริเวณให้รบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยซึ่งจริงๆ แล้วเวลาเรามองเรื่องพวกนี้  เราจะมองเป็นคำว่า Life Cycle มากกว่า คือมองทั้งวงจรของมันเลย อย่างถ้าเป็นเรื่องของวัสดุ  ก็ดูว่าเราจะลดการใช้ของใหม่ก่อน หรือหาทางทดแทนยังไงได้บ้าง  เช่น  ถ้าเราจะใช้ไม้  มีวัสดุทดแทนไม้ได้ไหม?  หรือจะไปเอามาจากของอื่น อย่างเอาบานประตูเก่ามาแปรรูป  หรือถ้าลูกค้าอยากใช้ไม้จริงๆ สามารถหาต้นไม้ที่มีการปลูกทดแทนได้หรือเปล่า คือไปลดตั้งแต่ต้นน้ำคือ ลดการขุดเจาะวัสดุนั้น ลดกระบวนการผลิต ลดการปล่อยก๊าซพิษซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างการผลิตและขนส่งวัสดุจนมาถึงมือผู้ใช้ มันเหมือน Optimum Use of Resources ในวงจรของวัสดุค่ะ หัวข้ออื่นๆ เราก็สามารถใช้วิธีคิดคล้ายๆ กันค่ะ”

ส่วนที่สองคือเรื่อง Well Being ของคนที่อยู่ในบ้านหรืออาคาร หรือทางศัพท์เทคนิคจะเรียกว่า IEQ ( Indoor Environmental Quality) ซึ่งมันก็เป็นปรัชญาหลักในการทำงานออกแบบของเราด้วย เวลาเรามองงานอินทีเรียร์หรือมองตึก มันไม่ใช่คำว่าว้าว ! ในครั้งแรกที่ไปยืนดูแล้วถ่ายรูปได้มุมสวยๆ หรืออะไร แต่เรามองว่าเมื่อลูกค้าเข้าไปอยู่ใน Space ข้างในตึกนั้น แล้ว  เขาอยู่ได้จริง อยู่สบาย  นั่นคือสิ่งที่ควรเป็นค่ะ... บางทีถ่ายรูปไปลงแล้วมันอาจจะสวยมาก ดูดีจัง แต่ถ้าเกิดถ่ายในเวลาที่ไม่มีแดด  แต่พอแดดส่องแล้วห้องนี้โดนแดดเต็มๆ อยู่ไม่ได้เลย ร้อนมาก อย่างนี้เรามองว่าก็ไม่เวิร์คค่ะ  เราไม่ได้อยู่ในบ้านแค่แป๊บๆเหมือนถ่ายรูป แต่เราใช้เวลาอยู่ภายในทำกิจกรรมต่างๆ  เพราะอย่างนี้ สิ่งที่สำคัญมากสำหรับเรา คือ ออกแบบมาแล้วต้องอยู่สบาย ซึ่งคำว่าอยู่สบายเป็นแนวคิดที่ลูกค้าซื้อ ส่วนเรื่องความงามแต่ละคนอาจจะมองต่างกันไป  ส่วนเรื่องอยู่สบายมันเป็น Universal มากกว่า มันจับต้องได้ ฉะนั้นโปรเจคที่เราทำมันจะเป็นงานที่ “มากกว่าอยู่” แต่คือ “อาศัย” มันมี Sense of Living คืออยู่เย็นเป็นสุขค่ะ ถ้าเขาอยู่อย่างมีความสุขนั่นคือเราแฮปปี้แล้ว”

หลักการออกแบบเรื่อง Green มันจะมีเรื่องของ Reduce, Passive, Active ค่ะ…Reduce คือ เราลดก่อน ลดความต้องการ หรือพยายามทำให้มันอยู่ในจุดที่เหมาะสมยังไงได้บ้าง เอาจริงๆ ถ้าจะไม่ส่งผลกระทบเลย คือ ไม่ต้องสร้างอะไรใหม่เลยแต่ความเป็นจริงคือมนุษย์เรายังมีความต้องการซึ่งเราก็เข้าใจ  และมองว่าเราควรพยายามส่งผลกระทบให้น้อย  ดังนั้นก่อนจะไปถึงเรื่องดีไซน์  เราสามารถเริ่มต้นได้จาก “การกำหนดพื้นที่ใช้สอย” ค่ะ คือ เราต้องมานั่งคุยแล้วว่าความต้องการของคุณจริงๆ คืออะไร? บ้านที่ต้องใหญ่ขนาดนั้นมันจำเป็นหรือเปล่า? ถ้าคุณต้องการจะมีห้องโฮมเธียเตอร์ ห้องอเนกประสงค์ ห้องปาร์ตี้หรือมีห้องอะไร แล้วปีนึงใช้แค่ครั้ง สองครั้ง ถามว่ามันคุ้มไหมที่จะเสียพื้นที่เท่านั้น ? มันไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณของลูกค้า แต่มันเป็นเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก “การมีพื้นที่ใช้สอยเยอะโดยไม่จำเป็น”

คือบริษัทเรามองว่าการสร้างให้มันพอดีๆ คือให้โปรแกรมมันพอดีกับสิ่งที่ Owner ต้องการ สุดท้ายเขาอยู่แล้วเขามีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และควรส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมต่ำด้วยค่ะ ซึ่งผลกระทบที่เราใส่ใจและคำนึงถึงนั้น มันก็เริ่มตั้งแต่การขุดดินเพื่อจะพลิกหน้าดินมาสร้างบ้าน  มันอาจมีสิ่งมีชีวิตอะไรที่ได้รับผลกระทบแล้ว  ฉะนั้น แค่เรากำหนดหรือจำกัด Footprint ของตึกให้มันพอเหมาะพอควร มันก็ช่วยได้ส่วนนึงแล้วค่ะ

Passive สาหรับการออกแบบบ้าน มันจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Climate Responsive Design คือ เราต้องออกแบบให้ตอบรับกับสภาพภูมิอากาศแล้วก็บริบท อย่างเรื่อง “พลังงาน” เราก็เลือกใช้สิ่งที่มันสามารถเติมได้จากธรรมชาติ เช่น ลมและแสงธรรมชาติ แค่นั้นมันก็ทำให้งานออกแบบของเราลดผลกระทบแล้ว เพราะการใช้แสงธรรมชาติเราก็ลดการเปิดไฟ ลดการใช้ไฟฟ้า มันเป็นการไปปรับที่ต้นน้ำของการผลิตไฟฟ้าเลย ซึ่งมันก็ช่วยลดได้ในภาพรวมค่ะ พวกนี้มันเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด บางทีเราพูดแค่เรื่องประหยัดพลังงานแต่มันก็ต้องมองไปถึงต้นน้ำด้วยเหมือนกัน

Active เรามาว่ากันต่อเรื่องของระบบที่มันใช้พลังงานค่ะ เช่น ใช้แอร์ประหยัดพลังงาน คือถ้ามันเริ่มจากการลด (Reduce) การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ (Passive) ก่อน ตัวพวกนี้มันจะค่อยๆ มาทีหลัง คุณจะใช้แอร์ประหยัดพลังงานไหม?  ใช้หลอด LED ไหม? ก็ตอบว่า ถ้าคุณทำพื้นที่ห้องให้มันมีแสงธรรมชาติเข้ามาได้เยอะ บางทีถ้าคุณใช้หลอด T5 ทั้งปี อาจจะใช้ปริมาณไฟฟ้าเท่ากับที่คุณใช้หลอด LED ในห้องที่ไม่ค่อยมีแสงเข้ามาก็ได้  

เรามองว่ากระบวนการทำงานออกแบบก็สำคัญมากค่ะ ของเราเรียกว่า G.R.I.D (Green Research-Integrated Design) คือ เรามองว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมมันเป็นความสนุกที่เราไม่ได้ใช้แค่ศิลป์อย่างเดียว แต่มันเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย เราจะมีการวิจัยและวิเคราะห์ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มากระทบ แล้วใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย คือ เวลาออกแบบ เราไม่สามารถแยกตึกของเราออกมาเดี่ยวๆ ได้ เพราะมันถูกแวดล้อมไปด้วยบริบทมากมาย ปกติเราจะวิเคราะห์และจำลองพื้นที่ที่จะสร้างบ้านในโปรแกรม Simulation เช่น เราอยากจะรู้ว่าพื้นที่ที่จะวางบ้าน จะมีลมเข้ามาจากทางไหน โดนแดดตรงไหน หรือตรงไหนร่มที่สุด  พอเราเอาเรื่องนี้มารวมกับปัจจัยออกแบบอื่นๆ เช่น ความต้องการและงบประมาณของลูกค้า เราจะเริ่มเห็นแล้วว่าอะไรควรจะวางอยู่ตรงไหน  พอเราเริ่มออกแบบละเอียดขึ้นๆ เราก็จะเช็คงานของเราด้วยวิธีนี้ไปเรื่อยเหมือนกัน  เราเชื่อว่าถ้ากระบวนการตรงนี้มันแตกต่าง ผลลัพธ์มันก็จะแตกต่างด้วยค่ะ

เรื่อง “ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม” เรามองว่ามันเป็น “ความรับผิดชอบของสถาปนิกและดีไซน์เนอร์” เต็มๆ เลยค่ะ คือ คำว่า Green ไม่ใช่เป็นแค่คอนเซ็ปต์ แต่มันเป็นข้อกำหนดวิธีการทำงานของเรา...เวลาเราพรีเซ็นต์งานด้วยคอมพิวเตอร์เดี๋ยวนี้ Render ได้ภาพสวยๆ ห้องดูน่าอยู่มาก แต่ของจริงมันอาจไม่ใช่อย่างนี้นะ เพราะแดดอาจเข้าตรงนี้เต็มๆ เลย แปลว่าคุณไม่ได้นำเสนอในสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง  เรามองว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ลูกค้าควรจะได้รู้ คือมันไม่ใช่ 3D Photoshop เหมือนกับว่า ตรงนี้ดูมืดจังเลย เราไปเติมแสงนิดนึงละกันให้ภาพมันสวย  แต่ของจริงอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น  เราเลยอยากทำให้ลูกค้าเข้าใจ space ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่จะเป็น ทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบได้แล้ว ก็เลยจะให้ลูกค้าเห็นผล Simulation ของเราด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราพบว่ามันก็น่าพอใจในระดับนึง คือมันคาดการณ์ได้ค่อนข้างโอเคเลยค่ะ

GreenDwell เรามองว่า หน้าที่ของการเป็นสถาปนิกใช่แค่การออกแบบตึกให้สวย แต่มันคือการออกแบบ Space ภายในด้วย เพราะลูกค้าไม่ได้ยืนดูบ้านจากข้างนอกแล้วมาชื่นชมว่ามันสวย แต่เขาต้องเข้าไปอยู่ข้างใน ถ้าเขานั่งแล้วร้อน อึดอัด เราก็รู้สึกว่าความรับผิดชอบตรงนั้น มันตกไปแล้วล่ะ  มีคำที่เราชอบมากดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นเขาพูดไว้ว่า ในการออกแบบมันไม่ใช่ว่าคุณออกแบบถ้วยชาให้สวย แต่เราจะคาดหวังว่า เวลาที่คนเขากินชาแล้วเขาจะ Enjoy กับชานั้นมากกว่า  ฉะนั้นต่อให้ออกแบบให้ภายนอกสวยแค่ไหน แต่ถ้าข้างในมันอยู่ไม่สบาย เขาก็คงไม่ได้รู้สึกดีกับถ้วยชาของคุณซักเท่าไหร่

  • ปลูกเรือนก็ต้องตามใจผู้อยู่ แต่เราก็อยากนำเสนอทางเลือกว่า ไม่ต้องใช้หินจริงได้ไหม เดี๋ยวนี้กระเบื้องก็มีหลายแบบหรืออย่างไม้เราพยายามไม่ใช้ไม้จริง  ถ้าทำได้คือถ้าจะเลือกใช้ไม้จริงจากป่าปลูกมันก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ว่ามันก็อาจจะยังน้อยและหายากหน่อย หรือว่า Reuse ที่ ไปเอาอันอื่นมาทา อันนี้ก็ต้องใช้เวลาไปหา เราก็พยายามเสนอทางเลือกอย่างอื่น เช่น วัสดุทดแทนไม้หรือหิน  ซึ่งจริงๆ ราคาอาจถูกกว่าด้วย เราพยายามจะลดเรื่อง Material Extraction คือการไปขุดเจาะอะไรให้มันน้อยลง แต่บางทีลูกค้าอาจจะเลือกเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากอิตาลีที่มันบินมาก็ได้นะ คือเราเข้าใจอยู่แล้ว เพราะสุดท้ายแล้วเขาคือคนที่จะอยู่จริงๆ 
 
  • ทาวน์โฮมมักมีปัญหาเรื่องแสงธรรมชาติ เพราะเป็นลักษณะที่อยู่อาศัยที่มีแปลนลึก ตำแหน่งบ้านของบางหลังอาจจะแก้ยากหน่อย สิ่งที่พอจะทำได้ก็เช่นตัวประตูบริเวณบันได  อาจเปลี่ยนวัสดุเป็นกระจกหรือกระจกฝ้าก็ยังดี  คือพอเป็นกระจกมันจะรู้สึกโล่ง มีความเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น รู้สึกว่าบ้านดูใหญ่และน่าอยู่ขึ้น เพราะได้แสงจากสองข้างเลย
 
  • เลือกต้นไม้มาช่วยบังแดด ถ้ามีบางห้องที่โดนแดดเยอะอาจจะลองเลือกต้นไม้ที่มีรูปทรงเหมาะกับการบังแดดในแต่ละทิศมาช่วย เพราะบ้านเป็นอาคารที่ไม่ได้สูงมาก เราใช้ต้นไม้มาช่วยก็อาจจะทำให้อยู่สบายขึ้นได้ อย่างทิศใต้ ควรเลือกต้นไม้ที่มีลำต้นสูงเพื่อให้ลมเข้ามาได้แต่มีทรงพุ่มแผ่กว้างเพื่อบังแดด หรือทิศตะวันตกก็เลือกไม้พุ่มหนาหน่อยจะได้บังแดดมุมต่ำๆ ได้

 

 
 
 
 

Favorite items

Favorite Corners in SB Design Square

ชอบมุมนี้ เพราะมันเหมือนเป็นส่วนเติมเต็มกันและกันค่ะ คือมีทั้งส่วนที่เป็นโต๊ะทานข้าว และพื้นที่จัดโชว์ของใช้ คือพอตรงนี้ เป็นพื้นที่ขายเฟอร์นิเจอร์แล้วมี  Accessory ประมากอบด้วย มันก็จะทำให้ Owner เขาเห็นภาพได้ง่ายขึ้นอย่างเช่นถ้ามีโต๊ะทานข้าวแบบนี้แล้ว น่าจะหยิบจับของใช้อะไรมาตกแต่งเพิ่มเติมได้บ้าง

ชอบมุมนี้เพราะรู้สึกว่ามันดูเรียบดีค่ะ แต่ก็มีของตกแต่งบนโต๊ะที่มันเกี่ยวข้องกับเทศกาลด้วยมันน่ารักดี คือเวลามาเดินร้านเฟอร์นิเจอร์แล้วมีการตกแต่งที่เปลี่ยนไปตามแต่ละเทศกาลมันก็รู้สึกสดชื่นดีค่ะ

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex