ABOUT HER
ณัฐฐารัตน์ เทียนขาว (โบบิ) : Apostrophy’s Group คือบริษัทที่มีผลงานออกแบบสุดสร้างสรรค์ ผู้อยู่เบื้องหลังงาน Event Exhibition เจ๋งๆ ในเมืองไทย มากมายนับพันโปรเจค โดดเด่นทั้งในด้านงานออกแบบและการใช้ Interactive Media มาสร้างประสบการณ์พิเศษแก่ผู้คนที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีบริษัทในเครืออย่าง Synonym เอาไว้ดูแลโปรเจคที่เกี่ยวกับงานออกแบบตกแต่งภายในโดยเฉพาะอีกด้วย สัปดาห์นี้มาพูดคุยกับ Managing Director & Partner จาก Synonym
“จริงๆ เราทำงานด้านออกแบบตกแต่งภายในมาเกือบสิบปีแล้วค่ะ แต่ทำในนามของ Apostrophy ซึ่งพอมีงานออกแบบตกแต่งภายในเข้ามาเยอะขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อป้องกันลูกค้างงว่าบริษัทเราทำอะไรกันแน่ เพราะทำเยอะเหลือเกิน (ยิ้ม) เลยแยกออกมาเป็นอีกบริษัท ให้มีความชัดเจนในการทำงานค่ะ”
โบว์มองว่าทั้งสถาปนิกและอินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์ คือ นักแก้ปัญหาทั้งหมด ช่วยทำให้ลูกค้าอยู่สบายมากขึ้น ไม่ต้องเจอปัญหาจุกจิก โบว์สนุกกับการแก้ปัญหาค่ะ ถ้าไม่สนุกก็คงไม่น่ามาทำงานอินทีเรียร์ เพราะมันเป็นงานที่มีปัญหาเยอะมากกก (หัวเราะ)...อินทีเรียร์และสถาปนิก คือ หมอบ้าน คือปกติถ้าลูกค้าป่วยเขาก็ต้องไปหาหมอ อันนี้บ้านป่วย ก็ต้องมาหาเรา เพราะเราสามารถดูแลให้ได้ทุกอย่าง
แนวทางในการออกแบบของเรา คือ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นดีไซน์เนอร์อยู่คนเดียวค่ะ แต่เราต้องการให้คนอื่นเป็นดีไซน์เนอร์ด้วย คือเราจะเป็นคนที่คอยจัดสรรและแก้ปัญหา แต่คนที่จะมีส่วนในพื้นที่นั้นๆ ต้องมีส่วนร่วมกับงานออกแบบของเราด้วยค่ะ เราอาจจะมีความรู้ในแง่ของงานออกแบบตกแต่ง แต่ลูกค้าก็มีความรู้ในแง่ของการใช้ชีวิตของเขา ซึ่งทุกคนมีการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน บางท่านต้องการความเป็นระเบียบมากๆ บางท่านก็รักความสะอาดมากๆ ดังนั้นในงานออกแบบมันก็ต้องมีหลายๆ ส่วนของลูกค้าเข้ามาให้เราหยิบจับไปลงในส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้าน แค่ได้รู้ว่าลูกค้าที่ได้งานไปเขารู้สึกแฮปปี้กับสิ่งที่เขาได้ใช้จริงๆ แค่นั้นเราก็รู้สึกแฮปปี้แล้วค่ะ
งานออกแบบตกแต่งของ Synonym หลักๆ จะเป็นสไตล์ Luxury ค่ะ ซึ่งปกติถ้าพูดถึงสไตล์หรูหรา หลายคนอาจจะนึกว่าต้องเป็นบ้านที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ใช่ไหมคะ เราก็เลยพยายามหา Solution ในงานออกแบบ โดยทดลองทำกับบ้านของคุณเบียร์ พันธวิศ ลวเรืองโชค CEO แห่ง Apostophy’s Group คือเอา Town Home ที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 260 ตร.ม. มาแต่งในสไตล์ Luxury จนบ้านหลังนี้หรือที่รู้จักกันในชื่อของ CASA LAWA ได้ติด 1 ใน 49 บ้านหรูของโลก ในหนังสือ KALEIDOSCOPE ของสำนักพิมพ์ระดับโลกอย่าง Gestalten ค่ะ คือเราจะไม่ไปทดลองทำงานกับพื้นที่ของลูกค้า แต่มาทดลองทำในพื้นที่ของเรา เพื่อให้ลูกค้าเห็นเป็นตัวอย่างเลยว่ามันทำได้จริงค่ะ
นอกจากนี้ เราจะเน้นการสร้าง Space ที่สร้าง Experience ให้ลูกค้าค่ะ คือเราพยายามช่วยคิดและนำเสนอว่าพื้นที่ที่เขามีนั้น สามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง เช่น บางบ้านที่มี Terrace ด้านนอก ซึ่งหลายคนมองว่ามันร้อน ไม่อยากจะไปตกแต่งหรือทำอะไรกับมัน แต่เราจะนำเสนอว่าถ้าเราทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นสวนหรือชิงช้า ก็จะทำให้คุณออกไปใช้งานพื้นที่ตรงนี้ได้นะ หรืออย่างบ้านหลังหนึ่งอยากทำห้องเก็บของที่ชั้นบน แต่ว่าบันไดหลักอยู่อีกทางนึง เราก็ไปขอให้สถาปนิกทำบันไดวนเพื่อเชื่อมต่อชั้นบนกับชั้นล่าง ให้ใช้งานได้สะดวกกว่าการที่จะต้องไปเดินอ้อม คือ เราจะช่วยดูเรื่องการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตด้วยค่ะ
- ชอบสไตล์ Luxury แต่บ้านมีพื้นที่ไม่เยอะ เช่น ทาวน์โฮม แนะนำว่าสเกลของเฟอร์นิเจอร์อาจจะต้องลดลงซัก 3-5 ซม. มันจะช่วยได้เยอะ แล้วเพิ่มกระจกเงาที่ผนังเพื่อทำให้ห้องดูกว้าง และไม่ควรใช้เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ตันๆ แต่ควรเลือกแบบที่มีโครงขาบางๆ เพื่อให้ห้องดูไม่แคบเกินไป
- ฮวงจุ้ยกับงานออกแบบตกแต่ง สิ่งสำคัญที่อยากบอกคือ คุณควรพาซินแสเข้ามาก่อนที่อินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์จะเข้า ถ้าซินแสต้องการแบบไหน เราจะเป็นคนแก้ปัญหาให้เขาเอง ไม่ควรพาซินแสเข้ามาหลังจากงานอินทีเรียร์เสร็จแล้ว เพราะมันจะะแก้ไม่ได้ อาจทำให้คุณเสียเงินเปล่าไปกับสิ่งที่ทำไปแล้วและต้องรื้อทีหลัง
- พื้นที่สำคัญในบ้าน คือ “พื้นที่เก็บของ” ค่ะ ควรทำไว้ให้มากที่สุดดีกว่าค่ะ เพราะถ้าเป็นบ้านที่เราใช้จริงอยู่จริงเราทุกคนจะมีของที่ถูกซื้อเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ และเราไม่รู้ว่ามันต้องไปอยู่ตรงไหน เก็บยังไง ดังนั้นถ้ามีพื้นที่เก็บของที่เพียงพอก็จะทำให้บ้านเราเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้นค่ะ
- แสงไฟในบ้าน อาจจะต้องเป็นแบบ Dim ได้ เผื่อบางทีเราอาจต้องการความสว่างแต่บางทีเราก็อยากจะหรี่ลงนิดนึง การมีไฟที่สามารถปรับความสว่างของแสงได้ มันจะช่วยเรื่องอารมณ์หรือบรรยากาศของห้องได้ค่อนข้างเยอะค่ะ
- การต่อเติมบ้าน แนะนำว่าอย่าเอาโครงสร้างใหม่ไปติดกับโครงสร้างเดิม โครงสร้างใหม่และเก่าควรแยกจากกันเพราะว่ามันสร้างคนละระยะเวลา เสาเข็มอาจไม่เท่ากัน การเซ็ทตัวและรับน้ำหนักของดินเก่าดินใหม่มันไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรแยกโครงสร้างออกจากกัน การประหยัดงบมากๆ อาจไม่ปลอดภัย เสียเงินเพิ่มอีกนิดเพื่อให้ได้โครงสร้างที่มันโอเคจะดีกว่าค่ะ ไม่งั้นจะเกิดรอยร้าว ทรุด น้ำรั่วตรงรอยต่อเข้าไปอีก
Favorite items
Favorite Corners in SB Design Square
ชอบมุมนี้ เพราะมันเป็นมุมที่นั่งเล่นได้ และก็เป็นมุมถ่ายรูปได้ด้วย โทนสีก็แมตช์กันทั้งสีขาว ดำ เงิน โบมองว่าในหนึ่งห้องควรมีไม่เกิน 3 เฉดสี ไม่งั้นจะแอบเยอะเกินไปค่ะ
มุมนี้สามารถเป็นไอเดียสำหรับใครที่มีของเยอะ ก็สามารถทำบิลท์อินเป็น Shelf สูงเต็มผนังแบบนี้ได้ แล้วโทนสีโดยรวมก็ดูโอเคค่ะ