ABOUT HER
ญารินดา บุญนาค (นินา) : เรียกว่าเก่งไปทุกด้านทั้งศาสตร์และศิลป์ สำหรับสาวสวยมากความสามารถที่เราได้เห็นเธอมาแล้วในหลากหลายบทบาท ทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดง พิธีกร และในวันนี้กับบทบาท “สถาปนิก” หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก...ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง รับเหรียญรางวัลจากสถาบันสถาปนิกอเมริกัน และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปัจจุบันยังเป็นอาจารย์พิเศษ หลักสูตรอินเตอร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย
ฝีไม้ลายมือในงานสถาปัตย์ของเธอมีรางวัลจากเวทีโลกเป็นเครื่องการันตีให้เป็นที่ประจักษ์หลายรางวัล โดยล่าสุดปลายปีที่แล้ว ผลงานออกแบบ Krahm Restaurant ก็คว้ารางวัลรองชนะเลิศในหมวด Future Projects: Leisure Led Development จากเวที World Architecture Festival ที่จัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และวันนี้ คุณญารินดา ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารและ Co-Founder บริษัท Imaginary Objects (IO) บริษัทออกแบบตกแต่งซึ่งนับเป็นบริษัทน้องของ Hypothesis บริษัทออกแบบอันดับต้นๆ ของเมืองไทยซึ่งเธอเคยดำรงตำแหน่งเป็น Design Director มานานกว่า 4 ปี
“เรื่องงานเพลงพักไปเลยค่ะเพราะแบ่งเวลาไม่ได้ ตอนนี้เป็นทั้งคุณแม่และก็ต้องดูแลบริษัทที่เพิ่งตั้งใหม่ด้วย เปิดกับพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันสมัยเรียนที่คอร์เนลล์ เขาเคยทำงานอยู่ OMA (บริษัทสถาปัตย์ชื่อดังของโลก) ที่ฮ่องกง แล้วเขาเพิ่งออกมา ตอนนี้เราเลยทดลองทำงานกันเป็นระบบ Decentralized office คือ มีส่วนหนึ่งอยู่ที่เมืองไทยและอีกส่วนอยู่ที่ฮ่องกง เพื่อที่จะร่วมทำงานไปด้วยกันและสร้างโอกาสรับงานในต่างประเทศด้วย โดยพื้นฐานของ IO เรายังคงทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมในทุกสเกลตั้งแต่ Masterplanning ไปจนเฟอร์นิเจอร์เลย สิ่งที่เราเน้นคือ เรื่อง Experience ของคนที่ใช้และคนที่อยู่เป็นหลัก”
“หลายๆ ครั้งที่อาคารส่วนใหญ่จะถูกจัดวางพื้นที่ด้วยฟังก์ชั่นหรือด้วยสไตล์ เดี๋ยวนี้งานสถาปัตย์ต่างๆ มันจะเป็น diagram คนจะเอาฟังก์ชั่นมาจับแพะชนแกะก็ออกมาเป็นตึก แต่เรารู้สึกว่าความพิเศษของตึกหรือ space ทั้งหลายมันอยู่ในประสบการณ์ที่ไม่ใช่แค่ตามองเห็น แต่มันคือทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแสงธรรมชาติ เสียง กลิ่น วัสดุที่จับต้องได้ ความหนาแน่นของพื้นที่ สัดส่วนต่างๆ เราจึงมองว่าเราน่าจะเอา “คนที่อยู่ในนั้น” เป็นตัวตั้ง มันคือ Form Follows Experience ถ้าเราไปอยู่ตรงนั้น สิ่งแรกที่จะเจอคืออะไร สิ่งที่สองสามสี่ที่จะเจอคืออะไร งานสถาปัตยกรรมมันควรจะเล่าเรื่องได้ มันเหมือนหนังเรื่องนึง”
การออกแบบที่ตั้งต้นจาก “ประสบการณ์ของผู้อยู่อาศัย” มันอาจเป็นการตั้งโจทย์ที่กลับกัน คือ คนทั่วไปอาจมองว่าบ้านทุกบ้านต้องมีเตียง โซฟา ครัว ฯลฯ แต่ถามว่าแต่ละคนมีกิจวัตรประจำวันที่เหมือนกันไหม? บางคนชอบตื่นด้วยแสงอาทิตย์ บางคนชอบห้องนอนที่มืดสนิท บางคนชอบดูทีวีบนเตียง แต่บางคนชอบดูทีวีบนโซฟา กินข้าวบนโซฟา หรือทำงานที่โต๊ะกินข้าว คือกิจกรรมของมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะออกแบบบ้านของตัวเอง เราควรต้องตั้งคำถามกับตัวเองดีๆ ว่าจริงๆ แล้ว เราเป็นคนยังไง กิจวัตรประจำวันเป็นยังไง เราใช้เวลาอยู่บนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นไหนมากที่สุด ใช้เวลาอยู่ในห้องไหนมากที่สุด พอเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะรู้แล้วว่าบ้านแบบไหนที่เราจะอยู่สบาย และมันจะเป็นตัวชี้นำที่ชัดเจนกว่าที่จะคิดฟังก์ชั่นคร่าวๆ แค่ว่าสองห้องนอนสองห้องน้ำ
“งานสถาปัตย์ มันมีความสนุกตรงที่ต้องคิดคอนเซ็ปต์ ช่วยกันระดมสมองในทีม ตอนนั้นไอเดียมันจะฟุ้งมากเลย เพราะมันยังไม่ถูกจำกัดด้วยงบประมาณหรือด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย และหลังจากที่งานเสร็จ อาคารถูกเข้าใช้งาน มันก็เป็นความชื่นใจและตื่นเต้น ที่เราได้เห็นสิ่งที่เคยอยู่บนกระดาษ กลายเป็นรูปเป็นร่างและจับต้องได้...ทุกโปรเจค คือ Learning พอทำเสร็จเราจะรู้สึกว่า เราน่าจะทำมันได้ดีกว่านี้ ทุกโปรเจคทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องทำให้ได้ดีขึ้น”
- ก่อนจะแต่งบ้าน น่าจะเริ่มจากการตั้งคำถาม เพื่อให้ “เข้าใจตัวเองและคนในบ้าน” ให้มากที่สุด จดเป็นรายการออกมาก่อนว่า คุณชอบอะไรแบบไหน ชอบอะไรสูง-เตี้ย ชอบอะไรใหญ่-เล็ก ชอบอะไรสว่าง-มืด แล้วค่อยไปเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์
- ในส่วนของสิ่งที่เป็นถาวร เช่น บิลท์อิน ผนัง และพื้นน่าจะแต่งให้เรียบๆ ง่ายๆ ไว้ดีกว่า เพราะตัวฟังก์ชั่นในแต่ละห้องมันอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ถ้าเราไปทำบิลท์อินเยอะ แป๊บเดียวมันก็เก่า ก็เชย มันจะเปลี่ยนยาก
- ส่วนตัวไม่ได้เลี้ยงลูกเหมือนไข่ในหิน จึงไม่เคยออกแบบ space เพื่อเอื้อให้ลูกอยู่โดยเฉพาะ ไม่เคยเอา playpen อันใหญ่ๆ มาใส่ในห้อง ไม่เคยเอาอะไรไปแปะไว้ที่มุมโต๊ะกันลูกวิ่งชน คือเรารู้สึกว่าถ้าลูกชนเขาก็เจ็บ เขาจะจำและเรียนรู้ ถ้าเขาทำอะไรที่เรารู้สึกว่าเป็นอันตราย ก็บอกให้เขาระวัง ซึ่งก็ทำให้ลูกหัดที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมของผู้ใหญ่ได้
- สิ่งที่อาจจะทำไม่เหมือนคนอื่นในการจัดที่นอนลูกคือ ในห้องของลูก เราไม่ได้ใช้เตียงเด็ก แต่จะเป็นฟูกแบบ queen size เผื่อเขากลิ้งตกเตียงก็จะได้ไม่เจ็บและเราก็สามารถไปนอนเล่นกับเขาได้ และทุกอย่างในห้องลูกจะอยู่ในระดับที่เขาหยิบถึง ไม่มีอะไรสูง และไม่มีอะไรที่เขาจะปีนขึ้นไปแล้วตกลงมาเจ็บ
- ส่วนตัวชอบพื้นที่แบบ open space เพราะมันให้ความรู้สึกโล่งสบาย และทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวได้แบบ connect กัน เช่น พื้นที่ห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าว ห้องครัวที่เปิดเชื่อมถึงกันหมด ไม่ว่าสมาชิกแต่ละคนจะอยู่ตรงส่วนไหนก็สามารถมองเห็นกันและสนทนากันได้
Favorite Corners in SB Design Square
จัดมุมทำงานให้ได้รับแสงธรรมชาติ สร้างความรู้สึกโปร่งสบายตา จากร้าน Cliche Home
มุมนั่งชิลล์ ดีไซน์เท่ จากร้าน Cliche Home