2018 Week21 : เอกภาพ ดวงแก้ว

2018week21
21 พฤษภาคม 2018
2018 Week21 : เอกภาพ ดวงแก้ว

ABOUT HIM

เอกภาพ ดวงแก้ว (หนึ่ง) : เพราะเชื่อว่า “สถาปัตยกรรม” นั้น ก่อกำเนิดจากการผสมผสานที่สมบูรณ์แบบระหว่างสุนทรียศาสตร์และฟังก์ชั่นการใช้งาน ซึ่งต้องผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยง เงื่อนไขและบริบทที่แตกต่างในทุกมิติของแต่ละพื้นที่...ธรรมชาติ สังคม วัฒนธรรม พฤติกรรม รสนิยม และห้วงเวลาแห่งยุคสมัยล้วนถูกสะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม  “งานของผมจึงไม่ใช่แค่การออกแบบอาคารหรืองานตกแต่งภายใน แต่คือ “การสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัย” นี่คือทรรศนะของสถาปนิกหนุ่ม ผู้ก่อตั้ง EKAR Architects บริษัทออกแบบที่ได้รับรางวัลมากมายในเวทีโลกและล่าสุดกับการคว้ารางวัล The 40 Under 40 Awards 2018 จาก Perspective Magazine นิตยสารชั้นนำด้านสถาปัตยกรรมและดีไซน์

“ในฐานะที่เป็นสถาปนิก เวลาผมทำงาน interior ผมจะพยายามออกแบบสถาปัตยกรรมภายในมากกว่าการออกแบบตกแต่งภายใน  สถาปัตยกรรมภายใน เป็นเรื่องของการออกแบบพื้นที่ว่าง ให้ส่งผลกับความรู้สึกในการอยู่อาศัยและการใช้งาน  ผมจะถอดเรื่องของการตกแต่งประดับประดาออกไปค่อนข้างเยอะ แต่เน้นไปที่การออกแบบบรรยากาศมากกว่า โดยผสมผสานเรื่อง Exterior, Interior, Landscape เข้าไว้ด้วยกัน และสิ่งที่จะช่วยในการออกแบบบรรยากาศ คือเรื่องของวัสดุโดยรอบและสัมผัสของมัน รวมถึงแสงต่างๆ ไม่ว่าจะแสงธรรมชาติหรือแสงที่เราสร้างขึ้นมา เช่น แสงมืด แสงสว่าง แสงสลัว แสงเหลือง แสงขาว”

“วัสดุต่างๆ ที่จะไปปรากฏอยู่ในงานโครงสร้าง พื้น ฝ้า ผนัง ไฟ เฟอร์นิเจอร์ ล้วนให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าตัวเราไปอยู่ใกล้กับวัสดุที่เป็นไม้เราก็จะรู้สึกอบอุ่น ถ้าไปใกล้กับวัสดุที่มีผิวสัมผัสมันวาว เราก็จะรู้สึกพิเศษดูหรูหรา หรือถ้าไปอยู่ใกล้กับวัสดุกระจกทั้งหมด เราอาจรู้สึกว่าที่นี่เป็นสำนักงานมั้ง”  

การออกแบบเพื่อสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัย เริ่มตั้งแต่ flow ในการเดินเข้าบ้าน ตั้งแต่จอดรถแล้วเห็นประตูบ้านมันจะคนละความรู้สึกกับจอดรถแล้วไม่เห็นประตู คือพอจอดรถแล้วเห็น เพื่อนที่มาหาก็จะรู้ว่าต้องไปตรงนั้น แต่ถ้าจอดรถแล้วไม่เห็น เพื่อนก็ไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อ ไปเจออะไรต่อ แค่นี้ก็ให้ความรู้สึกต่างกันแล้ว...เหมือนกับเวลาเราดูหนัง จะเห็นว่าเขามีการกำกับและการลำดับเรื่อง มันมีจังหวะจะโคนของมันอยู่ ทำไมต้องเปิดเรื่องแบบนี้ ลำดับเรื่องแบบนั้น เพื่อไป shock คนดูตรงโน้น การออกแบบภาพรวมของความรู้สึกในการอยู่อาศัยก็เหมือนกัน การเดินเข้าบ้านก็เหมือน intro มันสำคัญตั้งแต่ประตูทางเข้า !!

ผมเชื่อว่า “สถาปัตยกรรม” มันเปลี่ยนอะไรๆ ได้ มันเปลี่ยนชีวิตคนได้ เปลี่ยนสังคมได้...เคยไหม? ที่คุณเดินเข้าไปในห้องโถงที่ไหนสักแห่ง แล้วรู้สึกอยากทำตัวเรียบร้อยหน่อย อยากเดินช้าๆ ไม่ตะโกนเสียงดังให้รบกวนคนอื่น...มันเป็นเรื่องของการออกแบบ space ทั้งนั้นที่ส่งผลกับพฤติกรรม และตอนนี้ผมกำลังพยายามหาและสร้างคุณค่าที่มากกว่านั้น ผมเรียกมันว่า The other own place คือ ที่ของตัวเอง(แต่)เพื่อคนอื่น จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะออกแบบบ้านของเรา โดยที่มันสามารถส่งผ่านคุณประโยชน์ต่อคนรอบข้าง (เพื่อนบ้านของคุณ) และสังคมได้ด้วย ผมพยายามเพิ่มแนวคิดนี้ใส่เข้าไปในทุกๆ งานออกแบบด้วย ผมเชื่อว่าถ้าเราเพียรทำแบบนี้ไปทุกๆ งาน มันจะต้องส่งผลเชิงบวกต่ออะไรบางอย่างในสังคมของเราได้แน่นอน

  • เรื่องแต่งบ้าน ผมอยากบอกว่า “อย่าประหยัด” เพราะบ้าน คือ สิ่งที่สร้างชีวิต”... เวลาคุณซื้อกระเป๋า ซื้อเสื้อผ้า คุณจะอยู่กับมันกี่เดือน? กี่ปี?  แล้ว “บ้าน” คุณคิดว่าจะอยู่กี่ปี? บ้านเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับคุณไปอีก 20-30 ปี  มันจึงเป็นสิ่งที่คุณควรต้องลงทุน

 

  • การจัด Space ในบ้าน มีผลต่อ “ระยะห่าง” ระหว่างสามีภรรยา เช่น การจัดห้องทำงาน  ถ้าคุณอยากให้แฟนของคุณเป็นคนเปิดเผย  แนะนำว่าอย่าจัดห้องทำงานที่เป็นกิจจะลักษณะคือแบบที่กั้นแบ่งพื้นที่ชัดเจนและเป็นห้องปิด เพราะจะสร้างความรู้สึกของการแบ่งแยกอาณาเขต หรือการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของอีกฝ่าย หรือเมื่อเกิดขัดใจกันก็อาจเกิดการปลีกหนีไปซ่อนตัวอยู่แต่ใน comfort zone ของตัวเอง  แนะนำให้จัดมุมทำงานแบบเปิดเผย อยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและเข้าถึงกันได้ง่าย ทั้งในแง่ของพื้นที่และปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

 

  • คนที่ชอบปลูกต้นไม้ในบ้าน ไม่ต้องกังวลเรื่อง “รากต้นไม้ทำลายบ้าน” เพราะเรามีวิธีมากมายที่จะจัดการกับเรื่องนี้ เช่น หล่อคอนกรีตแบบสระว่ายน้ำฝังลึกลงไปจากผิวดิน เพื่อเป็นกระบะให้ต้นไม้อยู่ข้างใน , เลือกต้นไม้ที่โตแล้วมาลง, อย่าเลือกต้นไม้ที่รากแข็งแรง

 

  •  “แสงธรรมชาติ” เป็นแสงที่ไม่ประดิษฐ์ เป็นแสงที่เราจะรู้สึกสบายที่สุด  ดังนั้น เวลาออกแบบบ้านผมจะเน้นให้บ้านได้รับแสงธรรมชาติมากที่สุด

Favorite items

Favorite Corners in SB Design Square

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex